การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 05 August 2018 19:31
- Hits: 4106
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมที่เกี่ยวข้อง รวม 5 ฉบับ และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้า คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 กรอบ เป็นผู้ร่วมให้ การรับรองร่างเอกสารดังกล่าว
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการต่างประเทศได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการต่อ ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม รวม 5 ฉบับ ประกอบด้วย
1) ร่างถ้อยแถลงประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 11 (Draft Chair’s Statement of the 11th Mekong – Japan Foreign Ministers’ Meeting)
2) ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา ครั้งที่ 9 (Draft Joint Ministerial Statement for the 9th MGC Ministerial Meeting)
3) ร่างถ้อยแถลงประธานร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 8 (Draft Co-Chairs’ Statement of the Eighth Mekong-ROK Foreign Ministers’ Meeting)
4) ร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 11 (Eleventh Ministerial Meeting of the Lower Mekong Initiative: Draft Joint Statement) และ
5) ร่างถ้อยแถลงร่วมเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการจัดการและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Draft Joint Statement to Strengthen Water Data Management and Information Sharing in the Lower Mekong) ซึ่งจะมีการรับรองโดยที่ประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 51 ระหว่างวันที่ 2- 3 สิงหาคม 2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งประกอบด้วยกรอบความร่วมมือต่าง ๆ รวม 4 กรอบความร่วมมือ ได้แก่
(1) ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 11
(2) ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – คงคา ครั้งที่ 9
(3) ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาเหลี ครั้งที่ 8 และ
(4) ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 11 ซึ่งกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงทั้ง 4 กรอบดังกล่าวจะเป็นเวทีที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนานอกภูมิภาค ได้แก่ ญี่ปุ่น อินเดีย สาธารณรัฐเกาหลี และสหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคม และส่งเสริมการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนของอนุภูมิภาค โดยประเทศไทยเน้นการแสดงบทบาทนำในฐานะผู้ให้ ร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมบทบาทของไทยในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าในภูมิภาคและของโลก อันจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคม การลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 กรกฎาคม 2561