WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย -จีน ครั้งที่ 24-26 ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

GOV8 copyผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย -จีน ครั้งที่ 24-26 ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

 

       เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 24-26 ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 [คณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน (กระทรวงคมนาคม)]

     คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (คณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการฯ) เสนอ ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 24 – 26 (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนเป็นประธานร่วม) และความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

       1. ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ 24-26

 

ประเด็น / สาระสำคัญ

การดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา

     (1) ทั้งสองฝ่ายรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการประกวดราคาช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการประกวดราคาของฝ่ายไทย

     (2) ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นเรื่องงานเชื่อมประสานระหว่างงานโยธาและระบบภายในสถานีดอนเมืองและสถานีบางซื่อ โดยตกลงที่จะรวมงานเชื่อมประสานไว้ในสัญญางานก่อสร้างและองค์การออกแบบรถไฟของจีนจะส่งข้อกำหนดเฉพาะที่เกี่ยวข้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อประสานกับผู้ออกแบบต่อไป

      (3) ทั้งสองฝ่ายจะพยายามอย่างสูงสุดในการปรับเกลี่ยค่าใช้จ่ายบางรายการ (หากมี) ระหว่างสัญญา 2.3 และสัญญา 1 ให้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้นโดยเร็วที่สุด

       (4) ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าจะใช้ทางวิ่งแบบไม่ใช้หินโรยทางบริเวณสถานี อุโมงค์ต่าง ๆ และเส้นทางระหว่างสถานีบางซื่อ-ดอนเมือง ภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 โดยจะหารือความเหมาะสมของงานออกแบบรายละเอียดเกี่ยวกับทางแบบใช้หินโรยทางและไม่ใช้หินโรยทางในเส้นทางดังกล่าว รวมถึงขบวนรถ ภายหลังได้รับบัญชีปริมาณงานแล้ว

      (5) ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าเส้นทางช่วงที่ใช้หินโรยทางจะเปลี่ยนเป็นไม่ใช้หินโรยทาง และฝ่ายไทยรับทราบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

       (6) ฝ่ายจีนได้ส่งมอบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสารข้อเสนอทางเทคนิคและบัญชีปริมาณงานของสัญญา 2.3 เพื่อให้ฝ่ายไทยทบทวนข้อมูลแล้ว

       (7) ฝ่ายไทยยืนยันการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 885-890/930-935 MHz รองรับระบบ GSM-R เพื่องานปฏิบัติการเดินรถไฟ

       (8) ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในหลักการของสัญญา 2.3 และจะใช้ความพยายามอย่างสูงสุดเพื่อแก้ไขประเด็นคงค้างให้ได้โดยเร็ว

การดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย

       (1) ทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับประเด็นด้านเทคนิคของโครงการฯ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เพื่อประเมินราคางานระบบรถไฟ ฝ่ายจีนจะส่งราคาประเมินงานระบบภายใน 1 เดือน หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นด้านเทคนิคแล้ว และจะพยายามอย่างสูงสุดเพื่อเริ่มการก่อสร้างภายในปี 2562

      (2) ฝ่ายไทยจะรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดงานโยธาของโครงการระยะที่ 2 และจะพิจารณาความเหมาะสมในการที่ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ออกแบบรายละเอียดระบบไฟฟ้าและเครื่องกล

 

การเชื่อมต่อทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์

     (1) ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความจำเป็นของการเชื่อมโยงทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค

     (2) ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในหลักการเกี่ยวกับสะพานแห่งใหม่ซึ่งจะตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสะพานมิตรภาพไทย – ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์) ประมาณ 30 เมตร โดยจะมีทั้งทางรถไฟขนาดทางมาตรฐานและขนาดทาง 1 เมตร

     (3) ฝ่ายไทยเสนอให้มีจุดตรวจสำหรับพิธีการด้านศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงาน อื่น ๆ พร้อมทั้งสถานีเปลี่ยนถ่ายตั้งอยู่บริเวณชายแดนในฝั่งไทยและลาว ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบการจัดทำผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนหลังจากได้รับการยืนยันประเด็นดังกล่าวข้างต้นจากฝ่ายไทยและฝ่ายลาวแล้ว

