แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 31 March 2019 23:10
- Hits: 1953
แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ. 2563 – 2567)
2. อนุมัติให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานกลางและมีโครงสร้างองค์กรเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ โดย สธ. เป็นหน่วยงานหลัก
3. อนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) รวบรวมความต้องการพัฒนา Genomics Thailand เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนที่เหมาะสม ให้มีอุตสาหกรรมการแพทย์ เกิดการบริการและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในไทย โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูง และมีการเพิ่มตำแหน่งงานสำหรับคนไทย
สำหรับ ค่าใช้จ่ายและภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการบูรณาการฯ ดังกล่าว วงเงิน 4,470 ล้านบาท ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดลำดับความสำคัญ ความจำเป็นเร่งด่วน ความคุ้มค่า และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ และจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงาน ว่า
1. แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ. 2563 – 2567) เป็นแผนที่เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์มาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งร้อยละ 30 ของโรคในมนุษย์เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งปัจจุบันการถอดรหัสพันธุกรรมมีต้นทุนลดลงอย่างมาก (ประมาณ 18,000 บาทต่อกัน) และมีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น การตรวจเพื่อคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมของทารกในครรภ์ การตรวจพันธุกรรมเพื่อป้องกันมะเร็ง โรคไม่ติดต่อ โรคติดเชื้อ หรือการป้องกันการแพ้ยา ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ มีเป้าหมายที่จะบูรณาการการใช้ข้อมูลพันธุกรรมในด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน ซี่งในอนาคตการแพทย์จีโนมิกส์จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างสุขภาพที่ดีของประชากรตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนกระทั่งเสียชีวิต ทั้งนี้ ในมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (Health Economics) การลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรค วินิจฉัยโรค และดูแลผู้ป่วยจะนำมาสู่การลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมาก โดย สธ. ประมาณการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้จากการให้บริการทางการแพทย์แบบจีโนมิกส์ประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี (ประเมินจากการลดอัตราการเกิด 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อ HIV โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง) รวมทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรและการให้บริการใน Medical Hub
2. ปัจจุบัน การแพทย์จีโนมิกส์มีการดำเนินการในหลายประเทศโดยมีประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการบริหารจัดการข้อมูลทางพันธุกรรม เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยการดำเนินการด้านการแพทย์จีโนมิกส์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ (SWOT Analysis) พบว่าประเทศไทยมีจุดแข็งจากความเป็นผู้นำด้าน Medical Hub มีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญและมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ประกอบกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเริ่มมีต้นทุนที่ถูกลง แต่ในขณะเดียวกันพบว่ายังมีปัญหาในการบูรณาการทำงานด้านการแพทย์จีโนมิกส์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สธ. สวรส. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วท. ศธ. สกพอ. และแพทยสภาแห่งประเทศไทย ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 เพื่อร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานวิจัยจีโนมิกส์ประเทศไทย ภายใต้คำสั่งคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งมีปลัดกระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีเป็นประธาน โดยแผนปฏิบัติการบูณณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (Genomics Thailand) ประกอยบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่
มาตรการ / รายละเอียด / หน่วยงานรับผิดชอบ
1. ด้านการวิจัยและการประยุกต์ใช้ (Research and Implementation)
กำหนดหัวข้อการวิจัยหลัก 5 หัวข้อ ได้แก่
1. โรคมะเร็ง
2. โรคที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยและโรคหายาก และโรคที่เกี่ยวกับพันธุศาสตร์มารดาและทารก
3. โรคไม่ติดต่อและการศึกษาในกลุ่มประชากรแบบระยะยาว
4. โรคติดเชื้อ
5. เภสัชพันธุศาสตร์
2. ด้านการบริการ (Service)
พัฒนามาตรฐานและคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์จีโนมิกส์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการในระบบประกันสุขภาพของไทย ซึ่งรวมถึงการจัดทำแนวทางเวชปฏิบัติและการควบคุมดูแลชุดทดสอบให้มีมาตรฐาน
3. ด้านการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล (Data Analysis and Management)
เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการคำนวณและการจัดการข้อมูล ซึ่งรวมถึงการพัฒนาบุคลากร ด้านชีวสารสนเทศ (Bioinfomaticians) การผลิตเครื่องมือทางชีวสารสนเทศเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดจั้งศูนย์ข้อมูลประมวลผลเพื่อช่วยในการตัดสินใจในการรักษาตามแนวทางของการแพทย์จีโนมิกส์
4. Ethical, Legal and Social Implications (ELSI)
เป็นการศึกษาและวางแผนการจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีการแพทย์จีโนมิกส์ เช่น ประเด็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การจัดการความเป็นส่วนตัว การรักษาความลับและความปลอดภัยของข้อมูล การจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากความก้าวหน้าในการวิจัยและพัฒนา โดยเป็นการศึกษาทั้งในด้านจริยธรรม กฎหมาย และสังคม เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย กฎหมาย หรือแนวปฏิบัติต่อไป
5. ด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากร (Human Resource Production and Development)
พัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์จีโนมิกส์จำนวน 794 คน ภายใน 5 ปี ประกอบด้วย 4 สาขา ดังนี้
1. แพทย์ด้านเวชพันธุศาสตร์ 34 คน
2. ผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ 110 คน
3. สหสาชาวิชาชีพด้านพันธุศาสตร์ ชีววิทยาระดับโมเลกุลและพยาธิวิทยาระดับโมเลกุล 150 คน
4. นักชีวสารสนเทศ (Bioinfomaticians) และนักระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ 500 คน
6. ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทย (New Industry Development)
การแพทย์จีโนมิกส์เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ (New S – Curves) ซึ่งมาตรการนี้การเป็นบูรณาการแนวโน้มความต้องการการแพทย์จีโนมิกส์ของไทย สนับสนุนให้เกิดการลงทุนหรือร่วมลงทุนจากภาคเอกชนในการจัดทำห้องปฏิบัติการมาตรฐานนานาชาติ การส่งเสริมงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพด้านการบริการด้วยระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์จีโนมิกส์
ทั้งนี้ ในคราวประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย THAILAND 4.0 ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้หลักการและแนวทางแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ. 2563 – 2567) แล้ว
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มีนาคม 2562
Click Donate Support Web