ร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 29 December 2018 20:57
- Hits: 8853
ร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติตรวจพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. .... มีจำนวนทั้งสิ้น 69 มาตรา แบ่งออกเป็น 8 หมวด มีสาระสำคัญดังนี้
1. หมวด 1 บททั่วไป (ร่างมาตรา 6 – ร่างมาตรา 11)
(1) กำหนดให้การดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นไปเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ความสอดคล้องกับแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน การรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ การใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมของเอกชนในการให้บริการสาธารณะของโครงการร่วมลงทุน และการถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญไปยังหน่วยงานและบุคลากรของภาครัฐ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และสิทธิและประโยชน์ของผู้รับบริการจากโครงการร่วมลงทุน (ร่างมาตรา 6)
(2) กำหนดโครงการที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องเป็นโครงการลงทุนของรัฐในกิจการที่หน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือหลายหน่วยงานรวมกันมีหน้าที่และอำนาจต้องทำตามกฎหมายหรือกฎ หรือที่มีหน้าที่และอำนาจต้องทำตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง และเป็นกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามที่กำหนดในร่างมาตรา 7 โดยแบ่งการดำเนินโครงการเป็น 2 ระดับ ได้แก่
1) โครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ห้าพันล้านบาทขึ้นไปหรือมูลค่าที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยกฎกระทรวง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 8)
2) โครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่าห้าพันล้านบาทหรือต่ำกว่ามูลค่าที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยกฎกระทรวง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 9)
(3) กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหากรณีโครงการร่วมลงทุนใดมีหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน และไม่สามารถตกลงกำหนดหน่วยงานเจ้าของโครงการได้ โดยให้คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนพิจารณากำหนดหน่วยงานของรัฐที่มีความรับผิดชอบในโครงการร่วมลงทุนนั้นมากที่สุดเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ (ร่างมาตรา 10)
(4) กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาในกรณีที่เกิดปัญหาหรืออุปสรรค หรือเกิดความล่าช้าในการจัดทำหรือดำเนินโครงการร่วมลงทุน โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหา อุปสรรรค หรือความล่าช้าดังกล่าว เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณา หรือเสนอกรอบระยะเวลาเร่งรัดการดำเนินการใด ๆ เพื่อความสำเร็จของโครงการร่วมลงทุนต่อคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณา และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป (ร่างมาตรา 11)
2. หมวด 2 แผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน (ร่างมาตรา 12)
กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจจัดทำแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่สอดคล้องกับแผนแม่บทด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด้านสังคมของประเทศ ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดทำขึ้น และนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนต่อไป
3. หมวด 3 คณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (ร่างมาตรา 13 – ร่างมาตรา 21)
(1) กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน อัยการสูงสุด ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคน เป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นกรรมการและเลขานุการ (ร่างมาตรา 13)
(2) กำหนดให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีก่อนมีการตราพระราชกฤษฎีกาหรือการออกกฎกระทรวงตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้ความเห็นชอบแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าต่ำกว่าห้าพันล้านบาท ให้ความเห็นชอบหลักการของโครงการร่วมลงทุน วินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ รวมถึงปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย (ร่างมาตรา 20)
(3) กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ และมีหน้าที่และอำนาจจัดทำและนำเสนอแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน ให้ความเห็น คำแนะนำ หรือวางแนวทางปฏิบัติแก่หน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ รายงานปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการต่อคณะกรรมการ และปฏิบัติการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย (ร่างมาตรา 21)
4. หมวด 4 การจัดทำและดำเนินโครงการ (ร่างมาตรา 22 – ร่างมาตรา 49)
(1) ส่วนที่ 1 การเสนอโครงการ
กำหนดขั้นตอนการเสนอโครงการที่จะให้มีการร่วมลงทุน ดังนี้
1) หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามรายละเอียดที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 22) และอาจเสนอมาตรการสนับสนุนเพื่อให้โครงการร่วมลงทุนบรรลุวัตถุประสงค์ (ร่างมาตรา 23) และกรณีที่เห็นว่าไม่ควรใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนโดยวิธีประมูล ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการระบุเหตุผลและความจำเป็น ข้อดีและข้อเสีย และประโยชน์ที่ภาครัฐและประชาชนจะได้รับไว้ในรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการด้วย (ร่างมาตรา 25) ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายฯ อาจกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการจัดทำรายงานศึกษาและวิเคราะห์โครงการ หรือกำหนดกรอบระยะเวลาการจัดทำโครงการสำหรับโครงการใดเป็นการเฉพาะด้วยก็ได้ (ร่างมาตรา 26)
2) หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำหลักการของโครงการร่วมลงทุนเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ พร้อมกับรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ (ร่างมาตรา 28 วรรคหนึ่ง)
3) เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบหลักการของโครงการร่วมลงทุนและรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดส่งหลักการของโครงการร่วมลงทุนและรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการที่ได้รับความเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อพิจารณาต่อไป (ร่างมาตรา 28 วรรคสาม)
4) เมื่อคณะกรรมการนโยบายฯ ให้ความเห็นชอบหลักการของโครงการร่วมลงทุน ให้คณะกรรมการแจ้งผลการพิจารณาให้รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดนำเสนอหลักการของโครงการร่วมลงทุนดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการร่วมลงทุนตามหลักการนั้นต่อไป (ร่างมาตรา 29)
ทั้งนี้ ในส่วนของหลักเกณฑ์ วิธีการ และกรอบระยะเวลาในการเสนอโครงการได้กำหนดให้คณะกรรมการประกาศกำหนดต่อไป
(2) ส่วนที่ 2 การคัดเลือกเอกชน
กำหนดขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ดังนี้
1) เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินโครงการร่วมลงทุนแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่ง (ร่างมาตรา 36) โดยมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน กำหนดค่าธรรมเนียม กำหนดหลักประกันซองและหลักประกันสัญญาร่วมลงทุน เจรจาและพิจารณาคัดเลือกเอกชน และดำเนินการอื่น ๆ ที่เกียวข้องกับการคัดเลือกเอกชนของโครงการร่วมลงทุนตามที่เห็นสมควร (ร่างมาตรา 38)
2) ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน เสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่างมาตรา 35)
3) เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกให้ความเห็นชอบร่างประกาศเชิญชวนร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน แล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการและคณะกรรมการคัดเลือก ดำเนินการคัดเลือกเอกชนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด (ร่างมาตรา 39)
4) เมื่อได้ผลการคัดเลือกเอกชนแล้ว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนำส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการเจรจากับเอกชนที่ได้รับคัดเลือกแล้วให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุน (ร่างมาตรา 41)
5) ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอผลการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาผลการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน และเมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วให้หน่วยงานเจ้าของโครงการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกต่อไป (ร่างมาตรา 42)
(3) ส่วนที่ 3 การกำกับดูแลโครงการร่วมลงทุน
เมื่อมีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนแล้ว กำหนดให้รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลขึ้นคณะหนึ่ง (ร่างมาตรา 43) โดยมีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลและติดตามโครงการร่วมลงทุน เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรายงานผลการดำเนินงาน ความคืบหน้า ปัญหา และแนวทางการแก้ไขต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อทราบ และพิจารณาให้ความเห็นประกอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน (ร่างมาตรา 44)
(4) ส่วนที่ 4 การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนและการทำสัญญาใหม่
1) กรณีที่ต้องมีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ได้กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอเหตุผลและความจำเป็น ประเด็นที่ขอแก้ไข ผลกระทบจากการแก้ไข และข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อคณะกรรมการกำกับดูแลเพื่อพิจารณาให้ความเห็น ก่อนนำส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา และเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยเมื่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ทั้งนี้ ในกรณีที่คณะกรรมการกำกับดูแลเห็นว่าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนมีหลักการแตกต่างจากหลักการของโครงการ่วมลงทุนหรือทำให้เงื่อนไขสำคัญของสัญญาแตกต่างจากเงื่อนไขสำคัญที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ ให้รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเสนอคณะกรรมการพิจารณา และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วย (ร่างมาตรา 46 – ร่างมาตรา 48)
2) กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการมีการจัดทำแนวทางการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนภายหลังจากสัญญาสิ้นสุด โดยให้เปรียบเทียบกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเองและกรณีที่ให้เอกชนร่วมลงทุน เสนอรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดอย่างน้อย 5 ปี ก่อนที่สัญญาร่วมลงทุนจะสิ้นสุดลง (ร่างมาตรา 49)
5. หมวด 5 การใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ในกรณีเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ความมั่นคงของประเทศ หรือมีเหตุที่ทำให้การดำเนินโครงการหยุดชะงักลงจนทำให้มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประชาชนหรือเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้หน่วยงานเจ้าของโครงการโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีมีอำนาจเข้าดำเนินโครงการหรือมอบให้ผู้อื่นเข้าดำเนินโครงการเป็นระยะเวลาชั่วคราว แก้ไขสัญญาร่วมลงทุน หรือบอกเลิกสัญญาร่วมลงทุน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่เหตุไม่ได้มาจากความผิดของเอกชนคู่สัญญา ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจ่ายค่าชดเชยแก่เอกชนคู่สัญญาอย่างเป็นธรรมด้วย (ร่างมาตรา 50)
6. หมวด 6 กองทุนส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
กำหนดให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ในการว่าจ้างที่ปรึกษา การพัฒนาฐานข้อมูลและองค์ความรู้ การเผยแพร่ อบรม ให้ความรู้ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน (ร่างมาตรา 51 – ร่างมาตรา 59) ซึ่งกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว
7. หมวด 7 บทเบ็ดเตล็ด
(1) กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการจัดส่งสำเนาสัญญาร่วมลงทุนหรือสำเนาสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไข ให้กระทรวงเจ้าสังกัดและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจจัดทำข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการร่วมลงทุนเพื่อให้หน่วยงานตรวจสอบสามารถตรวจเข้าดูได้ และเปิดเผยสรุปข้อมูลโครงการในรูปแบบที่เข้าใจง่ายต่อสาธารณชนให้ทราบเป็นการทั่วไป (ร่างมาตรา 60)
(2) กำหนดให้คณะกรรมการ คณะกรรมการคัดเลือก คณะกรรมการกำกับดูแล คณะกรรมการกองทุน และคณะอนุกรรมการ ได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ร่างมาตรา 61)
(3) กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจจัดทำแผนงานพัฒนาฐานข้อมูลและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และแผนงานดำเนินการเผยแพร่อบรม ให้ความรู้ และให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (ร่างมาตรา 62)
8. หมวด 8 บทกำหนดโทษ
กำหนดบทกำหนดโทษในกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคัดเลือกผ่าฝืนร่างมาตรา 37 การห้ามเป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาในเอกชน ที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนที่ตนเป็นกรรมการคัดเลือก หรือถือหุ้นในเอกชนที่ได้รับคัดเลือก (ร่างมาตรา 63)
9. บทเฉพาะกาล
(1) กำหนดบทบัญญัติรองรับให้บรรดากฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบ ที่ออกจามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ร่างมาตรา 64)
(2) กำหนดบทบัญญัติรองรับให้กรรมการผู้เทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 65)
(3) กำหนดให้โอนบรรดาเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ และหนี้สิน ที่เกี่ยวเนื่องกับกองทุนส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในกระทรวงการคลัง ไปเป็นของกองทุนส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 66)
(4) กำหนดบทบัญญัติรองรับในกรณีที่กฎหมายใดที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมีการอ้างอิงถึงกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ให้ถือว่าการอ้างอิงดังกล่าวในกฎหมายนั้นเป็นการอ้างอิงถึงพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 67)
(5) กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และโครงการนั้นเป็นโครงการภายใต้พระราชบัญญัตินี้ โดยให้การดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ (ร่างมาตรา 68)
(6) กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนตามหมวด 5 การดำเนินโครงการ แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 แต่โครงการนั้นไม่เป็นโครงการภายใต้บังคับพระราชบัญญัตินี้ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามบทบัญญัติในหมวดดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จและให้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไปตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแลดำเนินโครงการนั้น (ร่างมาตรา 69)
(7) กำหนดบทบัญญัติรองรับให้คณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะสั่งการตามข้อเสนอของคณะกรรมการดังกล่าว (ร่างมาตรา 70)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ธันวาคม 2561
Click Donate Support Web