ท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 14 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง และร่างปฏิญญาชาร์ม เอล เชค
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 11 November 2018 20:35
- Hits: 4676
ท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 14 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง และร่างปฏิญญาชาร์ม เอล เชค
เรื่อง ท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 14 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง และร่างปฏิญญาชาร์ม เอล เชค (Sharm El-Sheikh Declaration)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 14 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
2. เห็นชอบในการรับรองร่างปฏิญญาชาร์ม เอล เชค (Sharm El-Sheikh Declaration) โดยไม่มีการลงนาม
3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองปฏิญญาชาร์ม เอล เชค
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงถ้อยคำหรือสาระสำคัญของท่าที/ร่างปฏิญญาดังกล่าวที่คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติหรือเห็นชอบไปแล้ว หากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้สามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังพร้อมชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
สาระสำคัญของการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 14 และการประชุมที่เกี่ยวข้องมีกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 29 พฤศจิกายน 2561 ณ เมืองชาร์ม เอล เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ทส. จึงได้เสนอขอความเห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมดังกล่าว และเห็นชอบร่างปฏิญญาชาร์ม เอล เชค (Sharm El-Sheikh Declaration) โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองปฏิญญาฯ (ไม่มีการลงนาม)
ทั้งนี้ คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน) ได้มีมติเห็นชอบร่างท่าทีของประเทศไทยสำหรับการประชุมดังกล่าว และเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาชาร์ม เอล เชค ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันระหว่างผู้แทนรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในการดำเนินการอนุรักษ์ ใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ เนื่องจากความหลากหลายทางชีวภาพเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตและเป็นฐานการผลิตในภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย
1) การบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพ
2) แผนกลยุทธ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2011 – 2020 และ
3) การดำเนินการเพื่อก้าวสู่ปี ค.ศ. 2020
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561