ขออนุมัติลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับฮังการีว่าด้วยการ ส่งผู้ร้ายข้ามแดน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 09 September 2018 23:19
- Hits: 6351
ขออนุมัติลงนามและให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับฮังการีว่าด้วยการ ส่งผู้ร้ายข้ามแดน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับฮังการีว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนาม สนธิสัญญาฯ
3. ให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามในข้อ 2 ในกรณีที่ผู้ลงนามไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
4. ให้ กต. ดำเนินการให้สนธิสัญญาฯ มีผลใช้บังคับในโอกาสอันเหมาะสมตามแต่จะตกลง กับฝ่ายฮังการีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง กต. ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างสนธิสัญญา ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับฮังการีว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งคณะผู้แทนไทยที่ประกอบด้วยผู้แทน จากสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) ได้ดำเนินการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาดังกล่าวร่วมกับคณะผู้แทนฮังการี โดยทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาตกลงกันได้ทุกข้อบทแล้ว
ทั้งนี้ ร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับฮังการีว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นการกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่มีความสอดคล้องกับกรอบการเจรจาสนธิสัญญาโอนตัวนักโทษที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติ (23 พฤษภาคม 2560) เห็นชอบให้คณะผู้แทนไทยใช้ข้อกำหนดท่าทีในการเจรจาสนธิสัญญาประเภทดังกล่าวกับประเทศต่าง ๆ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็น / รายละเอียดกรอบการเจรจา
ขอบเขตของสนธิสัญญา
ครอบคลุมเฉพาะเรื่องความร่วมมือเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยไม่รวมถึงการโอน ตัวนักโทษ หรือการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา
ผู้ประสานงานกลาง
ฝ่ายไทย ได้แก่ อัยการสูงสุดหรือผู้ที่อัยการสูงสุดมอบหมาย
บุคคลที่ถูกร้องขอให้ส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน
ต้องเป็นบุคคลที่อยู่หรือเชื่อว่าอยู่ในดินแดนของประเทศผู้รับคำร้องขอในขณะ ที่มีการร้องขอ
ความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้
ต้องเป็นความผิดซึ่งกฎหมายไทยและกฎหมายของประเทศคู่เจรจากำหนดให้เป็นความผิดที่มีโทษประหารชีวิต หรือมีโทษจำคุกหรือโทษจำกัดเสรีภาพในรูปแบบอื่นตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
หลักเกณฑ์ในการส่งและปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ไม่ขัดกับพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 อาทิ
(1) การไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองหรือความผิดทางทหารโดยเฉพาะ
(2) คดีขาดอายุความหรืออายุการบังคับโทษ (3) ประเทศผู้รับคำร้องขอมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่มีการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน
การจับกุมชั่วคราว
อาจทำได้เมื่อมีการร้องขอในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน โดยประเทศผู้ร้องขอจะต้องระบุเหตุดังกล่าวไว้ในคำร้องขอ
หลักเกณฑ์ว่าด้วยการพิจารณาความผิดเฉพาะเรื่อง
บุคคลที่ถูกส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องไม่ถูกดำเนินคดี ถูกลงโทษหรือถูกส่งเป็นผู้ร้าย ข้ามแดนต่อไปยังประเทศที่สาม บนพื้นฐานของความผิดอื่นนอกจากความผิดที่ให้มีการ ส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ในปัจจุบันประเทศไทยมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่มีผลใช้บังคับแล้วกับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งหมด 15 ประเทศ ทั้งนี้ ทางการฮังการีได้เคยมีคำร้องขอให้ทางการไทยส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจำนวน 2 คน ในปี 2542 และ ปี 2556 แต่ยังไม่มีการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากในกรณีแรกฮังการีถอนคำร้อง ส่วนผู้ร้ายในกรณีที่สอง อยู่ระหว่างรับโทษในเรือนจำไทย จึงเลื่อนการดำเนินคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนออกไปก่อน ทั้งนี้ ฝ่ายไทยยังไม่เคยมีคำร้องขอให้ทางการฮังการีส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 กันยายน 2561