ร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 11 November 2018 20:10
- Hits: 2707
ร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ
3. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. หมวดที่ 1 สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ให้จัดตั้งสภาดิจิทัลฯ โดยให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีอำนาจหน้าที่เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลฯ โดยให้สภาดิจิทัลฯ มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และมีสำนักงานสาขาในจังหวัดอื่นได้และอาจมีรายได้จากค่าลงทะเบียน ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุงที่เรียกเก็บจากสมาชิก ค่าตอบแทนและค่าบริการที่ได้รับจากการให้บริการแก่สมาชิกหรือบุคคลภายนอก เงินหรือทรัพย์สินบริจาคเงินหรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ได้จากการดำเนินงานของสภาดิจิทัลฯ เงินรายได้อื่น ๆ และดอกผลและผลประโยชน์อื่นจากเงินหรือทรัพย์สินของสภาดิจิทัลฯ
2. หมวดที่ 2 สมาชิก กำหนดให้สมาชิกของสภาดิจิทัลฯ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
2.1 สมาชิกสามัญซึ่งประกอบด้วยบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลตามข้อบังคับและสมาคมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการสนับสนุนการประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล
2.2 สมาชิกวิสามัญซึ่งประกอบด้วยบุคคลธรรมดา ผู้ประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ผู้ประกอบการที่ใช้ผลิตภัณฑ์หรือรับบริการดิจิทัล บุคคลที่มีความสนใจเกี่ยวกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลและสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรดิจิทัล
2.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมดิจิทัล หรือผู้ซึ่งทำประโยชนให้แก่สภาดิจิทัลฯ หรืออุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ ซึ่งคณะกรรมการเชิญมาเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
3. หมวดที่ 3 คณะกรรมการ กำหนดให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและดำเนินกิจการของสภาดิจิทัลฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาดิจิทัลฯ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นผู้แทนภาคเอกชน ประสานด้านนโยบายและการดำเนินการกับรัฐบาลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ตลอดจนศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ และให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำการประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ในการนี้คณะกรรมการบริหารเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้อำนวยการ และมีอำนาจหน้าที่ออกข้อบังคับที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาดิจิทัลฯ
4. หมวดที่ 4 พนักงาน กำหนดให้สำนักงานสภาดิจิทัลฯ มีผู้อำนวยการเป็นหัวหน้าสำนักงานโดยตำแหน่ง ทำหน้าที่บริหารกำกับดูแลการดำเนินงานประจำของสำนักงานให้เป็นไปตามนโยบายคณะกรรมการบริหารและตามข้อบังคับ
5. หมวดที่ 5 การดำเนินกิจการของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ให้คณะกรรมการบริหารของสภาดิจิทัลฯ จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานคณะกรรมการบริหารในปีที่ล่วงมา และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญพร้อมด้วยงบดุล บัญชีรายได้ และรายจ่ายประจำปี ซึ่งมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและรับรองและให้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อรับทราบต่อไป
6. หมวดที่ 6 การกำกับดูแลของรัฐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำกับดูแลการทำงานของสภาดิจิทัลฯ ได้ตามขอบเขตที่พระราชบัญญัติสภาดิจิทัลฯ กำหนดและเมื่อปรากฏว่าสภาดิจิทัลฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของสภาดิจิทัลฯ หรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้กรรมการคนใดคนหนึ่งหรือทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งในกรณีเช่นนี้ กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งไม่มีสิทธิเป็นกรรมการอีก เว้นแต่จะพ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำสั่ง
7. หมวดที่ 7 บทกำหนดโทษ ผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติของสภาดิจิทัลฯ ต้องระวางโทษปรับ
8. บทเฉพาะกาล ให้แปรสภาพสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นสภาดิจิทัลฯ โดยให้คณะกรรมการสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยซึ่งจัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 คน ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์การสื่อสารด้านสังคม ด้านกฎหมายดิจิทัล ด้านธุรกิจการดูแล ด้านสุขภาพ (Healthcare) ด้านเศรษฐศาสตร์
และด้านส่งเสริมสิทธิประชาชนอย่างทั่วถึง (Inclusiveness) ด้านละหนึ่งคนตามที่รัฐมนตรีแต่งตั้งประกอบเป็นคณะกรรมการคณะแรกของสภาดิจิทัลฯ มีอำนาจดำเนินการเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และดำเนินการเรียกประชุมสมาชิกสามัญ เพื่อเลือกตั้งกรรรมการใหม่ภายใน 365 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามีความจำเป็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 60 วัน แต่ทั้งนี้รวมกันไม่เกิน 120 วัน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561