การปรับเพิ่มเงินลงทุนและเปลี่ยนแปลงรายละเอียด โครงการโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 17 March 2019 17:40
- Hits: 1470
การปรับเพิ่มเงินลงทุนและเปลี่ยนแปลงรายละเอียด โครงการโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการเปลี่ยนแปลงกำลังผลิตไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 – 7 จากเดิม ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ เป็น ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 655 เมกะวัตต์
2. เห็นชอบให้ กฟผ. ปรับเงินลงทุนโครงการฯ จากเดิมที่ได้รับอนุมัติเงินลงทุน 36,811 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,150 ล้านบาท สรุปวงเงินลงทุนรวมเป็นจำนวนเงิน 37,961 ล้านบาท เพื่อให้การเบิกจ่ายของ กฟผ. ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จะต้องไม่นำวงเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาคำนวณผลตอบแทนการลงทุนในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า
สาระสำคัญของเรื่อง
1. โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ มีประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงเนื่องจากมีอายุการใช้งานมากกว่า 25 ปี ดังนั้น แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553 – 2573 (PDP 2010) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 จึงกำหนดให้ปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 – 7 และให้มีโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อทดแทน และที่ผ่านมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 – 7 วงเงินลงทุน 36,811 ล้านบาท โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 600 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ภายในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มีอายุการใช้งานประมาณ 30 ปี
2. ในขั้นตอนการเตรียมการประกวดราคาโครงการฯ กฟผ. พบว่าถ่านหินลิกไนต์เหมืองแม่เมาะมีปัญหาด้านคุณภาพซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ ซึ่งโรงไฟฟ้าจะไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มพิกัดด้วยถ่านหินลิกไนต์คุณภาพดังกล่าว กฟผ. จึงปรับปรุงข้อกำหนดทางเทคนิคของเอกสารประกวดราคาเพื่อให้โรงไฟฟ้าใหม่สามารถรองรับถ่านหินที่มีคุณภาพเปลี่ยนไปตลอดอายุโรงไฟฟ้าได้ โดยผู้ชนะการประกวดราคาได้เสนอข้อเสนอทางเทคนิคถูกต้อง สามารถรองรับถ่านหินลิกไนต์คุณภาพดังกล่าวได้และเสนอเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตใหญ่กว่าที่ กฟผ. ได้รับอนุมัติ (ได้รับอนุมัติขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 600 เมกะวัตต์
ผู้ชนะการประกวดราคาเสนอขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 655 เมกะวัตต์) ในราคา 35,312 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติไว้จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ประกอบกับเกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทได้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันประกวดราคา (31.2182 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) กับอัตราแลกเปลี่ยนจริง ณ วันที่ กฟผ. ต้องจ่ายค่างานให้กับคู่สัญญาตั้งแต่ปี 2558 – 2560 (32.5709 – 36.3271 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ส่งผลให้เงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติไว้จำนวน 36,811 ล้านบาท ไม่เพียงพอ จึงต้องขอปรับเพิ่มวงเงินลงทุนเป็น 37,961 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,150 ล้านบาท) ดังนั้น กฟผ. จึงจำเป็นต้องเสนอขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีมาในครั้งนี้
3. กระทรวงพลังงานแจ้งว่า โครงการฯ พร้อมที่จะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ทันทีหลังจากที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการฯ ในครั้งนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 และครั้งที่ 8/2561 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในคราวประชุมครั้งที่ 57/2561 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 รวมทั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แล้ว อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่ขัดข้อง
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562
Click Donate Support Web