ท่าทีไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 3
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 05 August 2018 19:29
- Hits: 4039
ท่าทีไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 3
2. หากในการประชุมดังกล่าว มีผลให้มีการตกลงเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าในประเด็นอื่น ๆ นอกเหนือจากประเด็นในท่าทีตามข้อ 1 อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับเวียดนาม โดยไม่มีการจัดทำเป็นความตกลงหรือหนังสือสัญญาขึ้นมาขอให้ พณ. และผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองผลการประชุม JTC ไทย-เวียดนาม ครั้งที่ 3 รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เป็นผลจากการหารือขยายความร่วมมือเฉพาะด้าน (หากมี)
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. ไทยและเวียดนามมีกลไกสำคัญในการหารือด้านการค้าระดับทวิภาคีคือการประชุม JTC ไทย-เวียดนาม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไทยเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายเวียดนาม โดยการประชุมดังกล่าวเป็นเวทีการประชุมหารือระดับรัฐมนตรีการค้าเกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทางการปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย – เวียดนาม และแนวทางการจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกันหรือเอื้อประโยชน์ต่อกัน ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 – 22 กรกฎาคม 2558 ณ กรุงเทพมหานคร
2. ในการประชุม JTC ไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 3 เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวในวันที่ 2 – 3 สิงหาคม 2561 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดย พณ. ได้จัดประชุมเตรียมการฝ่ายไทยกับหน่วยงานราชการและภาคเอกชนไทยที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 เพื่อพิจารณาท่าทีไทยสำหรับการประชุม JTC ไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 3 โดยท่าทีสำหรับการประชุมฯ มีสาระสำคัญคือ กำหนดทิศทางการปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย – เวียดนาม และแนวทางการจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกันหรือเอื้อประโยชน์ต่อกัน ได้แก่
(1) หารือแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการค้าระหว่างไทย – เวียดนาม (20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563)
(2) หารือถึงการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการค้าระหว่างกันภายใต้ความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น ความร่วมมือเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและการอำนวยความสะดวกด้านการค้า ความร่วมมือด้านการส่งเสริมการค้า ความร่วมมือด้านการเกษตรและประมง ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงการขนส่ง ความร่วมมือด้านการธนาคาร ความร่วมมือด้านการลงทุน ความร่วมมือด้านแรงงาน ความร่วมมือด้านพลังงาน ความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาค ภูมิภาคและพหุภาคี และความร่วมมือด้านอื่นๆ (ความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ความร่วมมือด้าน SMEs ความร่วมมือด้านศุลกากร ความร่วมมือภาครัฐ – เอกชน ความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความมือด้านมาตรการเยียวยาทางการค้า) โดยการค้าระหว่างประเทศของเวียดนามและไทย ปี 2561 เวียดนามเป็นประเทศตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในอาเซียน
ในขณะเดียวกัน ไทยเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่อันดับที่ 1 ของเวียดนามในอาเซียน โดยในปี 2560 การค้ารวมไทย-เวียดนาม มีมูลค่า 16,634.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามูลค่า 6,688.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่เวียดนามส่งออกมายังไทย ได้แก่ โทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือและชิ้นส่วน น้ำมันดิบ คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อะไหล่และส่วนประกอบ เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือและส่วนประกอบ และยานพาหนะการขนส่งชิ้นส่วน อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้าที่เวียดนามนำเข้ามาจากไทย ได้แก่ น้ำมันทุกชนิด เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รถยนต์ วัสดุพลาสติก ผักและผลไม้ และเครื่องจักร อุปกรณ์เครื่องมือและส่วนประกอบ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 กรกฎาคม 2561