มาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562-2565)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 31 March 2019 21:01
- Hits: 1735
มาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562-2565)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562-2565) และรับทราบผลการดำเนินการตามมาตรการบริหารและพัฒนากำลังภาครัฐ (พ.ศ. 2557 – 2561) ตามที่สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ด้วยมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2557-2561) (ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมิติเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556) สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการแล้วเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ฝ่ายเลขานุการ คปร. จึงได้จัดทำมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 – 2565) เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังภาครัฐ (คปร.) มีมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าวด้วยแล้วในการประชุม คปร. ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมาตรการฯ ที่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในครั้งนี้มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการบริหารกำลังคนภาครัฐ จากมาตรการฯ ฉบับเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของส่วนราชการ ตลอดจนเพื่อให้ส่วนราชการสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผนการปฏิรูปประเทศ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ชาติ โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐที่แตกต่างจากมาตราการฯ ฉบับเดิม ใน 6 ประเด็น สรุปได้ ดังนี้
1. มาตรการบริหารจัดการกำลังภาครัฐ (พ.ศ. 2562-2565) ที่เสนอในครั้งนี้มุ่งเน้นเกี่ยวกับ'การบริหารอัตรากำลัง'เป็นหลัก ส่วนประเด็นการพัฒนากำลังคน สำนักงาน ก.พ. อยู่ระหว่างจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ (พ.ศ. 2562 – 2565) ตามแนวทางการจัดทำแผนตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานให้บรรลุผลระยะแรกตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินและทิศทางและเป้าหมายระยะยาวตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐต่อไป
2. มาตรการฯ ฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐเชิงกลยุทธ์มากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการกำลังคนเพื่อรองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีเป้าหมายว่า ภาครัฐมีกำลังคนในภาพรวมทั้งประเภทและขนาดที่เหมาะสม ตลอดจนให้ความสำคัญกับการติดตามประเมินผลการใช้กำลังคน และการนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการและวางแผนกำลังคนอีกด้วย
3. มาตรการฯ ฉบับนี้ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุ เพื่อให้การบริหารจัดการกำลังคนของส่วนราชการเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของส่วนราชการ ตลอดจนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของภาครัฐโดยได้ปรับปรุงใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
3.1 ปรับปรุงการแบ่งขนาดส่วนราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ส่วนราชการมีความหลากหลาย กล่าวคือ จากเดิมที่แบ่งขนาดส่วนราชการเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) ส่วนราชการที่มีข้าราชการไม่เกิน 1,000 อัตรา และ (2) ส่วนราชการที่มีข้าราชการเกินกว่า 1,000 อัตรา ปรับเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) ส่วนราชการขนาดเล็ก (แบ่งย่อยเป็นส่วนราชการที่มีข้าราชการไม่เกิน 300 อัตรา และส่วนราชการที่มีข้าราชการ 301 – 1,000 อัตรา) (2) ส่วนราชการขนาดกลาง (มีข้าราชการ 1,001 – 5,000 อัตรา) และ (3) ส่วนราชการขนาดใหญ่ (มีข้าราชการ 5,001 อัตรา ขึ้นไป)
