การลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 07 October 2018 20:21
- Hits: 2328
การลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ภายในกรอบวงเงิน 2,890,402,000 บาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ สำหรับแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการดังกล่าว เห็นสมควรใช้จ่ายจากรายได้ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นลำดับแรกก่อน อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นก็เห็นควรให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับเป็นค่าก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณและให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้รับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
2. ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา กระทรวงอุตสาหกรรมควรพิจารณาความสอดคล้องกับนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และใช้จุดเด่นของนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาดึงดูดผู้ประกอบการ/นักลงทุนเพื่อให้เกิดการลงทุนได้อย่างรวดเร็วด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา บนพื้นที่ดินราชพัสดุประมาณ 927.925 ไร่ ซึ่งปัจจุบันได้ทำสัญญาเช่าที่ดินประมาณ 629.425 ไร่ (ระยะที่ 1) กับกรมธนารักษ์เป็นเวลา 50 ปี เรียบร้อยแล้ว [ส่วนที่เหลือ (ระยะที่ 2) จะทำสัญญาเช่าจนครบเต็มพื้นที่ต่อไป] ใช้เงินลงทุนโครงการรวม 2,890.402 ล้านบาท มีอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะหรือเครื่องจักร อุตสาหกรรมผลิตเครื่องไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมบริการ โดยระยะที่ 1 คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาโครงการประมาณ 15 เดือน ส่วนระยะที่ 2 เริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 12 เดือน และคาดว่าจะให้เช่าพื้นที่แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและนักลงทุนได้หมดภายใน 6 ปี ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 กันยายน 2561
Click Donate Support Web