การเข้าร่วมกับความร่วมมือ Climate and Clean Air Coalition (CCAC) ของประเทศไทย ด้านที่ 3
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 24 February 2019 23:17
- Hits: 2814
การเข้าร่วมกับความร่วมมือ Climate and Clean Air Coalition (CCAC) ของประเทศไทย ด้านที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเข้าร่วมกับความร่วมมือ Climate and Clean Air Coalition (CCAC) ของประเทศไทย ด้านที่ 3 การประเมินมลสาร Short – Lived Climate Pollutants (SLCPs1) (คาร์บอนดำและโอโซน) ในระดับภูมิภาค โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงาน (National Focal Point) CCAC ของประเทศไทย และดำเนินการตามขั้นตอนในการเข้าร่วมกับความร่วมมือ CCAC รวมถึงกำหนดรายละเอียดการดำเนินงานและกรอบเวลาร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ต่อไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
UNEP ได้ริเริ่มความร่วมมือ CCAC เพื่อลดมลสาร SLCPs มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) การสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากมลสาร SLCPs
(2) การติดตามและพัฒนาระบบที่มีอยู่เพื่อลดมลสาร SLCPs และ
(3) การปรับปรุงฐานข้อมูลและส่งเสริมแนวปฏิบัติหรือเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหามลสาร SLCPs โดยความร่วมมือ CCAC เพื่อลดมลสาร SLCPs มีการดำเนินงาน 11 ข้อริเริ่ม (Initiatives) แบ่งเป็น การดำเนินงาน 7 สาขาหลักและการดำเนินงานในสาขาที่เชื่อมโยง (Cross-Cutting) 4 ด้าน ดังนี้
การดำเนินงานหลัก 7 สาขาหลัก
1) ยานยนต์และเครื่องยนต์ในภาคคมนาคมและขนส่ง
2) การผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ
3) การลดสาร SLCPs จากขยะมูลฝอยชุมชน
4) การลดคาร์บอนดำและสารมลพิษอื่นๆ จากการผลิตอิฐ
5) เทคโนโลยีทางเลือก และมาตรฐานเพื่อทดแทนสารHFCs
6) การลดสาร SLCPs จากภาคพลังงานในครัวเรือน
7) การแก้ปัญหาคาร์บอนดำและการปล่อยก๊าซมีเทนในภาคเกษตร
การดำเนินงานในสาขาที่เชื่อมโยง 4 ด้าน
1) การสนับสนุนแผนปฏิบัติการระดับชาติและแผนงานในการลดสาร SLCPs
2) การเงินงบประมาณเพื่อลดสาร SLCPs
3) การประเมินสาร SLCPs ในระดับภูมิภาค
4) มลพิษทางอากาศกับปัญหาสุขภาพ
ซึ่งการเข้าร่วมกับความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงความร่วมมือและรับประโยชน์ในการดำเนินงานเพื่อลดมลสาร SLCPs ที่มีศักยภาพก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและเป็นสารมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ รวมทั้งส่งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะเวลาอันใกล้ อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินงานของพิธีสารเกียวโต พิธีสารมอนทรีออลและความตกลงปารีสที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีที่มีจุดประสงค์ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562
Click Donate Support Web