ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 4
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 17 March 2019 21:10
- Hits: 2927
ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 4
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 4 (The fourth session of the United Nations Environment Assembly : UNEA 4)
2. อนุมัติให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทย (เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำ UN ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา) ให้การรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของ UNEA 4 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างปฏิญญาดังกล่าวที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องนำกลับไปเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่จนสิ้นสุดการประชุมในวันที่ 15 มีนาคม 2562
สาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการร่วมกันหาแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรมการเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการบริโภคให้ยั่งยืน การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดมลพิษ ในการนี้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมจะให้คำมั่นว่าจะดำเนินการร่วมกัน เช่น การพัฒนากลยุทธ์ด้านข้อมูลสิ่งแวดล้อมโลกภายในปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568) การกำหนดเป้าหมายระดับชาติที่เหมาะสมสำหรับการลดการเกิดของเสีย การยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวที่เป็นปัญหาภายในปี ค.ศ. 2025 การสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อให้เกิดแหล่งทุนสำหรับการลงทุนที่ยั่งยืน และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น ทั้งนี้ การประชุมฯ ได้กำหนดให้มีการรับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรีในช่วงการประชุมระดับสูงในวันที่ 15 มีนาคม 2562 ณ กรุงไนโรบี สารธารณรัฐเคนยา
ทั้งนี้ การเข้าร่วมประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 4 และการร่วมรับรองร่างปฏิญญาฯ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการแสดงออกถึงความร่วมมือร่วมกับประชาคมโลกและแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อขจัดมลพิษในทุกรูปแบบ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เพื่อการป้องกัน บรรเทาและการจัดการมลพิษอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังถือเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล เช่น
(1) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติและความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างกันทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างบูรณาการ และ
(2) ยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี และแผนจัดการมลพิษ พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน ลด และควบคุมมลพิษที่มีประสิทธิผล รวมทั้งสร้างหุ้นส่วนการมีส่วนร่วมในการจัดการมลพิษ โดยประเทศไทยสามารถนำบทเรียนจากการดำเนินงานดังกล่าวไปร่วมแลกเปลี่ยนกับเวทีด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกได้
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มีนาคม 2562
Click Donate Support Web