เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2562
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 30 December 2018 11:02
- Hits: 1336
เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2562 พร้อมข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2562 ซึ่งกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินไว้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ร้อยละ 2.5 + 1.5 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการคลังรายงานว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธาน กนง. ได้ประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้เห็นชอบร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2562 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. เป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2562 กนง. ได้ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบมีความยืดหยุ่นซึ่งเป็นกรอบที่ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคาระยะปานกลาง ควบคู่กับการดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน โดย กนง. จะพิจารณารักษาความสมดุลของเป้าหมายด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และมีความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีอยู่สนับสนุนให้ระดับราคามีเสถียรภาพและเป็นไปตามเป้าหมาย และเศรษฐกิจของประเทศเติบโตเต็มศักยภาพและยั่งยืน โดยไม่ก่อให้เกิดความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. จึงมีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ ร้อยละ 2.5 + 1.5 เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2562 เนื่องจากเป็นระดับที่เอื้อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ธปท. จะติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ส่งผลให้พลวัตของอัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไป และอาจทำให้ผลของการดำเนินนโยบายการเงินที่มุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพราคาเป็นหลักมีผลกระทบต่อการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งพัฒนากรอบการประเมินความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ครอบคลุมมิติที่สำคัญ เพื่อให้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินยืดหยุ่นเพียงพอและสามารถนำผลของการชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียของการการดำเนินนโยบายทางการเงินในแต่ละทางเลือก (Policy Trade – off) มาพิจารณาได้อย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา
2. การติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน กค. และ ธปท. จะจัดให้มีการหารือร่วมกันเป็นประจำ และ/หรือ เมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ
(1) การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา
(2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป และ
(3) การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาส เพื่อเพิ่มความรับรู้ถึงแนวทางการตัดสินใจนโยบายการเงินของ กนง. ให้แก่สาธารณะ
3. การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไปอาจมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของราคาพลังงานและอาหารสด ความเสี่ยงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกา และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยจะชี้แจงถึง
(1) สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว
(2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไป เพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม และ
(3) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย โดยจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร
4. การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 ธันวาคม 2561
Click Donate Support Web