ร่างแถลงการณ์ร่วมต่อสื่อมวลชนของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 4
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 16 December 2018 21:59
- Hits: 3435
ร่างแถลงการณ์ร่วมต่อสื่อมวลชนของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 4
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมต่อสื่อมวลชนของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 4 (Joint Press Communiqu? of the Fourth Lancang – Mekong Cooperation Foreign Ministers’ Meeting) และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมต่อสื่อมวลชนฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างแถลงการณ์ร่วมต่อสื่อมวลชนฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ร่างแถลงการณ์ร่วมต่อสื่อมวลชนฯ เป็นเอกสารที่สะท้อนการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และความคิดเห็นระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกต่อการดำเนินการความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือ แม่โขง – ล้านช้าง โดยให้การรับรอง (1) หัวข้อ “การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Enhancing Partnership for Shared Prosperity)” และตราสัญลักษณ์ของการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือ แม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 3 ซึ่งจะนำไปใช้สำหรับการประชุมและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประธานร่วมของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ระหว่างปี ค.ศ. 2018 – 2020 (2) ตราสัญลักษณ์ของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (3) เพลงของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ชื่อว่า “ล้านช้างและแม่โขง สายน้ำแห่งมิตรภาพ” (Lancang and Mekong, A river of Friendship)
2. ทบทวนความสำเร็จและความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี ของ กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อาทิ ความคืบหน้าในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับการจัดสรรทุนจากกองทุนพิเศษภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (MLC Special Fund) การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแม่โขง – ล้านช้าง ศูนย์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมแม่โขง – ล้านช้าง และศูนย์ Global Center for Mekong Studies (GCMS) รวมทั้งการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในสาขาหลักภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง
3. กำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต โดยเน้นเรื่องการจัดตั้งระเบียงการพัฒนาเศรษฐกิจ แม่โขง – ล้านช้าง (Lancang - Mekong Economic Development Belt) การส่งเสริมความร่วมมือด้านศักยภาพการผลิต การจัดทำแผนการเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกแม่โขง – ล้านช้างและแผนพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจข้ามพรมแดนและศักยภาพในการผลิต การดำเนินการโครงการใหม่ ๆ ในสาขาที่จะช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน การจัดตั้งคณะทำงานร่วมหรือศูนย์ความร่วมมือในสาขาอื่น อาทิ การศึกษา ศุลกากร สุขภาพ และเยาวชน การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำแม่โขง – ล้านช้างระยะ 5 ปี พ.ศ. 2561 – 2565 รวมทั้งเห็นพ้องต่อการจัดตั้งสำนักเลขาธิการระหว่างประเทศของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (MLC International Secretarial)
4. เห็นพ้องที่จะส่งเสริมให้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์การพัฒนาแห่งชาติของแต่ละประเทศสมาชิก รวมทั้งกลไกความร่วมมือในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค เช่น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) และแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 ธันวาคม 2561
Click Donate Support Web