(ร่าง) แนวทางดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geostationary-Satellite Orbit: GSO) ตามมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 17 March 2019 19:01
- Hits: 2129
(ร่าง) แนวทางดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geostationary-Satellite Orbit: GSO) ตามมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เรื่อง (ร่าง) แนวทางดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geostationary-Satellite Orbit: GSO) ตามมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ (ร่าง) นโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) แนวทางดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geostationary-Satellite Orbit: GSO) ตามมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
2. เห็นชอบ (ร่าง) นโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ
สาระสำคัญของเรื่อง
ดศ. รายงานว่า
1. (ร่าง) แนวทางดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geostationary-Satellite Orbit: GSO) ตามมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 ความหมายของคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมประจำที่ (Geostationary-Satellite Orbit: GSO) คลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม GSO หมายถึง ข่ายงานดาวเทียมที่ประเทศไทยมีสิทธิใช้งานโดยสมบูรณ์และได้รับการยอมรับระหว่างประเทศซึ่งเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อข่ายงานดาวเทียมได้รับการจดทะเบียน (Notification) ไว้ในทะเบียนผู้ใช้คลื่นความถี่หลักระหว่างประเทศ (MIFR) ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) แล้ว
1.2 การรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม GSO การรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม GSO หมายถึง การรักษาสิทธิของข่ายงานดาวเทียมที่ได้รับการจดทะเบียน (Notification) และผ่านการแจ้งนำดาวเทียมขึ้นใช้งาน (Bring into use) กับ ITU รวมทั้งมีการใช้งานข่ายงานดาวเทียมนั้นจริงอย่างต่อเนื่อง
1.3 วิธีการรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม GSO เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน
1.3.1 เสนอนโยบายการอนุญาตให้ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิข่ายงานดาวเทียมในนามประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการดาวเทียมของไทย โดยให้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงุทนและจะต้องกำหนดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ โดยกำหนดเป็น 2 แนวทาง ดังนี้
1) สำหรับข่ายงานดาวเทียมที่มีอยู่เดิมทั้งหมด 21 ข่ายงาน ให้นำข่ายงานดาวเทียมที่ไม่มีการใช้งานตามสัญญาสัมปทานหรือการอนุญาตอื่นใดมาจัดชุด (package) ซึ่งอาจประกอบด้วยมากกว่าหนึ่งข่ายงานดาวเทียมตามความเหมาะสมและความเป็นไปได้ทั้งในทางเทคนิคและทางธุรกิจ) และคัดเลือกผู้ประกอบการไทยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ราชการกำหนด มารับใบอนุญาตเพื่อใช้สิทธิข่ายงานดาวเทียมตามนโยบายข้างต้น
2) สำหรับข่ายงานดาวเทียมใหม่ หากมีผู้ประสงค์จะขอใช้สิทธิ สามารถทำได้โดยแจ้งความประสงค์ต่อ ดส. และเข้าสู่กระบวนการอนุญาตให้ใช้สิทธิต่อไป โดยนำหลักการมาก่อนได้ก่อน (first come, first served) มาใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาต
ทั้งนี้ กรณีดาวเทียมสื่อสารต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วย
1.4 ให้มีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตให้ผู้ประกอบการดาวเทียมสื่อสารใช้สิทธิข่ายงานดาวเทียมในนามประเทศไทย รวมทั้งค่าธรรมเนียมการอนุญาตดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขในการให้สิทธิอย่างน้อย ดังนี้
1.4.1 ส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาดาวเทียมโดยคนไทยและเทคโนโลยีของคนไทยเป็นลำดับแรก ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการและเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
