กรอบความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มธนาคารโลก พ.ศ. 2562-2562 (กค.)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 16 April 2019 17:41
- Hits: 1607
กรอบความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มธนาคารโลก พ.ศ. 2562-2562 (กค.)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอกรอบความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มธนาคารโลก พ.ศ. 2562 – 2565 (Country Partnership Framework: CPF) เพื่อกำหนดแนวความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มธนาคารโลกเป็นระยะเวลา 4 ปี ซึ่งในการจัดทำ CPF กลุ่มธนาคารโลกได้คำนึงถึงบริบทของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ร่วมกับเป้าหมายตามยุทธศาตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564)
บทสรุปจากการวิเคราะห์ศักยภาพของประเทศไทยอย่างเป็นระบบของกลุ่มธนาคารโลกและบทสรุปจากการจัดงานสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน องค์กรอิสระและหน่วยงานภาครัฐในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย โดย CPF ดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของกลุ่มธนาคารโลกแล้วเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น / สาระสำคัญ
วัตถุประสงค์
CPF ได้กำหนดขอบเขตการพัฒนาไว้ 2 ประการ ผ่าน 6 เป้าหมายย่อย ได้แก่
1. การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและการเติบโตที่ยั่งยืน (Promoting Resilient and Sustainable Growth) ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างภาคีความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกลุ่มธนาคารโลกกับประเทศไทยในการส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนและเพิ่มเงินทุนสำหรับการพัฒนาและการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดย CPF ได้กำหนดเป้าหมายย่อย 4 ด้าน ได้แก่
(1) การปรับปรุงและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ
(2) การปรับปรุงการดำเนินนโยบายภาครัฐด้านการเงินและการคลัง
(3) การเสริมสร้างคุณภาพการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และ
(4) การกำหนดมาตรการในการดูแลบริหารจัดการ และปรับปรุงทรัพยากรน้ำ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
2. การพัฒนาอย่างทั่วถึง (Strengthening Inclusion) ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างภาคีความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกลุ่มธนาคารโลกกับประเทศไทยในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างทั่วถึง อาทิ การปฏิรูประบบการศึกษา การส่งเสริมการพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และการส่งเสริมการยุติการเลือกปฏิบัติทางเพศ โดย CPF ได้กำหนดเป้าหมายย่อย 2 ด้าน ได้แก่ (1) การเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่มาตรการคุ้มครองทางสังคมและเพิ่มการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนด้อยโอกาสหรือมีความเปราะบาง และ (2) การส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับปวงชนและการบริหารจัดการที่สนับสนุนกลุ่มที่มีศักยภาพและความสามารถต่าง ๆ
การดำเนินการ
การขับเคลื่อนเป้าหมายตาม CPF จะอยู่ในรูปแบบของการจ้างกลุ่มธนาคารโลกเป็นที่ปรึกษาแบบมีค่าใช้จ่าย (Reimbursable Advisory Service: RAS) เป็นหลักเนื่องจากประเทศไทยได้ก้าวสู่ประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper Middle Income Country) และไม่มีโครงการเงินกู้กับกลุ่มธนาคารโลก โดยแผนดังกล่าวไม่ได้มีผลผูกพันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจ้างกลุ่มธนาคารโลกเป็นที่ปรึกษาในอนาคตตาม CPF แต่อย่างใด อีกทั้งในการจ้างกลุ่มธนาคารโลกเป็นที่ปรึกษาในแต่ละโครงการนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการขออนุมัติงบประมาณและความเห็นชอบตามอำนาจอนุมัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นรายกรณีไป
ซึ่งในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐมีการจ้างธนาคารโลกเป็นที่ปรึกษาในรูปแบบ RAS ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 4 โครงการ เช่น โครงการ Doing Business Reform Memorandum ของสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นต้น อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 โครงการ เช่น โครงการ Project Appraisal Guideline and Procedure Review ของ สศช. เป็นต้น และได้บรรลุข้อตกลงและอยู่ระหว่างลงนามเพื่อเริ่มดำเนินการ 3 โครงการ เช่น โครงการ Driving National Strategy for the Transformation of Thailand ของ สศช. เป็นต้น
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เน้นนวัตกรรมทั่วถึง และยั่งยืน ซึ่งกลุ่มธนาคารโลกเชื่อว่า หากสามารถดำเนินการตามแผนการพัฒนาได้เต็มประสิทธิภาพ จะสามารถช่วยยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เหนือกว่าการเติบโตในปัจจุบันที่ ร้อยละ 4 และสามารถขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศรายได้สูงและทั่วถึงได้
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 เมษายน 2562
Click Donate Support Web