ขออนุมัติเปิดตลาดโควตานมผงขาดมันเนย ปี พ.ศ. 2561 เพิ่มเติม
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 30 December 2018 13:50
- Hits: 3561
ขออนุมัติเปิดตลาดโควตานมผงขาดมันเนย ปี พ.ศ. 2561 เพิ่มเติม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 เรื่อง การจัดสรรโควตานมผงขาดมันเนย ตามสัดส่วนผู้ประกอบการ กลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (กลุ่มที่รับซื้อน้ำนมดิบ) กับกลุ่มนิติบุคคลที่ 2 (กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป) ในอัตรา 80 : 20 และเห็นชอบในการอนุมัติเปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนย ปี พ.ศ. 2561 เพิ่มเติม ปริมาณ 5,795.82 ตัน ในอัตราภาษีร้อยละ 5 ตามมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมในการประชุมครั้งที่ 8/2561 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2561 โดยผู้ที่จะได้รับการจัดสรรจะต้องเป็นผู้ประกอบการรายเดิม และมีรายงานการนำเข้าโควตานมผงขาดมันเนยที่ได้รับเกินร้อยละ 70 ขึ้นไป
2. มอบหมายให้คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมเป็นผู้บริหารการจัดสรรโควตาให้กับผู้ประกอบการที่มีความเดือดร้อนและจำเป็นต้องใช้นมผงขาดมันเนยมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์นม และ ให้ผู้ประกอบการนำเข้าให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบต่อมาตรการและปริมาณการรับซื้อน้ำนมโคจากเกษตรกร
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
1. การขออนุมัติให้เปิดตลาดนำเข้านมผงขาดมันเนย ปี พ.ศ. 2561 เพิ่มเติม ปริมาณ 5,795.82 ตัน ในอัตราภาษีร้อยละ 5 ในครั้งนี้ จะจัดสรรให้กับผู้ประกอบการตามความจำเป็นและเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต [แบ่งเป็น กลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (กลุ่มที่รับซื้อน้ำนมดิบ) จำนวน 4,605 ตัน และกลุ่มนิติบุคคลที่ 2 (กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป) จำนวน 1,190.82 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนการจัดสรรโควตาเท่ากับ 79.75 : 20.55] จึงต้องขอยกเว้นการจัดสรรโควตาตามสัดส่วนผู้ประกอบการกลุ่มนิติบุคคลที่ 1 (กลุ่มที่รับซื้อน้ำนมดิบ) กับ กลุ่มนิติบุคคลที่ 2 (กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป) ในอัตรา 80 : 20 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548
2. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการประกาศ การจัดสรรที่จะออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิชำระภาษีในโควตา ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 เพื่อทำให้การผลิตและการตลาดภาคธุรกิจของผู้ประกอบการดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก เนื่องจากปัญหา การขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต
3. ผลกระทบ
3.1 ด้านเศรษฐกิจ
การผลิตและการตลาดในภาคธุรกิจของผู้ประกอบการสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และธุรกิจภาคอุตสาหกรรมและอาหารของต่างประเทศที่มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งต้องการขยายฐานการผลิตและการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพที่เหมาะสม แต่ติดขัดในเรื่องการวางแผนการผลิตล่วงหน้า เพราะความไม่แน่นอนของ การนำเข้านมผงขาดมันเนยมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต หากสามารถเปิดตลาดการนำเข้านมผงขาดมันเนยได้พอเพียงตามความต้องการ และชัดเจนจะทำให้สามารถกำหนดแผนธุรกิจล่วงหน้าได้ตลอดทั้งปี และจะมีนโยบายมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นส่งผลดีต่อธุรกิจในภาพรวม
3.2 ด้านเกษตรกร
ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การบริหารโควตานำเข้านมผงขาดมันเนยไม่ให้กระทบต่อมาตรการและปริมาณการรับซื้อน้ำนมโคจากเกษตรกร (ต้องเป็นผู้ประกอบการ รายเดิมที่มีรายงานการนำเข้าโควตานมผงขาดมันเนยที่ได้รับจัดสรรเกินร้อยละ 70 ขึ้นไป) และยังมีแผนการผลิตและแผนการรับซื้อน้ำนมโคร่วมกันระหว่างองค์กรเกษตรกรโคนมและผู้ประกอบการแปรรูปนมทั้งระบบ โดยจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน
3.3 ด้านผู้บริโภค
ผู้บริโภคจะได้รับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากนมหลายชนิดในราคาต่ำ การดำเนินการทางธุรกิจด้านนี้ไม่หยุดชะงักและไม่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากต่างประเทศที่มีราคาสูงเข้ามาแทนที่
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 ธันวาคม 2561
Click Donate Support Web