WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ความก้าวหน้ามาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561 - 2570

GOVนโยบายความก้าวหน้ามาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561 - 2570

      คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 และรับทราบการเตรียมการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่อื่นที่เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการ ติดตาม และรายงานผลการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป

 

สาระสำคัญ

       กระทรวงอุตสาหกรรม ขอรายงานความก้าวหน้ามาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561 – 2570 โดยมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

                1. ผลการดำเนินการภายใต้มาตรการฯ ประกอบด้วย

                1.1 มาตรการขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน มีการดำเนินการ ดังนี้

      1) กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

      2) กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อให้สามารถต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานเดิม ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ได้พิจารณาร่างดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว โดยจะนำร่างประกาศฯ ที่พิจารณาแล้วเสร็จเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

      3) กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มบัญชีประเภทกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแยกอุตสาหกรรมชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ซึ่งได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

      4) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมหรือพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการผังเมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับมาตรการฯ โดยคำนึงถึงศักยภาพและความเหมาะสมของพื้นที่ด้านผังเมืองเป็นสำคัญ

                1.2 มาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ ในเขตพื้นที่นำร่อง 3 เขต ดังนี้

       1) เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2560-2564 เกิดมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,740 ล้านบาท ประกอบด้วย

                (1) โครงการผลิตน้ำยาล้างไต มูลค่าการลงทุน 2,240 ล้านบาท เปิดดำเนินการผลิตแล้ว โดยบริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง

                (2) โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพ มูลค่าการลงทุน 3,500 ล้านบาท เปิดดำเนินการผลิต Poly Lactic Acid (PLA) แล้ว ขนาดกำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี โดยการร่วมทุนระหว่าง บริษัท โททาล จำกัด และ บริษัท คอร์เบียน พูแลค (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมเอเซีย จังหวัดระยอง

                (3) โครงการ Palm Biocomplex มูลค่าการลงทุน 4,000 ล้านบาท เริ่มต้น Phase 1 โดยสร้างโรงหีบน้ำมันและทำการผลิตเมทิลเอสเทอร์จากน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองเดินเครื่องจักร และมีแผนจะผลิตผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากการสกัดสารตั้งต้นใน Phase 1 ต่อยอดไปสู่ Phase 2 เช่น Specialties, Surfactants, วิตามิน E ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท โกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC และกลุ่มบริษัท ไทยอีสเทิร์น ตั้งอยู่ที่ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี

       2) เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (จังหวัดนครสวรรค์และกำแพงเพชร) ดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2560-2569 เกิดมูลค่าการลงทุนในโครงการ Biorefinery Complex จำนวน 41,000 ล้านบาท (ปี พ.ศ. 2561-2564) ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยแบ่งการลงทุนเป็น Phase 1 จะทำการผลิตเอทานอล โรงไฟฟ้า และปรับพื้นที่โครงการเพื่อรองรับการลงทุนใน Phase 2 ประกอบด้วย โครงการผลิต Poly Lactic Acid, Bio-succinic Acid (BSA) Bio -1,4-Butanediol, Furfural และ Lactic Acid สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ขณะนี้อยู่ระหว่างรอร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อดำเนินการ ขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานต่อไป

       3) เขตพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง (จังหวัดขอนแก่น) ขณะนี้นักลงทุนได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินแล้วร้อยละ 90 ซึ่งคาดว่าภาพในปี พ.ศ. 2564 จะมีมูลค่าการลงทุน 29,735 ล้านบาท

      1.3 มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ เป็นกลไกสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยในระยะแรกจะเป็นการกระตุ้นตลาดภายใน สร้างการรับรู้ให้ผู้ใช้ และสร้างทักษะให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการตลาดภายในประเทศ และยังตอบสนองกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจสีเขียวที่เริ่มเป็นกติกาสากล ซึ่งมีผลการดำเนินการสำคัญ ดังนี้

      1) กระทรวงการคลัง โดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับกรมสรรพากร อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำเสนอมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ แก้วพลาสติก จาน/ชาม/ถาดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ช้อน/ส้อม/มีดพลาสติก และหลอดกาแฟ ซึ่งจะกำหนดให้ผู้ใช้ที่เป็นนิติบุคคล สามารถนำรายจ่ายไปหักค่าลดหย่อนภาษีได้ ภายในระยะเวลา 3 รอบบัญชี