1.4.2 ผู้ประกอบการดาวเทียม ผู้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมอุปกรณ์และสถานีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการใช้วงโคจรดาวเทียมของไทย จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและการกำกับดูแลของไทยทุกประการ (Exclusive Jurisdiction) และต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้านความมั่นคงของประเทศ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (data privacy protection) รวมถึงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (cyber security) หรือกฎระเบียบอื่นใดที่เหมาะสมและจำเป็นด้วย
1.4.3 สถานีควบคุมดาวเทียม หรือ Telemetry, Tracking, Command and Monitoring (TTC&M) ต้องตั้งในประทศไทย และต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและการควบคุมโดยรัฐบาลไทย
1.4.4 นำส่งแผนการขอใช้ข่ายงานดาวเทียมและแผนการดำเนินการที่แสดงให้เห็นถึงกำหนดการสั่งสร้างดาวเทียม การนำดาวเทียมขึ้นวงโคจร และการเริ่มให้บริการรวมถึงลักษณะทางเทคนิคของดาวเทียมที่จะสร้าง และรายงานผลการดำเนินงานทั้งด้านเทคนิคและธุรกิจ ตามรูปแบบและวิธีการที่กำหนด
1.4.5 วางหลักประกันการปฏิบัติตามข้อตกลง (performance bond) ต่อข่ายงานดาวเทียม
1.4.6 จ่ายค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ใช้สิทธิข่ายงานดาวเทียมในนามประเทศไทย โดยเก็บในอัตราที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้จะได้มีการกำหนดบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อรองรับต่อไป
1.4.7 รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการ เช่น ค่า cost – recovery fee ค่าดำเนินการ และค่า Admin Fee
1.4.8 ต้องจัดให้มีช่องสัญญาณสำหรับการให้บริการสาธารณประโยชน์ของรัฐ (State use and public services)
1.4.9 ผู้รับใบอนุญาตจะต้องรับผิดชอบแทนภาครัฐ (State Object) ในกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายตาม UN Treaties
1.4.10 ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องต้องประสานงานการใช้คลื่นความถี่ตามขั้นตอนและกระบวนการของ ITU กับผู้ให้บริการต่างประเทศ และประสานงานการใช้คลื่นความถี่กับผู้รับใบอนุญาตดาวเทียมในประเทศรายอื่นที่มีการให้บริการอยู่ก่อน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนการใช้คลื่นความถี่ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการใช้คลื่นความถี่ตรงกับ planned band ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้สิทธิแก่ผู้ใช้สิทธิตรงตาม planned band ก่อน
1.4.11 จัดทำประกันภัย All risks
ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังไม่ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การให้สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในฐานะรัฐ ดังนั้น ให้ ดศ. เป็นหน่วยงานที่เสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปจนกว่าร่างพระราชบัญญัติฯ จะมีผลใช้บังคับ และเมื่อร่างพระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับแล้ว ให้ กสทช. ดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
2. (ร่าง) นโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ มีสาระสำคัญดังนี้
2.1 นิยาม ดาวเทียมต่างชาติ คือ ดาวเทียมประเภทวงโคจรประจำที่ (Geostationary-Satellite Orbit: GSO) และวงโคจรไม่ประจำที่ (Non - Geostationary – Satellite Orbit: NGSO) ที่ใช้สิทธิข่ายงานดาวเทียมของประเทศอื่น
2.2 ขอบเขตของนโยบาย นโยบายนี้ใช้กับดาวเทียมสื่อสารที่อย่างน้อยต้องรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายไทย
หัวข้อ / รายละเอียด
นโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์
1. เงื่อนไขการเข้าสู่ตลาด (Market Access)
1.1 นโยบายเปิดตลาดในระดับรัฐ (State Level) ให้ผู้ประกอบการดาวเทียมสื่อสาร (GSO และ Non-GSO) ของรัฐที่มีนโยบายเปิดน่านฟ้าให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาดของรัฐนั้นโดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติกำหนดขึ้น และเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
1.2 ให้ผู้ประกอบการ (Firm Level) ของรัฐที่มีนโยบายเปิดน่านฟ้าตามข้อ 1.1 ที่ประสงค์จะประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารโดยใช้ดาวเทียมต่างชาติต้องขออนุญาตและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงาน กสทช. ประกาศกำหนด
