หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ฉบับที่ 2)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 09 September 2018 22:27
- Hits: 2001
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ฉบับที่ 2)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ฉบับที่ 2) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า
1. ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 เห็นชอบหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สำหรับการเบิกค่าใช้จ่ายของโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage Emergency Patients : UCEP) นั้น สธ. ได้ดำเนินการจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต รวมถึงรายการบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ฯ จำนวน 2,970 รายการ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม สธ. ได้ดำเนินการติดตามผลการดำเนินโครงการ UCEP แล้วพบว่า สถานพยาบาลประสบปัญหาไม่สามารถเบิกค่าบริการบางรายการที่มีความจำเป็นต้องใช้กับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้ เนื่องจากไม่อยู่ในรายการที่กำหนดไว้ในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ฯ
2. คณะกรรมการสถานพยาบาลได้มีคำสั่ง ที่ 15/2560 ลงวันที่ 25 กันยายน 2560 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯ ขึ้น เพื่อดำเนินการรวบรวมปัญหาจากหลักเกณฑ์ฯ และบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้าย รวมถึงจัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้รวบรวมข้อมูลการดำเนินโครงการ UCEP จากสถานพยาบาล โดยเฉพาะสถานพยาบาลเอกชน เพื่อประกอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์และบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้าย โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทำหลักเกณฑ์ฯ (ฉบับที่ 2) แล้วเสร็จและเสนอต่อคณะกรรมการสถานพยาบาล ซึ่งคณะกรรมการสถานพยาบาลได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ (ฉบับที่ 2) แล้วในคราวประชุมครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561
3. หลักเกณฑ์ฯ (ฉบับที่ 2) มีสาระสำคัญเป็นการเพิ่มรายการในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายจำนวน 1,649 รายการ ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มรายการใน 4 หมวด จากทั้งสิ้น 12 หมวด สรุปได้ดังนี้
3.1 หมวดที่ 2 ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดโรค จำนวน 226 รายการ โดยอุปกรณ์ที่ปรับเพิ่มเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เช่น
รายการ/ข้อบ่งชี้
สายลวดนำสายสวน (Guidewires)
- ใช้ร่วมกับสายสวนหลอดเลือดเพื่อนำทางสายสวนหลอดเลือดไปวางในตำแหน่งของหลอดเลือดที่ต้องการ สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดอุดตันที่ตำแหน่งต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง
สายสวนหัวใจเพื่อการวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าภายในห้องหัวใจ (Multipolar electrode catheter)
- ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวัด (Arrthythmia)
ผงแป้งเชื่อมเยื่อหุ้มปอด (Sterile Talcum)
- เชื่อมเยื่อหุ้มปอดในรายที่มีน้ำหรือลมขังอยู่ในระหว่างเยื่อหุ้มปอดและจำเป็นที่จะต้องเชื่อมเยื่อหุ้มปอด เพื่อลดอาการเหนื่อยหรือลดโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำ
อุปกรณ์ช่วยระบายน้ำในช่องสมอง (Ventriculoperitoneal shunt)
- ใช้สำหรับผู้ป่วยน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังคั่ง (Hydrocephalus)
3.2 หมวดที่ 3 ยาและสารอาหารทางเส้นเลือด จำนวน 1,029 รายการ แบ่งเป็น 2 ประเภทย่อย ได้แก่
1) ยาและสารอาหารทางเส้นเลือดที่ใช้สำหรับรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และ
2) ยาทั่วไปที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตอาจต้องใช้ประกอบการรักษาในระหว่างที่อยู่โรงพยาบาล เช่น
รายการ/ข้อบ่งชี้
ETOMIDATE-LIPURO ยานำสลบใช้ในการทำให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึก ในกรณีที่ต้องทำการผ่าตัดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
GLUCOPHAGE ยาสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน
MADIPLOT ยาสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง
3.3 หมวดที่ 5 เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา จำนวน 36 รายการ โดยอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นเป็นวัสดุที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตอาจต้องใช้ประกอบการรักษาในระหว่างที่อยู่โรงพยาบาล เช่น
รายการ/ข้อบ่งชี้
COTTON BALL สำหรับการทำแผล หรือฉีดยา
ARM SLING สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บที่แขนหรือหัวไหล่
SOFT COLLAR สำหรับกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บที่บริเวณกระดูกสันหลัง ส่วนคอ
3.4 หมวดที่ 7 ค่าตรวจวินิจฉัยทางเทคนิคการแพทย์ จำนวน 358 รายการ ซึ่งเป็นรายการที่ต้องทำเพื่อการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เช่น
รายการ/ข้อบ่งชี้
การตรวจ LE cell preparation, stain, examination และการตรวจ Antinuclear antibody
- ตรวจในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงจนเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้
การตรวจ Biopsy หรือชิ้นเนื้อขนาดต่าง ๆ
- ตรวจกรณีที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการผ่าตัด หรือส่องตรวจแล้วพบชิ้นเนื้อผิดปกติ จำเป็นต้องตรวจเพื่อหาสาเหตุ
การตรวจ CD4 Count
- ตรวจในผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่สงสัยว่าอาจเป็นโรค AIDS
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 สิงหาคม 2561