      2) กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันพลาสติก รณรงค์/ให้ความรู้และสร้างกระแสให้ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยจัดกิจกรรม ดังนี้

    (1) กิจกรรม Bio-Corner ในหัวข้อสัมมนาเรื่อง ‘การประยุกต์ใช้นวัตกรรมฐานชีวภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี : Application of Innovative Biomaterials for Better Life’ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2561 และจัดแสดงผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เพื่อสร้างการรับรู้ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2-5 สิงหาคม 2561 ภายในงาน Thailand Industry Expo 2018

      (2) กิจกรรม Bio-Tourism ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ Bioplastic ในสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้แก่ ตลาดน้ำตกกวางโจว อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี พร้อมมอบจาน/ช้อน/ส้อม ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพ จำนวน 5,000 ชุด ให้นายอำเภอเพื่อใช้ในงานต่อไป

      3) กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชีวภาพ จำนวน 2 เรื่อง คือ ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสลายตัวได้ เล่ม 1 : โพลิแลคติกแอซิด (PLA) และเชื้อเพลิงชีวมวลแข็ง นอกจากนี้มีการจัดประชุมสัมมนาระหว่างวันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อทบทวนมาตรฐานเดิม 1 รายการคือ มอก. 17088-2555 ข้อกำหนดพลาสติกสลายตัวได้ และพิจารณาการจัดทำร่างมาตรฐานใหม่ 5 รายการ ได้แก่ ถุงหูหิ้วสลายตัวได้ ถุงกล้าเพาะชำสลายตัวได้ ฟิล์มคลุมดินสลายตัวได้สำหรับงานเกษตรกรรม อีพ๊อกซี่เรซิ่นชีวฐาน และวัสดุทดแทนไม้พลาสติกผสมชีวมวล

       1.4 มาตรการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ (Center of Bio Excellence: CoBE) โดยให้สถาบันพลาสติก เป็นหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยง เตรียมความพร้อม และบริหารงานวิจัย/เทคโนโลยี/นวัตกรรมด้านชีวภาพเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจชีวภาพ โดยได้ดำเนินการภายใต้ภารกิจหลัก 4 ด้าน คือ

       1) R & D สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม CoBE ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

       (1) การประชุมหารือร่วม 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันพลาสติก และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายด้านงานวิจัยชีวภาพ ซึ่ง TCELS รับเป็นหน่วยงานดำเนินการด้านงานวิจัย Bio Pharmaceuticals เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายกับ CoBE

      (2) การประชุมหารือร่วม 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันพลาสติก และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายด้านงานวิจัยชีวภาพ และร่วมกันพิจารณาหัวข้องานวิจัยที่มีศักยภาพเพื่อยกระดับสู่เชิงพาณิชย์ โดยเบื้องต้น สถาบันพลาสติกได้จัดทำ Facebook CoBE เพื่อนำเสนอกิจกรรมด้านงานวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ และจะต่อยอดงานวิจัยที่มีศักยภาพผ่านเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขยายผล ยกระดับสู่ภาคอุตสาหกรรม

       (3) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันพลาสติกลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 เพื่อหารือเรื่องการพัฒนาเพื่อยกระดับ Palm City ตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบปาล์มน้ำมันตามโมเดลเกษตรอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเบื้องต้นสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจะประสานกับสถาบันพลาสติก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ Industry Transformation Center (ITC) เพื่อร่วมดำเนินการและสนับสนุนด้าน R&D ตามแนวทางพัฒนา Palm City ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะเป็นหน่วยงานเครือข่ายของ CoBE ในส่วนภูมิภาคต่อไป

      2) Prototype/Scale up เชื่อมโยงงานวิจัย ให้คำปรึกษา สนับสนุนเงินทุนในการยกระดับสถานประกอบการชีวภาพสู่ Factory 4.0 ผ่าน Industry Transformation Center (ITC) ได้ดำเนินการ ดังนี้