1.3 ข้อจำกัดการเข้าสู่ตลาดของดาวเทียมต่างชาติ ประเทศไทยอาจตั้งเงื่อนไขการเข้าสู่ตลาดของดาวเทียมต่างชาติได้ด้วยเหตุผลความจำเป็นทางเศรษฐกิจ (Economic Need Test) สังคม และความมั่นคง
1.4 ผู้ประกอบการดาวเทียมตามข้อ 1.2 จะต้องจัดตั้งนิติบุคคลและมีสถานประกอบการในประเทศไทย (Local Presence) (mode3: commercial presence ภายใต้ความตกลง GATS) โดยจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
1.4.1 กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต้องมีหุ้นของคนไทยตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ห้ามการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว (Nominee) อาทิ ประกาศ กสทช. เรื่อง กำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2555
1.4.2 กิจการโทรคมนาคมต้องมีหุ้นของคนไทย ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 (แก้ไข พ.ศ. 2549) และต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ห้ามการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว (Nominee) เช่น ประกาศ กสทช. เรื่อง กำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2555
2. เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติหลังจากเข้าสู่ตลาดแล้ว
2.1 ดาวเทียมต่างชาติและผู้ประกอบการที่ใช้สิทธิการเข้าตลาดต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง
2.2 จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและการกำกับดูแลของไทยทุกประการ (Exclusive Jurisdiction) และต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้านความมั่นคงของประเทศ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (data privacy protection) รวมถึงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (cyber security) หรือกฎระเบียบอื่นใด ด้านความมั่นคงของประเทศโดยไม่ขัดกับกฎหมายที่มีอยู่เดิม หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่จะตราขึ้นในอนาคต
2.3 การกำกับดูแลเรื่องสื่อและเนื้อหา
2.3.1 ประเทศไทยมีสิทธิกำกับดูแลเรื่องสื่อและเนื้อหา (Reversed Rule of Origin)
2.3.2 ผู้รับใบอนุญาตต้องระงับการเผยแพร่เนื้อหาเมื่อได้รับแจ้งว่าเนื้อหาขัดกับกฎหมาย (Notice and Take down)
2.3.3 ดาวเทียมต่างชาติต้องเคารพและปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องในการกำหนดความรับผิดของตัวกลาง (Intermediary Liability)
2.4 จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการให้สิทธิดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศไทย (Landing Rights Fee) ในอัตราที่ไม่ด้อยไปกว่าค่าธรรมเนียมการใช้สิทธิข่ายงานดาวเทียมในนามประเทศไทย รวมถึงค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามกฎหมาย ทั้งนี้ จะได้มีการกำหนดบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อรองรับต่อไป
นโยบายอนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทใดประเภทหนึ่งใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติเป็นการชั่วคราว (ad hoc)
ต้องเป็นการดำเนินการตามภารกิจข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
1. ภารกิจของพระราชวงศ์
2. ภารกิจเกี่ยวกับภัยภิบัติแห่งชาติ
3. ภารกิจเกี่ยวกับความมั่นคงทางทหาร
4. ภารกิจเกี่ยวกับสาธารณสุขและการศึกษา
5. ภารกิจถ่ายทอดกิจกรรมสำคัญของชาติหรือระหว่างประเทศ
6. ภารกิจเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
7. ภารกิจซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนกับรัฐบาล
8. ภารกิจซึ่งเป็นการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสาธารณะ และสังคมที่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลจะต้องกำหนดเงื่อนไขที่แน่นอนอย่างน้อย ได้แก่ ระยะเวลา เริ่มต้นและสิ้นสุด พื้นที่การบริการ และบริการหรือเนื้อหาที่ใช้ช่องสัญญาณนั้น รวมถึงเสียค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง
ระยะเวลาการใช้บังคับ
ให้ ดศ. ทำหน้าที่กำกับดูแลตามกฎหมายและนโยบายนี้ ก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีผลใช้บังคับ เมื่อร่างพระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มีนาคม 2562
Click Donate Support Web