ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 11 November 2018 18:58
- Hits: 3481
ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมการอิสระ เพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ คณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานและระบบค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเสนอ
3. ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 (เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ) เกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ และศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษาแห่งชาติ และให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แล้วแจ้งผลการดำเนินการการจัดตั้งหน่วยงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป
4. ให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณ คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม การบริหารและการจัดการศึกษาของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา การเร่งรัดการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาวิชาชีพครู โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดหลักการซึ่งเป็นสาระสำคัญให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ กรอบการปฏิรูปการศึกษาตามมาตรา 54 และมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการการศึกษา
1.1 กำหนดให้สถานศึกษาของรัฐมีความเป็นอิสระในการบริหารและการจัดการศึกษาทั้งด้านการบริหารวิชาการ ด้านการบริหารงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารงานทั่วไป โดยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลสถานศึกษาของรัฐที่มีความเป็นอิสระต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำหรับสถานศึกษาของเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้ทุกรูปแบบตามที่กฎหมายกำหนด
1.2 กำหนดให้ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ความสามารถโดยต้องจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งจัดให้ผู้บริหารสถานศึกษาได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่
1.3 กำหนดให้สถานศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีแต่ละสถานศึกษามีคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลกิจการและการประกันคุณภาพของสถานศึกษา
1.4 กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดทำข้อกำหนดด้านคุณภาพของการศึกษา เพื่อให้สถานศึกษานำไปจัดทำข้อกำหนดด้านคุณภาพและดำเนินการด้านประกันคุณภาพของสถานศึกษาของตน รวมทั้งต้องจัดให้มีการประเมินคุณภาพการศึกษาโดยหน่วยงานภายนอก
1.5 กำหนดให้มีสมัชชาการศึกษาระดับจังหวัดในแต่ละจังหวัดโดยให้จัดตั้งตามความพร้อมและความสมัครใจรวมตัวกันของภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานของรัฐ เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัด
1.6 กำหนดให้สถานศึกษาในระดับการศึกษาก่อนวัยเรียนและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีหลักสูตรสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอน โดยหลักสูตรดังกล่าวต้องประกอบด้วยหลักสูตรแกนกลางที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้กับสถานศึกษาทุกแห่ง และหลักสูตรเพิ่มเติมของสถานศึกษาที่จัดทำขึ้นเอง โดยต้องมีความเหมาะสมกับศักยภาพและความถนัดของผู้เรียน และตอบสนองความต้องการที่แตกต่างและหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ชุมชน และสังคม
2. การปฏิรูปครู
2.1 กำหนดให้รัฐมีโครงการระยะยาวในการผลิตและพัฒนาครู มีวัตถุประสงค์ในการคัดกรองผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สนับสนุนทุนการศึกษา และคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพในการผลิตครูเพื่อให้ผู้รับทุนเข้าศึกษา เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของประเทศ
2.2 ให้ ศธ. จัดให้มีระบบและวิธีการที่หลากหลายและเหมาะสมในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาสมรรถนะและพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง โดย ศธ. จะดำเนินการดังกล่าวเอง หรือสนับสนุนให้สถานศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ หรือจัดให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม เพื่อดำเนินการดังกล่าว
2.3 กำหนดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสม รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาความรู้และทักษะ และมีความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ โดยให้คำนึงถึงการปฏิบัติงานที่มีความยากลำบาก หรือการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยหรือห่างไกล
3. คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ
3.1 กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านงบประมาณ การจัดอัตรากำลังคน และการพัฒนากฎหมาย รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและระบบการศึกษาตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
3.2 กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นส่วนราชการใน ศธ. ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และศึกษา วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติ และการจัดการศึกษาและระบบการศึกษาตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้
3.3 กำหนดให้การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติต้องพิจารณาถึงปัจจัยด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนานาประเทศ สถานการณ์และผลการสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยหากในกรณีที่สภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหมาะสมที่จะสามารถดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติได้ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติย่อมสามารถแก้ไขเพิ่มเติมแผนการศึกษาแห่งชาติให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 ตุลาคม 2561