การเสนอร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย องค์กรลูกจ้าง องค์กรนายจ้างและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 16 April 2019 20:10
- Hits: 1999
การเสนอร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย องค์กรลูกจ้าง องค์กรนายจ้างและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ
เรื่อง การเสนอร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย องค์กรลูกจ้าง องค์กรนายจ้างและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เรื่อง แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย พ.ศ. 2562 – 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย องค์กรลูกจ้าง องค์กรนายจ้าง และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เรื่อง แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย พ.ศ. 2562 – 2564 และร่างแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย พ.ศ. 2562 – 2564 โดยหากจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าว โดยไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงแรงงานดำเนินการได้โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง
พร้อมทั้งเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย องค์กรลูกจ้าง องค์กรนายจ้างและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เรื่อง แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย พ.ศ. 2562 – 2564 ในฐานะรัฐบาลไทย ร่วมกับผู้แทนองค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และ ILO และเห็นชอบให้กระทรวงแรงงานได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เรื่อง แนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 เรื่อง (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ตามความจำเป็นเร่งด่วนของเรื่อง ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า (Decent Work Country Program - DWCP) คือ กรอบความร่วมมือที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization -ILO) จัดทำร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศสมาชิก โดยการวางกลยุทธ์แนวทางและเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจนและสอดรับกับบริบทและวาระเร่งด่วนทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน (Promotion of Decent Work for All) ทั้งนี้ DWCP ของประเทศไทย ได้ผ่านกระบวนการหารือระหว่างไตรภาคีในประเทศไทย (กระทรวงแรงงาน ผู้แทนองค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้าง) และ ILO ประกอบด้วย ความสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ความสำคัญที่ 1 : ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของการจ้างงานที่ดีและมีประสิทธิผล ความสำคัญที่ 2 : สร้างความเข้มแข็งในการคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่เปราะบาง และความสำคัญที่ 3 : เสริมสร้างการกำกับดูแลตลาดแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ
2. ขั้นตอนสุดท้ายของการจัดทำ DWCP จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ร่วมกัน 4 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาล ผู้แทนองค์กรนายจ้าง ผู้แทนองค์กรลูกจ้าง และผู้แทน ILO เพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย DWCP โดยกระทรวงแรงงานจะจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ พร้อมทั้งเปิดตัว DWCP ในวันที่ 11 เมษายน 2562 ระหว่างการถ่ายทอดสดงานเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 100 ปี องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ของประเทศไทย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 เมษายน 2562
Click Donate Support Web