      (1) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันพลาสติก พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ Bioplastic จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ถุงซักผ้าแบบใช้แล้วทิ้ง แก้ว/ ถาดอาหาร/ ช้อนและส้อม/ ถุงขยะ แบบย่อยสลายได้

     (2) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันพลาสติก เพิ่มผลิตภาพสถานประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกสู่พลาสติกชีวภาพและพลาสติกวิศวกรรม โดยการให้คำปรึกษาแก่ SMEs จำนวน 52 กิจการ พัฒนากระบวนการผลิตพลาสติกจากเม็ดพลาสติกชีวภาพให้มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น

      3) Human Resource Development สร้างผู้ประกอบการด้าน Bio Industry สถาบันพลาสติก ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมพลาสติกสู่พลาสติกชีวภาพและพลาสติกวิศวกรรม โดยฝึกอบรมบุคลากร จำนวน 163 ราย (18 ชั่วโมง) ในหลักสูตรความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพ ข้อจำกัด และการนำไปใช้ รวมถึงเทคโนโลยีการฉีดขึ้นรูป การปรับตั้งเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

     4) Bio Intelligence Unit พัฒนาศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันพลาสติก ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จัดทำโครงการศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงข้อมูลที่สำคัญในลักษณะ Bio Innovation Linkage สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในด้านต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยีการผลิต ผลงานวิจัย/หน่วยงานวิจัย ห้องปฏิบัติการทดสอบ และกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชีวภาพและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและวางระบบบริหารจัดการข้อมูลด้านชีวภาพของประเทศไทย โดยจะขอสนับสนุนงบประมาณในปี พ.ศ. 2563 จำนวน 15 ล้านบาท

       2. ผลการดำเนินงานขยายผลมาตรการฯ เชิงพื้นที่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการขยายผล Bioeconomy ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่มีศักยภาพของประเทศตามนโยบายรัฐบาล ดังนี้

       2.1 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ) กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเชิงบูรณาการ ดังนี้

      1) กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 และจัดทำโมเดลเกษตรอุตสาหกรรมในการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบเกษตรเป็นสินค้าอุตสาหกรรม

       2) กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 เพื่อประชุมหารือหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน/การศึกษา ในการติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนกลุ่มจังหวัดให้เป็นคลัสเตอร์ต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร เพื่อยกระดับเป็น Bio Hub ตามนโยบายรัฐบาล และได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัด (กรอ. กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2) เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 นอกจากนี้ได้จัดประชุมหารือหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นระยะ เพื่อให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ทั้งในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม อาทิ ต้นแบบระบบควบคุมเกษตรอัจฉริยะหรือ Real Time Monitoring และแขนกล ร่วมกับ สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) การจัดทำโครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์ของภาคเอกชนร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับความต้องการของนักลงทุนและตอบสนองความต้องการของตลาดอินทรีย์ในระยะต่อไป

       3) ผังเมืองรวมจังหวัดอุบลราชธานี ขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการแก้ไขปรับสีผังเมืองของพื้นที่โรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลหัวนา อำเภอเขมราฐ และตำบลนาดี อำเภอนาเยีย จากพื้นที่สีเขียวเป็นสีม่วงแล้ว ทำให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น อาหารทางการแพทย์ Organic Maltodextrin, Organic Sugar Syrup and Sweetener, Organic Modified Starch for Pharmaceuticals, Organic Amino Acid for animal feeds, Organic Soluble Fiber สารสกัดจากพืช ผัก และสมุนไพรอินทรีย์ ทั้งนี้ ในส่วนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ขนาดพื้นที่ 2,313 ไร่ 215 ตารางวา มูลค่าการลงทุน 2,990 ล้านบาท ในตำบลนากระแซง อำเภอเดชอุดม กำลังดำเนินการปรับผังเมืองจากพื้นที่สีเขียวเป็นสีม่วง โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมโยธาธิการและผังเมือง

