WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

มาตรการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนและเพิ่มมูลค่าการตลาดของการจำหน่ายสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ไทย

GOV 9มาตรการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนและเพิ่มมูลค่าการตลาดของการจำหน่ายสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ไทย

 

      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะหน่วยงานกลไกหลักในการบริหารจัดการแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ทุกระดับ พิจารณามอบหมายจังหวัดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อสนับสนุนการผลักดันและขับเคลื่อนการส่งเสริมและคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ไทย ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าการตลาดของการจำหน่ายสินค้า GI ไทยอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ โดยให้ พณ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

 

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า

1. สถานการณ์การส่งเสริมและคุ้มครอง GI ไทย

         ปัจจุบัน พณ. ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียน GI ไทยทั้งหมด 99 สินค้า จาก 66 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยสินค้า GI หมวดข้าว 10 รายการ อาหาร 18 รายการ ผักและผลไม้ 47 รายการ ผ้า 9 รายการ หัตถกรรมและอุตสาหกรรม 13 รายการ และไวน์ – สุรา 2 รายการ และอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาขึ้นทะเบียนอีก 69 รายการ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการให้สินค้า GI ไทย ได้รับการคุ้มครองในต่างประเทศแล้ว รวม 6 สินค้า ใน 4 ประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป (ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้/กาแฟดอยตุง/กาแฟดอยช้าง/ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน) และสาธารณรัฐอินโดนีเซียและอินเดีย (ผ้าไหมยกดอกลำพูน) และอยู่ระหว่างผลักดันให้ได้รับการคุ้มครองเพิ่มอีก 6 สินค้า ใน 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน (ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้/มะขามหวานเพชรบูรณ์/ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง) กัมพูชา (กาแฟดอยตุง) และเวียดนาม (มะขามหวานเพชรบูรณ์/ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน) รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและรับรองมาตรฐานสินค้า GI เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในระดับจังหวัด (Internal Control) ทั้งหมด 64 สินค้าและระดับสากล (External Control) ทั้งหมด 19 สินค้า

        ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2561 ยังได้ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้า GI รวม 20 สินค้า อาทิ ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร ชามไก่ลำปาง สับปะรดภูแลเชียงราย ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ส้มโอปูโกยะรัง มะขามหวานเพชรบูรณ์ และทุเรียนนนท์ เป็นต้น เพื่อยกระดับสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งมีคุณภาพและชื่อเสียงของสินค้านั้น ๆ อันสร้างโอกาสทางการตลาด สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการท้องถิ่นกว่า 380 ล้านบาท โดยร่วมมือกับบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด จัดให้มีมุมจำหน่ายสินค้า GI ไทย (GI Corner) อย่างถาวร ภายในท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ รวม 108 สาขาทั่วประเทศ ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดสินค้า GI อย่างต่อเนื่องทุกปี เช่น งาน GI Market งาน IP Fair และงาน THAIFEX – World of Food Asia เป็นต้น ส่งผลให้สินค้า GI ทั้งหมดของไทย สามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 4,080 ล้านบาท

2. มาตรการเพิ่มมูลค่าการตลาดของการจำหน่ายสินค้า GI และส่งเสริมการคุ้มครอง GI ไทยอย่างยั่งยืน

พณ. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) มท. กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ในการประชุมดังกล่าว ประธานได้แจ้งให้ผู้แทนทุกหน่วยงานทราบถึงนโยบายของรัฐบาลในการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสินค้า GI เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนท้องถิ่น รักษาฐานรายได้เดิม และสร้างฐานอนาคตใหม่ที่สร้างรายได้สูงขึ้นให้กับเกษตรกรและชุมชนอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังขอความร่วมมือในการดำเนินการส่งเสริมสินค้า GI ไทย ในอนาคตอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปสู่การปฏิบัติที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การเฟ้นหาผลิตภัณฑ์การเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณค่าและศักยภาพเพื่อส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI การผลักดันให้จังหวัดจัดทำระบบควบคุมรับรองมาตรฐานคุณภาพสินค้า GI ทั้งระดับในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 พณ. ได้กำหนดเป้าหมายและแผนงานการดำเนินการสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมคุ้มครอง GI ไทย ได้แก่

(1) การลงพื้นที่ส่งเสริมให้จังหวัดยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI รวม 8 สินค้า ใน 7 จังหวัด อาทิ หม้อห้อม (จังหวัดแพร่) โอ่งมังกร (จังหวัดราชบุรี) พริกไทย (จังหวัดจันทบุรี) กระเทียม (จังหวัดศรีสะเกษ) และลูกหยียะรัง (จังหวัดปัตตานี) เป็นต้น

(2) เร่งพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียน GI ไทยเพิ่มขึ้นอีก 16 คำขอ อาทิ มะม่วงยายกล่ำ (จังหวัดนนทบุรี) ทุเรียนสาลิกา (จังหวัดพังงา) และกาแฟวังน้ำเขียว (จังหวัดนครราชสีมา) เป็นต้น

(3) ผลักดันให้สินค้า GI ไทยที่มีศักยภาพ ยื่นคำขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศเพิ่มอีก 5 สินค้า ใน 2 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 2 สินค้า ได้แก่ ทุเรียนปราจีนบุรีและมะพร้าวน้ำหอมราชบุรี และมาเลเซีย จำนวน 3 สินค้า ได้แก่ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง

(4) ผลักดันให้จังหวัดจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า GI เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวม 7 สินค้า เช่น สับปะรดตราดสีทอง นิลเมืองกาญจน์ และเงาะโรงเรียนนาสาร เป็นต้น

(5) ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้า GI รวม 10 สินค้า

(6) จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดสินค้า GI อย่างต่อเนื่องทุกปี อาทิ งาน GI Market และงาน THAIFEX – World of Food Asia เป็นต้น และ

                    (7) สร้างความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของ GI ให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคผ่านช่องทางสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งสื่อออนไลน์และสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง

                    3. การขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมและคุ้มครอง GI ไทยอย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อบูรณาการการทำงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งสินค้าเกษตร หัตถกรรม หรือการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน และประชาชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน จำเป็นที่ต้องอาศัยการบูรณาการการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ โดยให้หน่วยงานส่วนราชการในพื้นที่ทุกระดับตั้งแต่จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน สนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เห็นควรขอความร่วมมือ มท. ในฐานะหน่วยงานกลไกหลักในการบริหารจัดการแบบบูรณาการในระดับพื้นที่พิจารณามอบหมายจังหวัด ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและคุ้มครอง GI ไทย ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ไทย อันช่วยเสริมสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด โดยมีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเป็นฝ่ายเลขานุการ เป็นต้น

                    ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90SIAM790x90

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!