WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ขออนุมัติการลงนามในเอกสารโครงการ Supporting the Application of the Ecosystem Approach to Fisheries Management considering Climate

GVO1ขออนุมัติการลงนามในเอกสารโครงการ Supporting the Application of the Ecosystem Approach to Fisheries Management considering Climate

 

       เรื่อง ขออนุมัติการลงนามในเอกสารโครงการ Supporting the Application of the Ecosystem Approach to Fisheries Management considering Climate and Pollution Impacts (EAF – Nansen Programme)

      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้

      1. เห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในโครงการ Supporting the Application of the Ecosystem Approach to Fisheries Management considering Climate and Pollution Impacts (EAF – Nansen Programme) ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) เพื่อดำเนินงานวิจัยและการสำรวจทรัพยากรประมงและทะเล ของไทย

     2. อนุมัติในหลักการว่า ก่อนที่จะมีการลงนาม หากมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารโครงการฯ ในประเด็นที่ไม่ใช่หลักการสำคัญ ให้ กษ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

     3. อนุมัติให้อธิบดีกรมประมงเป็นผู้ลงนามในเอกสารโครงการฯ

     4. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามในข้อ 3

 

สาระสำคัญของเรื่อง

       กษ. รายงานว่า กษ. ได้รับเอกสารโครงการ GCP/GLO/690/NOR: EAF – Nansen Programme จากสำนักงานองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างรัฐบาลนอร์เวย์ผ่านองค์กรนอร์เวย์เพื่อการพัฒนาความร่วมมือ (Norad) สถาบันวิจัยทางทะเล (IMR) FAO และประเทศตามแนวชายฝั่งแอฟริกา โดยโครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564) และมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความยากจนและส่งเสริมให้มีการเข้าถึงความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ผ่านการทำการประมงอย่างยั่งยืนเพื่อความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการให้แก่ประชากรของประเทศสมาชิก

       โดยในการดำเนินการจะใช้เรือสำรวจทรัพยากรทางทะเล [Dr Fridtjof Nansen ขนาด 3,853 ตันกรอส สัญชาตินอร์เวย์และชักธงองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ซึ่งเป็นเรือสำรวจที่มีความทันสมัยและมีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์พร้อมสำหรับการสำรวจทรัพยากรทางทะเล ทำการสำรวจทางนิเวศวิทยาและประเมินทรัพยากรทะเล เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในมหาสมุทรอินเดีย เริ่มจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ สาธารณรัฐโมซัมบิก สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย สาธารณรัฐมอริเชียส สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสิ้นสุดการสำรวจ ณ ทะเลอันดามัน ประเทศไทย โดยมีกำหนดเข้าน่านน้ำไทยช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2561 และมีแผนทำการสำรวจทรัพยากรประมงและสมุทรศาสตร์ทะเลลึกที่ได้ร่วมกันวางแผนตามความสนใจของประเทศไทยผ่านการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

       โดยในการสำรวจจะมีการนำเรือสำรวจโดยการอนุญาตของ FAO เดินทางเข้ามาในทะเลอันดามัน บริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศ ซึ่งจะมีการจัดทำข้อตกลงเพิ่มเติมระหว่าง FAO กับรัฐบาลไทยภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดตามที่ระบุในข้อ 7 ของเอกสารโครงการ เพื่อทำการสำรวจระบบนิเวศวิทยาทางทะเลและเมื่อการสำรวจแล้วเสร็จสิ้น FAO จะจัดทำรายงานและส่งมอบให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลผู้สนับสนุนทุน (สถาบันวิจัยทางทะเล ประเทศนอร์เวย์) ตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในเอกสารโครงการและมีการจัดทำรายงานการประเมินผลซึ่งจะถูกเก็บเป็นความลับและจำกัดการเข้าถึงของบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการโดยตรง

      ทั้งนี้ การดำเนินการตามโครงการฯ ดังกล่าวโดยการสำรวจทรัพยากรทางทะเลในน่านน้ำไทยจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการแสดงความร่วมมือที่ดีของประเทศไทยกับองค์กร FAO และแสดงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะบริหารจัดการทรัพยากรประมง ประโยชน์ด้านข้อมูลที่ได้รับจากการสำรวจทรัพยากรประมงในเขตน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามันภายใต้เขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและการประมงไทยต่อไปในอนาคต รวมทั้งเป็นการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลทางระบบนิเวศทางทะเลที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจากปัญหามลพิษทางทะเล

       ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 สิงหาคม 2561

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!