มาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยในจังหวัดสตูล
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 14 August 2019 13:12
- Hits: 2559
มาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยในจังหวัดสตูล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยในจังหวัดสตูลไปถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกันกับมาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยในภาคใต้ และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) นำมาตรการนี้ไปใช้บังคับในการจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยอนุโลมตามที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) มีมติในการประชุม กวพ. ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยในภาคใต้ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 สิงหาคม 2560) นั้น ต่อมา สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอให้พิจารณาความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากเหตุอุทกภัยในภาคใต้เพิ่มเติม โดยเฉพาะจังหวัดสตูล ที่มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินด้วยเหตุอุทกภัยและได้รับผลกระทบทางอ้อมอันเป็นเหตุทำให้งานตามสัญญาในช่วงเวลาดังกล่าวต้องหยุดชะงักลง และเป็นเหตุทำให้ผู้ประกอบการส่งมอบงานล่าช้ากว่าแผน ดังนั้น จังหวัดสูตลจึงเข้าเงื่อนการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากเหตุอุทกภัยดังกล่าวข้างต้นด้วย แต่ไม่ได้ถูกระบุให้เป็นจังหวัดที่ได้รับความช่วยเหลือทางอ้อมจากมาตรการดังกล่าว
2. ในการประชุม กวพ. ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 กวพ. ได้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการก่อสร้างอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยในภาคใต้ข้างต้นแล้ว มีมติเห็นควรให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 ดังนี้
หัวข้อ / รายละเอียด
ผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือ
เป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในพื้นที่ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสตูล
เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการสร้างเท่านั้น
ผู้ประกอบการก่อสร้างที่มีสิทธิได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลาก่อสร้างต้องเป็นผู้รับจ้างที่ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยบังคับใช้กับ (1) สัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้ลงนามกับทางราชการก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2559 หรือ (2) สัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้ลงนามไว้กับทางราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 จนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งยังมีนิติสัมพันธ์อยู่และยังมิได้มีการส่งมอบงานงวด สุดท้ายหรือ (3) สัญญาดังกล่าวยังมีนิติสัมพันธ์อยู่แต่ได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายในช่วงระยะเวลาที่เกิดอุทกภัย (ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงวันที่ 12 ภุมภาพันธ์ 2560)
แนวทางการให้ความช่วยเหลือ
ให้หน่วยงานขยายระยะเวลาของสัญญาจ้างก่อสร้างที่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือออกไปอีก จำนวน 70 วัน
แนวปฏิบัติ
กรณี สัญญาจ้างก่อสร้างได้ดำเนินการล่วงเลยกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จตามสัญญาและได้ถูกปรับไว้ในช่วงก่อนหน้าวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ยังคงเป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างที่ต้องรับผิดชอบในส่วนของค่าปรับในช่วงก่อนหน้าที่จะได้รับการช่วยเหลือฯ แต่จะได้รับการลดหรืองดค่าปรับเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการนี้เท่านั้น
กรณี สัญญาจ้างก่อสร้างที่ยังอยู่ภายในระยะเวลาตามสัญญา ให้ขยายระยะเวลาโดย นับถัดจากวันสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาเดิม
ผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือต่อหน่วยงานคู่สัญญาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ
กรณี คู่สัญญาใดเห็นว่า การได้รับความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้วยังไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ หากหน่วยงานพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุผลสมควรที่จะได้รับการขยายระยะเวลา ก็ให้เสนอต่อ กวพ. เพื่อพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป
กรณี สัญญาจ้างก่อสร้างที่รับความช่วยเหลือฯ มีการจ้างเอกชนควบคุมงานค่าจ้างควบคุมงาน และหรือค่าจ้างที่ปรึกษา ให้ผู้รับจ้างเป็นผู้รับภาระค่าจ้างควบคุมงานและหรือค่าจ้างที่ปรึกษาสำหรับระยะเวลาที่ได้ขยายออกไป เนื่องจากผู้รับจ้างได้รับประโยชน์จากการได้รับการขยายระยะเวลาดังกล่าวแล้ว
กรณี ที่เข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว หากการขยายระยะเวลาออกไปมีผลทำให้ผู้รับจ้างไม่ถูกปรับ ก็ให้งด ลดค่าปรับ หรือคืนเงินค่าปรับ ตามความเป็นจริงแล้วแต่กรณีให้ กวพ. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมีอำนาจหน้าที่ในการตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือดังกล่าว
เพื่อความเป็นธรรมในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการก่อสร้างในภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและมีมติให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ถือปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน มอบหมายให้ มท. นำมาตรการนี้ไปใช้บังคับกับ อปท. โดยอนุโลม
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 เมษายน 2562
Click Donate Support Web