การต่ออายุความตกลงประเทศเจ้าภาพระหว่างไทยกับสหประชาชาติในรูปแบบของหนังสือแลกเปลี่ยนสำหรับการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายระหว่างประเทศระดับภูมิภาคของสหประชาชาติ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 07 October 2018 20:45
- Hits: 2740
การต่ออายุความตกลงประเทศเจ้าภาพระหว่างไทยกับสหประชาชาติในรูปแบบของหนังสือแลกเปลี่ยนสำหรับการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายระหว่างประเทศระดับภูมิภาคของสหประชาชาติ
เรื่อง การต่ออายุความตกลงประเทศเจ้าภาพระหว่างไทยกับสหประชาชาติในรูปแบบของหนังสือแลกเปลี่ยนสำหรับการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายระหว่างประเทศระดับภูมิภาคของสหประชาชาติ (United Nations Regional Course in International Law) ประจำปี 2561
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติให้ต่ออายุความตกลงประเทศเจ้าภาพระหว่างไทยกับสหประชาชาติในรูปแบบของหนังสือแลกเปลี่ยนให้ใช้บังคับกับการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายระหว่างประเทศระดับภูมิภาคของสหประชาชาติ (United Nations Regional Course in International Law) ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน – 14 ธันวาคม 2561 ที่กรุงเทพมหานคร
2. อนุมัติให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ของฝ่ายไทยสำหรับการฝึกอบรมฯ ประจำปี 2561 พร้อมทั้งอนุมัติให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนาม
ทั้งนี้ ในกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ก็ให้ดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย ตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 (เรื่อง การจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
3. อนุมัติในหลักการให้ต่ออายุความตกลงประเทศเจ้าภาพได้ หากสหประชาชาติทาบทามให้ไทยร่วมเป็นเจ้าภาพในปีต่อ ๆ ไป โดย กต. จะเสนอความตกลงประเทศเจ้าภาพเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ในเนื้อหาและถ้อยคำเรียบร้อยแล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนสำหรับการฝึกอบรมดังกล่าว ประจำปี 2561 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดรายละเอียดของการฝึกอบรม เช่น กลุ่มเป้าหมายได้แก่ผู้ที่มีภูมิหลังหรือประสบการณ์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกจำนวนไม่เกิน 30 คน ซึ่งไทยสามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมได้ 5 คน และการให้เอกสิทธิและความคุ้มกันแก่ผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ผู้บรรยายและพนักงานของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษในประเทศไทย พ.ศ. 2504 ทั้งนี้ ความตกลงดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ ณ วันที่มีการลงนามหนังสือฉบับนี้
สำหรับ การแบ่งส่วนความรับผิดชอบค่าใช้จ่าย โดยสหประชาชาติจะรับผิดชอบในการเตรียมหลักสูตรการฝึกอบรมฯ ส่วนรัฐบาลไทยจะรับผิดชอบค่าที่พัก อาหารเช้า และอาหารค่ำ การจัดรถรับ – ส่งผู้เข้าร่วมระหว่างโรงแรมที่พักกับสนามบิน และการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมให้แก่ผู้เข้าร่วม ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะใช้จัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 งบรายจ่ายอื่น โครงการสัมมนากฎหมายระหว่างประเทศระดับภูมิภาคของสหประชาชาติ ส่วนประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ การยกระดับภาพลักษณ์ของไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านกฎหมายระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมืออันดีระหว่างไทยกับสหประชาติ อันจะเชิดชูบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 กันยายน 2561
Click Donate Support Web