การศึกษาความเหมาะสมในรายละเอียดของรูปแบบการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชุมพร-ระนอง และพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 03 February 2019 23:50
- Hits: 1669
การศึกษาความเหมาะสมในรายละเอียดของรูปแบบการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชุมพร-ระนอง และพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช
เรื่อง การศึกษาความเหมาะสมในรายละเอียดของรูปแบบการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชุมพร-ระนอง และพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการศึกษาความเหมาะสมในรายละเอียดของรูปแบบการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชุมพร-ระนอง และพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี – นครศรีธรรมราช (การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ภายใต้กรอบการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ (1) การพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก (2) การพัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน (3) การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง และ (4) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมวัฒนธรรม และการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ประกอบด้วยโครงการจำนวนรวม 116 โครงการ กรอบวงเงินปี 2562 – 2565 รวม 106,790.13 ล้านบาท โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการและขอรับการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามกรอบการพัฒนาดังกล่าวต่อไป
สำหรับ โครงการจำเป็นเร่งด่วน (Quick-win)ที่ สศช. ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 5 โครงการ วงเงิน 448.6973 ล้านบาท เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 (เรื่อง มาตรการด้านการงบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท) ในโอกาสแรก หากไม่เพียงพอ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เรื่องนี้เป็นผลการดำเนินการตามกรอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (ประกอบด้วยจังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช) อย่างยั่งยืน ซึ่งมีวัตถุประสงค์จะพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่และเป็นต้นแบบการพัฒนาศูนย์กลางความเจริญในแต่ละภูมิภาคของประเทศ โดยที่ผ่านมาในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบแนวคิดดังกล่าว และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเร่งรัดดำเนินการและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
2. ผลการศึกษาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ฯ พบว่า ควรมีกรอบการพัฒนาใน 4 ด้าน รวมทั้งมีแผนปฏิบัติการการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor : SEC) พ.ศ. 2562 – 2565 โดยในส่วนจำนวนโครงการภายใต้กรอบการพัฒนาฯ และแผนปฏิบัติการฯ นั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มีการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อเสนอ จากเดิม เป็น โครงการทั้งหมดรวม 116 โครงการ วงเงินรวม 106,790.13 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่ต้องขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม 111 โครงการ วงเงิน 102,418 ล้านบาท (มี 5 โครงการ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้ก่อนหน้านี้แล้ว หรือมีแผนจะใช้จ่ายจากแหล่งเงินอื่นที่ไม่ใช่เงินงบประมาณ) ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีโครงการที่เป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วนที่ส่งผลสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน
และมีความพร้อมดำเนินการได้ทันทีในปีงบประมาณ 2562 (Quick – win) จำนวน 8 โครงการ วงเงินรวม 2,677.3173 ล้านบาท โดยมี 5 โครงการ จะขอรับการสนับสนุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงมหาดไทย 2 โครงการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 โครงการ กระทรวงสาธารณสุข 1 โครงการ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 1 โครงการ ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบ 5 โครงการ ที่ขอรับงบกลางฯ) ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงายของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มกราคม 2562
Click Donate Support Web