ร่างกรอบเจรจากรณีการจัดทำตารางข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ของสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร อันเป็นผลเนื่องมาจากการออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรป
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 04 February 2019 06:51
- Hits: 2068
ร่างกรอบเจรจากรณีการจัดทำตารางข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ของสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร อันเป็นผลเนื่องมาจากการออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรป
เรื่อง ร่างกรอบเจรจากรณีการจัดทำตารางข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ของสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร อันเป็นผลเนื่องมาจากการออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างกรอบเจรจากรณีการจัดทำตารางข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ของสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร อันเป็นผลเนื่องมาจากการออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) เพื่อที่กรทรวงพาณิชย์จะได้ใช้เป็นแนวทางในการเจรจาร่วมกับสหภาพยุโรปและ สหราชอาณาจักรต่อไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ตามแนวทางปฏิบัติภายใต้องค์การการค้าโลก ข้อ XXVIII ของ GATT 1994 กำหนดให้สมาชิกที่ต้องการแก้ไขหรือถอนข้อผูกพันในตารางพันธกรณี จะต้องเจรจาและตกลงกับประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะขอรับการรับรองตารางพันธกรณีที่ได้ผ่านการเจรจากับสมาชิกที่เกี่ยวข้องแล้วจากสมาชิก WTO ทั้งหมดจึงจะถือว่าตารางพันธกรณีนั้นเป็นตารางพันธกรณีที่แนบท้ายความตกลงว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariff and Trade – GATT 1994) อย่างสมบูรณ์
2. การขอแก้ไขข้อผูกพันในตารางพันธกรณีของสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรจะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ไทยได้รับการจัดสรรโควตารายประเทศ (Country Specific – Quota - CSQ) รวมถึงสินค้าโควตาภาษีรายการอื่นๆ ที่ไทยมีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรอย่างมีนัยสำคัญ โดยสหภาพยุโรปและ สหราชอาณาจักรมีข้อเสนอในการปรับปรุงปริมาณโควตาภาษีเนื่องจากการออกจากสมาชิกภาพของสหราชอาณาจักร จะส่งผลให้สหภาพยุโรปคงเหลือสมาชิก 27 ประเทศ จากเดิม 28 ประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการปรับข้อผูกพันปริมาณโควตาภาษีโดยการแบ่งสัดส่วนโควตาภาษีระหว่างสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร โดยใช้หลักการคือ สหภาพยุโรป ( 27 ประเทศ) = สหภาพยุโรป ( 28 ประเทศ) – สหราชอาณาจักร
3. เนื่องจากที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกภาพสหภาพยุโรปที่สินค้ามีการเคลื่อนย้ายสินค้าโดยเสรี (free circulation) ระหว่างกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ข้อเสนอการแบ่งสัดส่วนโควตาไม่สะท้อนต่อการนำเข้าที่แท้จริงของสินค้าที่เข้าสู่สหภาพยุโรป และที่เข้าสู่สหราชอาณาจักร ดังนั้น ไทยจึงต้องเข้าร่วมการเจรจาการขอแบ่งสัดส่วนโควตาเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ในการส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร
4. กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำร่างกรอบการเจรจากรณีการจัดทำตารางข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ของสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร อันเป็นผลเนื่องมาจากการออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเจรจากับสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร โดยมีสาระสำคัญ คือ เจรจาเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์โดยรวมที่ไทยจะได้รับหลังจากสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปไม่น้อยไปกว่าที่ไทยเคยได้รับโดยรวมเมื่อครั้งสหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มกราคม 2562
Click Donate Support Web