ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 31 March 2019 20:03
- Hits: 1608
ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
กษ. เสนอว่า เดิมได้มีกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ แต่เนื่องจากกฎกระทรวงดังกล่าวมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องหรือไม่ครอบคลุมข้อเท็จจริง บางประการ เช่น หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ กรณีการแก้ไขรายการใบอนุญาต หรือกรณีการโอนใบอนุญาต จึงจำเป็นต้องยกเลิกกฎกระทรวงดังกล่าว ประกอบกับการทำประมงผิดกฎหมายของประเทศไทยยังมีปัญหาและเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงขึ้นใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมการจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมงและปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืนตามที่กำหนดไว้ในแผนบริหารจัดการการประมง รวมทั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ให้ยกเลิกกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2561
2. กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีกรรมสิทธิ์ในเรือประมงที่จะทำการประมง และในกรณีที่ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเรือประมงหลายลำ ไม่ว่าจะเป็นเรือประมงไทย หรือมิใช่เรือประมงไทย ต้องแจ้งชื่อเรือประมงดังกล่าวทุกลำ พร้อมทั้งหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในเรือประมงลำนั้น ส่วนเรือประมงที่ยังไม่ จดทะเบียนเป็นเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย ต้องมีหนังสือรับรองการขอจดทะเบียนเรือประมงจากกรมประมง
3. กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถยื่นคำขอแก้ไขรายการในใบอนุญาตได้ 5 กรณี ได้แก่ (1) แก้ไขรายการให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ปรากฏในหลักฐานทางทะเบียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (2) แก้ไขรายการกรณีนำเรือประมงลำอื่นมาทดแทนเรือที่มีใบอนุญาตทำการประมง (3) แก้ไขรายการเกี่ยวกับเครื่องมือทำการประมง (4) แก้ไขรายการเกี่ยวกับพื้นที่ทำการประมง และ (5) แก้ไขรายการกรณียกสิทธิของปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับการจัดสรรในรอบปีการประมง ทั้งนี้ การแก้ไขรายการในใบอนุญาตตาม (2) (3) และ (4) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติเห็นชอบ
4. กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาการโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตสามารถนำปริมาณสัตว์น้ำของตนไปควบรวมกับปริมาณสัตว์น้ำของใบอนุญาตอื่นได้และหากมีปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือจากการควบรวมดังกล่าว ผู้รับโอนใบอนุญาตสามารถนำเอาปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือไปควบรวมกับเรือประมงลำอื่นได้อีก ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การพิจารณาดังกล่าวให้คำนึงถึงประสิทธิภาพของเครื่องมือทำการประมง พื้นที่ทำการประมง และปริมาณสัตว์น้ำของใบอนุญาตฉบับเดิม และใบอนุญาตที่จะนำมาควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ
5. กรณีผู้รับโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ ต้องดำเนินการกับเรือลำเดิมหรือเรือที่นำมาควบรวม แล้วแต่กรณี ตามที่ได้แจ้งความประสงค์ไว้ในคำขอ หากผู้ขอรับโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนผัน ให้ถือว่าการขอโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล เสมือนหนึ่งว่าไม่เคยมีการโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำมาก่อน และไม่มีสิทธิได้รับคืนใบอนุญาตฉบับเดิม และให้เพิกถอนใบอนุญาตที่ออกให้ใหม่จากการควบรวมปริมาณสัตว์น้ำนั้น ยกเว้นใบอนุญาตของบุคคลที่รับโอนเฉพาะปริมาณ สัตว์น้ำคงเหลือ ให้แก้ไขห้วงเวลาทำการประมงตามปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับจัดสรรตามใบอนุญาตฉบับเดิม
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มีนาคม 2562
Click Donate Support Web