ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อสู้กับวัณโรค
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 07 October 2018 20:46
- Hits: 2805
ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อสู้กับวัณโรค
เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อสู้กับวัณโรค และร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อ
(1) ร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อสู้กับวัณโรค และ
(2) ร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ (จะมีการรับรองร่างปฏิญญาฯ ทั้งสองฉบับระหว่างการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อสู้กับวัณโรค และการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2561)
สำหรับ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างปฏิญญาฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้สามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังพร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย
2. ให้ สธ. (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) ร่วมรับรองร่างปฏิญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว
ร่างปฏิญญาฯ ทั้งสองฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ร่างปฏิญญาฯ ว่าด้วยการต่อสู้กับวัณโรค
1) ยืนยันคำมั่นในการยุติวัณโรคภายในปี พ.ศ. 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
2) มุ่งมั่นที่จะให้การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยวัณโรค 40 ล้านคน ระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2565
3) มุ่งมั่นที่จะชนะวิกฤตของวัณโรคดื้อยาหลายขนานด้วยการป้องกัน วินิจฉัย การรักษา และการให้การดูแล รวมทั้งประสานงานและร่วมมือกันในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับเอชไอวีและวัณโรค
4) มุ่งมั่นที่จะพัฒนาการให้บริการสาธารณสุขระดับชุมชนเพื่อแก้ปัญหาวัณโรค
5) มุ่งมั่นในการปรับปรุงนโยบายและระบบสาธารณสุข เพื่อให้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืน เพื่อให้ผู้ป่วยวัณโรคและผู้มีความเสี่ยงสามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยไม่เกิดภาระทางการเงินที่มากเกินไป
6) มุ่งมั่นจัดสรรเงินทุนทั่วโลกให้เพียงพอต่อการรับมือกับวัณโรค โดยตั้งเป้าว่าจะลงทุนเงินทุนอย่างน้อย 13,000 ล้านบาทต่อปีภายในปี พ.ศ. 2565
7) มุ่งมั่นที่จะพัฒนาหรือเสริมสร้างความเข้มแข็งของแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยวัณโรค
8) เรียกร้องให้เลขาธิการสหประชาชาติ โดยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลกจัดทำรายงานความคืบหน้าในระดับโลกและระดับชาติในปี พ.ศ. 2563 เพื่อเตรียมการทบทวนอย่างครอบคลุมโดยผู้นำรัฐบาลในการประชุมระดับสูงในปี พ.ศ. 2566 ต่อไป
2. ร่างปฏิญญาฯ ว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ
1) ยืนยันความมุ่งมั่นทางการเมืองในการเร่งดำเนินการตามปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ เมื่อปี พ.ศ. 2555 และเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการทบทวนและประเมินอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับความคืบหน้าในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเมื่อปี พ.ศ. 2557
2) เพิ่มความมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้เกิดความสอดคล้องทางนโยบาย โดยใช้ความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนและแนวทางทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพโดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วม
3) จัดตั้งหรือเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลไกระดับชาติเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติระดับชาติด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ
4) ส่งเสริมให้เกิดการแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่ออย่างครอบคลุมเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีผ่านการมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ
5) เสริมสร้างระบบสาธารณสุขเพื่อให้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยร่วมกันป้องกัน คัดกรอง และควบคุมโรคไม่ติดต่อ รวมถึงความผิดปกติทางจิต
6) ให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนเกี่ยวกับโทษของการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์แบบอันตราย
7) เชิญชวนให้ภาคเอกชนเพิ่มความมุ่งมั่นในการช่วยป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคไม่ติดต่อ
8) เรียกร้องให้เลขาธิการสหประชาชาตินำเสนอรายงานต่อที่ประชุมเกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินการตามปฏิญญานี้ภายในปี พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการประชุมระดับสูง เพื่อทบทวนการดำเนินการอย่างครอบคลุมด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อในปี พ.ศ. 2568
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 กันยายน 2561