      (4) ฝ่ายไทยเห็นชอบที่จะหารือกับฝ่ายลาวเกี่ยวกับการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟช่วงหนอคาย-เวียงจันทน์โดยเร็วที่สุด เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับสถานีเปลี่ยนถ่าย ด่านตรวจคนเข้าเมือง และยืนยันปริมาณผู้โดยสารและสินค้าของเส้นทางรถไฟเชื่อต่อหนองคาย-เวียงจันทน์

การฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านรถไฟความเร็วสูง

     (1) ฝ่ายไทยได้เสนอหัวข้อการฝึกอบรม 6 หัวข้อแก่ฝ่ายจีน ซึ่งเน้นเกี่ยวกับครูฝึกหรือผู้สอนในหลักสูตรฝึกอบรม และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมในประเทศไทยและฝ่ายไทยจะมอบหมายบุคลากรเพื่อประสานงานกับฝ่ายจีนเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร รูปแบบการเดินรถ และแผนทรัพยากรบุคคลขององค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูงของไทย

     (2) ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในหลักการว่าภายใต้สัญญา 2.3 ในส่วนของการฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี จะประกอบไปด้วย 4 หัวข้อหลัก คือ การฝึกอบรมการเดินรถและซ่อมบำรุง การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมในประเทศไทย ห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการทดสอบและการตรวจสอบและการถ่ายทอดเทคโนโลยี

      (3) ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญจีนในการให้คำปรึกษา ฝึกอบรม และพัฒนากำลังความสามารถของบุคลากร/องค์กรของไทยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบชิ้นส่วน/ผลิตภัณฑ์

               (4) ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรและจำนวนบุคลากร ประมาณ 900 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการฝึกอบรมในประเทศไทย

               (5) ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบการจัดสรรกรอบวงเงินงบประมาณในการฝึกอบรมจำนวน 920 ล้านบาท

               (6) ทั้งสองฝ่ายมอบหมายคณะทำงานร่วมเพื่อตัดสินใจในขั้นตอนการออกใบอนุญาตขับรถไฟความเร็วสูง

ความร่วมมือด้านการเงิน

               ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันในร่างสัญญาเงินกู้ รวมถึงข้อตกลง 11.1 ของร่างสัญญาเงินกู้ที่ได้เจรจากันในการประชุมครั้งที่ 24 และทั้งสองฝ่ายได้ปรับปรุงแผนการดำเนินงานด้านการเงินให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของสัญญา 2.3 โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือรายละเอียดและเงื่อนไขเงินกู้ที่ฝ่ายจีนได้เสนอและที่จะเจรจากันต่อไป

               2. ความคืบหน้าการดำเนินโครงการ

               2.1 การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้

               ช่วงที่ / ระยะทาง / ความคืบหน้า

               ช่วงที่ 1 กลางดง – ปางอโศก / 3.5 กิโลเมตร / เริ่มการก่อสร้างแล้ว ปัจจุบันมีความคืบหน้าประมาณ ร้อยละ 40

               ช่วงที่ 2 สีคิ้ว-กุดจิก / 11 กิโลเมตร / เริ่มประกวดราคาแล้ว

               ช่วงที่ 3 (5 สัญญา) / 143.85 กิโลเมตร / คาดว่าจะพิจารณาข้อเสนอการประกวดราคาและเสนอคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยภายในเดือนเมษายน 2562

               ช่วงที่ 4 ( 7สัญญา) / 90.28 กิโลเมตร / คาดว่าจะพิจารณาข้อเสนอการประกวดราคาและเสนอคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยภายในเดือนพฤษภาคม 2562

        สำหรับ การเจรจาสัญญา 2.3 ระบบรถไฟและการฝึกอบรม ฝ่ายจีนยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ได้หารือกันไว้ เนื่องจากฝ่ายจีนเห็นว่างานในสัญญา 2.3 ระบบรถไฟและการฝึกอบรมมีลักษณะเป็นงานเหมาจ่าย และงานบางส่วนจำเป็นต้องมีการประกวดราคาในประเทศจีนและทำการออกแบบรายละเอียดก่อน จึงจะสามารถส่งข้อมูลดังกล่าวให้ฝ่ายไทยได้ ซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจกับฝ่ายจีนถึงความจำเป็นของฝ่ายไทยและเร่งรัดให้ฝ่ายจีนดำเนินการต่อไป

      2.2 การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย

      2.2.1 รฟท. อยู่ระหว่างจัดทำรายงานทบทวนผลการศึกษาโครงการฯ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยกระทรวงคมนาคม (คค.) จะเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการในเดือนมีนาคม 2562

     2.2.2 รฟท. อยู่ระหว่างการดำเนินการขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาไทยเพื่อดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการฯ ระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะได้รับงบประมาณในเดือนมีนาคม 2562 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 ที่เห็นชอบให้ฝ่ายไทยรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียด โครงการฯ ระยะที่ 2

     2.3 การเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างรัฐบาลไทย ลาว และจีน

               2.3.1 ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบศึกษาความเหมาะสมของโครงการช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ และจะเจรจากับฝ่ายลาวในการอำนวยความสะดวกสำหรับการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟดังกล่าว

               2.3.2 ฝ่ายลาวเสนอให้มีจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าอยู่ที่ฝั่งไทย ทั้งนี้ จะมีการหารือสามฝ่ายระหว่างไทย ลาว และจีน ในรายละเอียดต่อไป

               2.4 การถ่ายทอดเทคโนโลยี

       2.4.1 ได้มีการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการออกแบบรายละเอียดงานโยธาตามมาตรฐานการออกแบบรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน ซึ่งจัดขึ้นโดยฝ่ายจีน จำนวน 11 หลักสูตร ระหว่างวันที่ 9 – 21 กรกฎาคม 2561 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัทเอกชน และสถาบันการศึกษา ต่าง ๆ เข้าร่วม

       2.4.2 ฝ่ายไทยจะดำเนินการวิจัยสำรวจข้อมูลความสามารถในการทดสอบและเครื่องมือทดสอบที่มีในปัจจุบันที่สามารถทดสอบผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบรางและรถไฟความเร็วสูง เพื่อขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการทดสอบ และขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้บริการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ในระบบรางและรถไฟความเร็วสูง

        2.4.3 การจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยสถาบันฯ จะดำเนินงานประสานงานในด้านต่าง ๆ จำนวน 5 ด้าน ได้แก่ การถ่ายทอดเทคโนโลยีมาตรฐานระบบราง อุตสาหกรรมระบบราง การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการทดสอบและการทดลอง โดยพิจารณาแนวทางจัดตั้งองค์กรเป็นรูปแบบองค์การมหาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.)

        2.5 การจัดตั้งองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูง

        คณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ภายใต้คณะกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ได้พิจารณาการจัดตั้งองค์กรพิเศษฯ ในรูปแบบ Asset Corporation (Asset Co.) โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และให้ รฟท. เข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้น ปัจจุบันสำนักงานบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน คค. อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดร่างขอบเขตงาน (TOR) เพื่อขอรับงบประมาณ และดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายละเอียดการจัดตั้งองค์กรพิเศษฯ เพื่อให้มีรายละเอียดครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/การร่วมทุนและกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ

       2.6 เงื่อนไขเงินกู้

      เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ฝ่ายจีน โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนได้เสนอเงื่อนไขเงินกู้ให้ฝ่ายไทย โดย กค. ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี สำหรับวงเงินกู้ไม่เกินร้อยละ 85 ของวงเงินสัญญา 2.3 งานระบบรถไฟและการฝึกอบรม โดยมีอายุเงินกู้ไม่เกิน 20 ปี ระยะเวลาปลอดหนี้ 5 ปี ฝ่ายไทยเสนออัตราดอกเบี้ยร้อย 2.6 ต่อปี ซึ่งอยู่ระหว่างฝ่ายจีนพิจารณาตอบรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว

           ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มีนาคม 2562

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90SIAM790x90

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!