3.2 เนื่องจากฝ่ายเลขานุการ คปร. ได้วิเคราะห์ข้อมูลการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุตามมาตรการฯ ฉบับเดิมแล้วพบว่า จากกรณีที่มาตรการฯ ฉบับเดิมได้กำหนดให้ส่วนราชการที่มีอัตราข้าราชการเกินกว่า 1,000 อัตรา สามารถจัดสรรอัตราว่างฯ โดยการคืนส่วนราชการเดิมได้เพียงร้อยละ 20 ของอัตราว่างฯ ทั้งหมด และอีกร้อยละ 80 ให้ อ.ก.พ. กระทรวงพิจารณาจัดสรร นั้น ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 – 2560 อ.ก.พ. กระทรวง จัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุโดยการคืนส่วนราชการเดิมเพื่อนำไปบริหารจัดการ เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 97.80 ของอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุทั้งหมดซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ส่วนราชการมีความจำเป็นต้องใช้อัตรากำลังเพื่อปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น มาตรการฯ ฉบับนี้จึงได้กำหนดให้ส่วนราชการสามารถนำอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุไปบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องได้ทันทีไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของอัตราว่างฯ ทั้งหมด (กล่าวคือกำหนดให้ส่วนราชการที่มีข้าราชการไม่เกิน 300 อัตรา จัดสรรคืนได้ทั้งหมด ร้อยละ 95 ส่วนราชการที่มีข้าราชการ 301 – 1,000 อัตรา จัดสรรคืนฯ ได้ร้อยละ 95 ส่วนราชการที่มีข้าราชการ 1,001 – 5,000 อัตรา จัดสรรคืนฯ ได้ร้อยละ 70 และส่วนราชการที่มีข้าราชการ 5,001 อัตรา ขึ้นไป จัดสรรคืนฯ ได้ร้อยละ 60) โดยไม่ต้องรอการพิจารณาจัดสรรจาก อ.ก.พ. กระทรวง เพื่อให้ส่วนราชการสามารถนำอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุไปบริหารจัดการได้อย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น
3.3 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของภาครัฐ มาตรการฯ ฉบับนี้ได้สนับสนุนการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น (พนักงานราชการ) และได้กำหนดสัดส่วนร้อยละของการทดแทนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มิได้ระบุจำนวนร้อยละของการทดแทน ปรับปรุงเป็นให้ทดแทนฯ ตามขนาดของส่วนราชการร้อยละ 5 – 15 ของอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุ (ส่วนราชการที่มีข้าราชการ 301 – 1,000 อัตรา ทดแทนฯ ร้อยละ 5 ส่วนราชการที่มีข้าราชการ 1,001 – 5,000 อัตรา ทดแทนฯ ร้อยละ 10 และส่วนราชการที่มีข้าราชการ 5,001 อัตรา ขึ้นไป ทดแทนฯ ได้ร้อยละ 15)
4. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากฝ่ายเลขานุการ คปร. พบว่า จากกรณีที่มาตรการฯ ฉบับเดิม กำหนดให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สามารถจัดสรรอัตราว่างฯ คืนตำแหน่งสถานศึกษาได้ในกรณีที่มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่า 250 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 – 2561 ก.ค.ศ. จึงไม่สามารถจัดสรรอัตราเกษียณคืนให้กับสถานศึกษาทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 250 คน รวม 11,839 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 10.50 ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบต่อการพัฒนาการเรียนการสอนของสถานศึกษาและปัญหาการขาดแคลนครู มาตรการฯ ฉบับนี้ จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์โดยกำหนดให้ ก.ค.ศ. สามารถจัดสรรอัตราว่างฯ คืนตำแหน่งในสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไปได้
5. เพิ่มหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอรับการจัดสรรอัตราตั้งใหม่ โดยมุ่งเน้นให้ส่วนราชการตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องบริหารอัตรากำลังที่มีอยู่เดิมให้เกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้ส่วนราชการที่ขอรับการจัดสรรอัตราตั้งใหม่ต้องพิจารณาเกลี่ยอัตรากำลังที่มีอยู่เดิมของส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งในและต่างกระทรวง/กรม มาปฏิบัติภารกิจในระยะแรกก่อนการจัดทำคำขอมายัง คปร.
6. กำหนดเพิ่มกลไกการติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ โดยกำหนดให้ส่วนราชการรายงานผลการบริหารอัตรากำลังข้าราชการระหว่างปีงบประมาณ ข้อมูลอัตรากำลังทุกประเภท (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีงบประมาณ) รวมถึงรายงานอื่น ๆ ตามที่มาตรการฯ กำหนด ให้ คปร. ทราบ ทุกปีงบประมาณ เพื่อที่ คปร. จะได้นำไปกำหนดมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของส่วนราชการในระยะต่อไป
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มีนาคม 2562
Click Donate Support Web