มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 30 July 2018 15:03
- Hits: 13858
มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการดำเนินโครงการและวงเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี วงเงินหมุนเวียน 22,560 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 61,810.67 ล้านบาท วงเงินชดเชยส่วนต่าง 2,698.50 ล้านบาท
2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินหมุนเวียน 12,500 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 507.81 ล้านบาท
3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก วงเงินจ่ายขาด 572 ล้านบาท
สาระสำคัญของเรื่อง
1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มีวัตถุประสงค์ เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือกในช่วงต้นฤดูกาลผลิต ซึ่งออกสู่ตลาดมาก โดยการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกร และเพื่อรักษาระดับราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรด้านค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
เป้าหมาย ให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งประกอบด้วย สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อชะลอการจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทุกจังหวัดทั่วประเทศ เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก
วงเงินสินเชื่อ กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกที่ความชื้นไม่เกิน ร้อยละ 15 สิ่งเจือปนไม่เกินร้อยละ 2 จำแนกตามชนิดข้าวเปลือก ดังนี้
- ข้าวเปลือกหอมมะลิราคาสินเชื่อตันละ 11,800 บาท
- ข้าวเปลือกเหนียวราคาสินเชื่อตันละ10,200 บาท
- ข้าวเปลือกเจ้าราคาสินเชื่อตันละ 7,500 บาท
- ข้าวเปลือกปทุมธานีราคาสินเชื่อตันละ 8,900บาท
สำหรับ การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูก ข้าวนาปี ปีการผลิต 2561/62 มีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว
กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561/62 ที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวฯ ปีการผลิต 2561/62 กับกรมส่งเสริมการเกษตร
วิธีการดำเนินการ ช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะเกษตรกรรายย่อย อัตราไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท
2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร มีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับระบบสหกรณ์ในการรวบรวมรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ชะลอปริมาณข้าวเปลือกบางส่วนมิให้ออกสู่ตลาดในช่วงเก็บเกี่ยว และเพื่อเก็บข้าวเปลือกไว้แปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปเป็นข้าวสาร
เป้าหมาย สนับสนุนสินเชื่อแก่ 'สถาบันเกษตรกร' ซึ่งประกอบด้วย สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย และ/หรือ เพื่อการแปรรูปประมาณ 2 ล้านตัน รวมเป็นวงเงินสินเชื่อทั้งสิ้น 12,500 ล้านบาท
3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก มีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวให้สามารถรับซื้อข้าวเปลือกในช่วงต้นฤดู ที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากจากเกษตรกร โดยไม่ต้องเร่งระบายผลผลิต และเก็บสต็อกไว้ในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ทำให้ราคาตลาดข้าวภายในประเทศมีเสถียรภาพ
วิธีการ รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ ที่ผู้ประกอบการค้าข้าวเป็นลูกค้าอยู่ ตามมูลค่าข้าวเปลือกที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เก็บสต็อกไว้ ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อกไว้ 60 – 180 วัน นับตั้งแต่วันที่รับซื้อ (เบิกจ่ายเงินหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงิน)
เป้าหมาย ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เพื่อดูดซับผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เป้าหมาย 5 ล้านตันข้าวเปลือก เป็นระยะเวลา 2 – 6 เดือน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กรกฎาคม 2561