ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 32 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 24 September 2014 23:40
- Hits: 3661
ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 32 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 32 ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีพลังงานเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 8 และร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนกับทบวงพลังงานระหว่างประเทศ
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่า การกระทรวงพลังงาน) เป็นผู้ให้การรับรองในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ นี้ ร่วมกับรัฐมนตรีพลังงานของกลุ่มประเทศสมาชิกดังกล่าวได้
3. เห็นชอบให้ พน. สามารถพิจารณาปรับปรุงถ้อยคำในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ทั้ง 4 ฉบับ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญได้ตามความเหมาะสมก่อนที่จะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวในที่ประชุมได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ (จำนวน 4 ฉบับ) มีดังนี้
1. ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 32 จะเป็นแถลงการณ์ ร่วมสรุปผลการประชุม ซึ่งประกอบด้วยสาระหลัก คือ ความพยายามของประเทศสมาชิกในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ตามแผนปฏิบัติการพลังงานของอาเซียนระหว่างปี 2543-2558 (ASEAN Plan of Actions on Energy Cooperation : APAEC 2010-2015) เพื่อให้ภาคพลังงานของอาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายสู่การเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 และการพัฒนาแผนปฏิบัติการพลังงานอาเซียนระหว่างปี 2559 – 2563 ความพยายามของอาเซียนในการรักษาเสถียรภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งการผลักดันการดำเนินการโครงการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline-TAGP)การพัฒนาและโครงการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid APG) การดำเนินตามเป้าหมายของการใช้พลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด การส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในอาเซียน การพัฒนาขีดความสามารถของศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Centre for Energy : ACE) โดยการเพิ่มงบประมาณ และการสรรหาผู้อำนวยการศูนย์ฯ ที่เป็นมืออาชีพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารองค์การให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การสร้างเครือข่ายการกำกับกิจการพลังงานของอาเซียน
2. ร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน+3 ครั้งที่ 11 จะเป็นแถลงการณ์ร่วมสรุปผลการประชุม ซึ่งประกอบด้วยสาระหลัก คือ การให้ประเทศในกลุ่มอาเซียน+3 สนับสนุนในเรื่องการแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ในสถานการณ์พลังงานของโลกและอาเซียน+3 การแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ ตลอดจนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของประเทศสมาชิกและประเทศคู่เจรจา การพัฒนาแนวทางการสำรองน้ำมันในอาเซียนการพัฒนาและพิจารณาถึงผลกระทบจาก Shale Gas ในภูมิภาค การถ่ายทอดเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดและการสนับสนุนด้านการเงิน การส่งเสริมพลังงานสะอาดและการอนุรักษ์พลังงาน การเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติในอาเซียน เป็นต้น
3. ร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 8 จะเป็นแถลงการณ์ร่วมสรุปผลการประชุม ซึ่งประกอบด้วยสาระหลัก คือ การประกาศจุดยืนที่จะร่วมมือกันอย่างจริงจังในสาขาพลังงานต่าง ๆ อาทิ การปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาโครงการเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อการขนส่งและวัตถุประสงค์อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำฐานข้อมูลเชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศเอเชียตะวันออก และการร่วมมือในโครงการมองภาพอนาคตด้านพลังงาน (Energy Outlook) ตลอดจนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นต้น
4. ร่างแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนกับทบวงพลังงานระหว่างประเทศจะเป็นแถลงการณ์สรุปผลการประชุม ซึ่งประกอบด้วยสาระหลัก คือ การร่วมมือในการสนับสนุนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านตลาดก๊าซธรรมชาติให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาการตั้งศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซในภูมิภาคนี้
5. พน. พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในความร่วมมือด้านพลังงานของประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในกรอบอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) และประเทศเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหพันธรัฐรัสเซีย สหรัฐอเมริกา) เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน โดยวางกรอบแนวทางกว้าง ๆ ในการดำเนินงานและไม่มีข้อผูกมัด รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมาย จึงไม่มีผลเป็นการผูกพันโดยเจาะจงแก่ประเทศไทยในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือการค้าการลงทุนอย่างกว้างขวางแต่อย่างใด จึงมิใช่สนธิสัญญาระหว่างประเทศและหนังสือสัญญาที่จะต้องขอรับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมาตรา 23 วรรคสองและวรรคสามของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กันยายน 2557