WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม)

GOV1 copyร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม)

 

     เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม)

      คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายเวลาการลดอัตราภาษี มูลค่าเพิ่ม) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

 

กค. เสนอว่า

1. ปัจจุบันได้กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการขายสินค้า การให้บริการหรือการนำเข้าทุกกรณี โดยให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น)เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 ทั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 646) พ.ศ. 2560 โดยกำหนดเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวใกล้จะสิ้นสุดลง

        2. แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2561 คาดว่าจะสามารถขยายตัวร้อยละ 4.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยมีปัจจัยจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มขยายตัวสอดคล้องกับประเทศคู่ค้าหลัก รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อการบริโภค และการลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่ปรับเพิ่มขึ้น ความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่อยู่ในเกณฑ์สูง นอกจากนี้ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าสินค้าส่งออกที่ขยายตัวและรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในด้านอุปสงค์การบริโภค การลงทุนให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

       3. โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 กำหนดเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ 1. ดังกล่าวจะสิ้นสุดลง จึงอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมที่มีการลงทุนและการบริโภคในประเทศที่อยู่ในช่วงขยายตัวอย่างต่อเนื่องอาจมีการชะลอตัว ระดับราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ จะมีการปรับราคาสูงขึ้น ดังนั้น จึงเห็นควรกำหนดให้ขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562

       4. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับ ตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้

       4.1 ในส่วนรายได้ของภาครัฐ กค. ได้จัดทำรายงานตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้

       4.1.1 การขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 258,500 ล้านบาท

        4.1.2 การกำหนดให้คงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) จะไม่มีผลกระทบต่อการประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ เนื่องจากในการจัดทำงบประมาณได้มีการคำนวณประมาณการรายได้ โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานการคำนวณของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในอัตราร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น)

      4.2 ในส่วนของประชาชน จะช่วยลดผลกระทบจากค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ภาคธุรกิจมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัว

       4.3 ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจ ทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของอัตราภาษี ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้แก่ภาคเอกชน และสามารถวางแผนการบริหารธุรกิจได้ อย่างถูกต้องต่อไป

 

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

         กำหนดให้มีการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยังคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562

      ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กรกฎาคม 2561

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!