สรุปมติการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 3/2561 (คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 06 January 2019 20:22
- Hits: 3823
สรุปมติการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 3/2561 (คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ประธานกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช เสนอ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น / หน่วยงานรับผิดชอบ
1. การบริหารการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง ปี 2562 / พณ.(กรมการค้าต่างประเทศ)
1.1 เห็นชอบการบริหารการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง ปี 2562 ภายใต้ กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ดังนี้
1.1.1 ผู้มีสิทธินำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง 6 สมาคม และ 20 บริษัท กรณีมีผู้ขอเป็นผู้มีสิทธินำเข้ารายใหม่ และการตัดสิทธิผู้นำเข้ารายเดิมในกรณีที่ผิดสัญญา ให้คณะอนุกรรมการกำกับ ดูแล เมล็ดถั่วเหลือง ปี 2560 – 2562 เป็นผู้พิจารณา และเสนอคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชเพื่อทราบ
1.1.2 ผู้มีสิทธินำเข้าให้การสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตถั่วเหลืองภายในประเทศ โดย
(1) รับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองที่ผลิตได้ภายในประเทศในราคาตามกลไกตลาด แต่ไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำตามชั้นคุณภาพ และ
(2) ผู้มีสิทธินำเข้าให้ความร่วมมือซื้อเมล็ดถั่วเหลืองที่ผลิตได้ทั้งหมดภายในประเทศ และให้ความร่วมมือในการใช้เมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าตามนโยบาย โดยลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.)
1.2 ภายใต้กรอบการค้าอื่นให้บริหารการนำเข้าเช่นเดียวกับกรอบ WTO
2. การบริหารการนำเข้ามะพร้าวผลตามความตกลงของเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ปี 2562 / พณ.(กรมการค้าต่างประเทศ)
2.1 เห็นชอบการบริหารการนำเข้ามะพร้าวผลตามความตกลงของ AFTA ปี 2562 ดังนี้
2.1.1 ผู้นำเข้าต้องเป็นนิติบุคคลและเป็นโรงงาน (มีใบ รง.4) ที่ใช้มะพร้าวผลเป็นวัตถุดิบในการผลิตของตนเอง เปิดดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบันและขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ากับกรมการค้าต่างประเทศ
2.1.2 ให้กรมการค้าต่างประเทศออกหนังสือรับรอง (แบบ ต.2) ให้ผู้นำเข้าได้ตามความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวภายใต้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช
2.1.3 ให้ผู้นำเข้าต้องนำเข้ามาเพื่อแปรรูปเป็นน้ำมันพืช หรืออาหารคนในกิจการของตนเองไม่เกินปริมาณที่ระบุไว้ในแผนการนำเข้า และการใช้ในกิจการของตนเอง
2.1.4 ผู้นำเข้าให้คำรับรองว่าจะไม่นำมาจำหน่าย จ่าย โอน ภายในประเทศ
2.1.5 ผู้นำเข้ามะพร้าวพิกัดฯ 0801.12.00 และพิกัดฯ 0801.19.90 ได้ให้คำรับรองว่าจะไม่นำมะพร้าวนำเข้า ไปให้นิติบุคคลหรือบุคคลทั่วไปแปรสภาพโดยการกะเทาะภายนอกโรงงานของตนเองและต้องรายงานบัญชีสมดุลแปรสภาพมะพร้าวผลเป็นเนื้อมะพร้าวขาวภายหลังการนำเข้า หากไม่รายงานจะถูกระงับ การออกหนังสือรับรองในครั้งต่อไป จนกว่าจะรายงานถูกต้องครบถ้วน
2.2 ให้ทบทวนการบริหารการนำเข้ามะพร้าวผล ปี 2562 / คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว กรณีการกำหนดช่วงเวลานำเข้ามะพร้าวผลและการกำหนดสัดส่วนการบริหารการนำเข้ามะพร้าวผลต่อการรับซื้อผลิตมะพร้าวผลในประเทศ ในอัตรา 1 : 1.5 โดยมอบหมายผู้แทนเกษตรกร (นายอำนาจ มณีแดง) ประสานข้อมูลปริมาณผลผลิตมะพร้าวในแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ส่งให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ภายในกำหนด(15 มกราคม 2562) หากพ้นกำหนดให้ถือตามมติคณะอนุกรรมการฯ และเสนอคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชต่อไป
3. เห็นชอบการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure : SSG) ภายใต้ความตกลงเกษตรของ WTO สำหรับ ปี 2562 โดยใช้ข้อมูลปริมาณการนำเข้ามะพร้าวปี 2557 – 2559 เป็นฐานในการคำนวณเพื่อกำหนดปริมาณ Trigger Volume ของปี 2562 [หากมีการนำเข้ามะพร้าวเกินปริมาณที่กำหนด (Trigger Volume) ประเทศผู้นำเข้าสามารถกลับไปขึ้นภาษีที่อัตราเดิมก่อนเริ่มลดหรืออัตรา MFN (Most Favored Nation Treatment หรือหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์อย่างยิ่ง หรือหลักการไม่เลือกปฏิบัติ)]
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มกราคม 2562
Click Donate Support Web