การประชุมผุ้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 10 June 2018 11:59
- Hits: 3616
การประชุมผุ้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง
เรื่อง การประชุมผุ้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya –
Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 8
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2019-2023) [ACMECS Master Plan (2019-2023)] และร่างปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ของการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี- เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 8 (8th ACMECS Summit) หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวทั้งสองที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 และเป็นผู้ร่วมให้การรับรองแผนแม่บทฯ และร่างปฏิญญากรุงเทพฯ
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
ประเทศไทยในฐานะประธาน ACMECS จะจัดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 (8th ACMECS Summit) ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 16 มิถุนายน 2561 ภายใต้หัวข้อ “การก้าวสู่ประชาคมแม่โขงที่เชื่อมโยงกัน” (Towards an Integrated and Connected Mekong Community) โดยที่ประชุมฯ จะมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
1. ร่างปฏิญญากรุงเทพของการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ ของประเทศสมาชิกที่จะใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของ 5 ประเทศสมาชิก เช่น
1) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ACMECS ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียนและของโลก เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6-8 ต่อปี
2) การเมืองที่มีเสถียรภาพและความปรองดองทางสังคม มีความสามัคคีและความสงบ
3) ภูมิศาสตร์ที่ตั้งของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการเป็นศูนย์กลางทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ซึ่งเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก การมีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม และความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
ร่างปฏิญญาฯ จะมีแผนแม่บท ACMECS เป็นแนวทาง (roadmap) ในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างการปฏิบัติ การใช้ประโยชน์จากศักยภาพทางเศรษฐกิจของ ACMECS เพื่อให้อนุภูมิภาคในกลุ่ม ACMECS เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานและมูลค่าของภูมิภาคและของโลก เพื่อรองรับกับความท้าทายต่าง ๆ ผ่านการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรมเพื่อให้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็น “ศูนย์กลางแห่งการเจริญเติบโต” ที่มีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการบูรณาการของอาเซียนในภาพรวม
2. แผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2019-2023) เป็นแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค
ที่จะใช้กำหนดแนวทางการดำเนินการระหว่างประเทศสมาชิก ACMECS เพื่อให้การดำเนินการสอดรับกับแผนแม่บทอาเซียนด้านความเชื่อมโยง ค.ศ. 2025 รวมถึงวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ค.ศ. 2030 มีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 วิสัยทัศน์ คือ “สร้าง ACMECS ที่เชื่อมโยงภายในปี ค.ศ. 2023”
2.2 แนวทางการดำเนินการภายใต้แผนแม่บทฯ ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ดังนี้
1) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค (Seamless Connectivity)
2) การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized ACMECS Economies)
3) การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS)
2.3 ระยะเวลาในการดำเนินการ 5 ปี (ค.ศ. 2019-2023) ทั้งนี้ ในระยะแรกจะมุ่งเน้นโครงการส่งเสริมความเชื่อมโยงตามระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก – ตะวันตก (EWEC) และแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) ทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ดิจิทัล และพลังงาน (hardware connectivity) โครงการเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การค้า การลงทุน (software connectivity)
2.4 แผนแม่บทฯ จะมีเอกสารภาคผนวก (Annex) ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plans) ที่ประเทศสมาชิกสามารถปรับเพิ่มหรือแก้ไขต่อไป (living document) โดยมี ‘คณะกรรมการประสานงาน’(Coordinating Committees) กำกับดูแลการดำเนินโครงการสาขาความร่วมมือต่างๆ ในแต่ละเสา
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มิถุนายน 2561