       4) ภาคเอกชน ได้แก่ กลุ่มบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด ได้นำร่องการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทานในพื้นที่ตามหลัก ตลาดนำการผลิต โดยมีแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวเคมีอินทรีย์ (Organic Biochemicals) ระยะ 10 ปี ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การส่งเสริมการปลูกพืชอินทรีย์ตามความต้องการของตลาด การร่วมมือกับภาครัฐในการถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ให้แก่เกษตรกร การตรวจรับรองโดยผู้ตรวจสอบตามมาตรฐานระดับสากล และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วโลกที่รักสุขภาพและต้องการอาหารปลอดภัย

     2.2 ผลักดันโครงการลงทุนจัดตั้ง Bio Hub ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศเพิ่มเติม ได้แก่

     1) จังหวัดฉะเชิงเทรา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์มาตรการฯ และประสานงานกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อร่วมผลักดันโครงการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ EEC ของภาคเอกชน จำนวน 2 โครงการ เพื่อประกาศเขตส่งเสริมฯ โครงการลงทุนในพื้นที่และปรับสีของผังเมืองให้เหมาะสม ขณะนี้ภาคเอกชนได้ยื่นรายงานการศึกษาต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกแล้ว อยู่ระหว่างรอนำเรื่องเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่ออนุมัติต่อไป ประกอบด้วย

     (1) โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูโอลิโอเทค ซิตี้ ขนาด 998 ไร่ มูลค่าการลงทุน 12,500 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง โดย บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) มีแผนการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ที่เป็นอุตสาหกรรมนวัตกรรมใหม่ ได้แก่ นอร์มอลพาราฟิน (Normal Paraffin) สารเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material: PCM) ไฮโดรเจน (H2 Generation) ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันปาล์มดิบ (CPO Preparation) ไบโอดีเซลและกลีเซอรีน (B100+Glycerin) สารโพรเพนไดออล (Propanediol Product) และไตรอะซิติน (Triacetin Product)

     (2) โครงการไบโอ ฮับ เอเซีย ขนาด 3,500 ไร่ มูลค่าการลงทุน 50,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม โดย บริษัท อิมเพรส เทคโนโลยี จำกัด มีแผนการลงทุนผลิต Bio Energy, Bio Refinery, Pharmaceutical & Cosmetics, Food & Feed for future, Social Enterprise and Tourism, R&D Innovation Center รวมถึงการพัฒนาระบบ BioMatlink ในการรวบรวมมันสำปะหลังจากเกษตรกร ผ่านศูนย์รวบรวมรับซื้อ ตรวจสอบคุณภาพ แปรรูป เก็บสต๊อก และกระจายสินค้า

       2) จังหวัดลพบุรี ภาคเอกชนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรเสนอแผนการลงทุนโครงการลพบุรี ไบโอคอมเพล็กซ์ ขนาด 2,500 ไร่ มูลค่าการลงทุน 32,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองเมือง ตำบลดอนดึง อำเภอบ้านหมี่ โดย บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชาวไร่ จำกัด มีแผนการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงด้านการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและพลังงานทดแทน ได้แก่ เอทานอลจากน้ำอ้อย เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ และสารเคมีชีวภาพ เช่น กรดแลกติก ยีสต์และเอนไซม์ต่าง ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการจัดการเกษตรขั้นสูง เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรโดยสนับสนุนหลักการเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farm)

3. การดำเนินงานในระยะต่อไป

      1) กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 จะเร่งดำเนินการในแต่ละมาตรการฯ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

       2) ประชาสัมพันธ์มาตรการดังกล่าว เพื่อให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่มีศักยภาพของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการผลักดันโครงการลงทุนของภาคเอกชนในการจัดตั้ง Bio Hub ในพื้นที่ใหม่ ๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้เกิดรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) กลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในอนาคต (New S-Curve) ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป

      3) ผลักดันการขยายผลมาตรการฯ เชิงพื้นที่ ในโครงการลงทุน Bio Hub ตามความพร้อมของภาคเอกชนในจังหวัดฉะเชิงเทรา อุบลราชธานี และลพบุรี เพิ่มเติม จากพื้นที่นำร่องเดิมในเขต EEC เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์และกำแพงเพชร) และเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (ขอนแก่น) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและภูมิภาคดำเนินการตามระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน เพื่อให้เกิดทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 ต่อไป

         ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 เมษายน 2562 

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90

banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!