การปรับปรุงกรอบวงเงินลงทุนของแผนพัฒนาระบบไฟฟ้า ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 10 June 2018 11:01
- Hits: 3067
การปรับปรุงกรอบวงเงินลงทุนของแผนพัฒนาระบบไฟฟ้า ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559)
เรื่อง การปรับปรุงกรอบวงเงินลงทุนของแผนพัฒนาระบบไฟฟ้า ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการปรับปรุงกรอบวงเงินลงทุนของแผนพัฒนาระบบไฟฟ้า ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) (แผนพัฒนาระบบไฟฟ้าฯ) ประกอบด้วย 12 โครงการ 2 แผนงาน วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 99,943.68 ล้านบาท และโครงการลงทุนด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนของบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บริษัท พีอีเอฯ) กรอบวงเงินร่วมลงทุน 7,752.00 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในส่วนของบริษัท พีอีเอฯ ในวงเงิน 779.00 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
การปรับวงเงินลงทุนตามแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าฯ ที่เสนอขอปรับใหม่เป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับปัจจัยด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ด้านการเมือง การปกครอง: เป็นการปรับปรุงโครงการ/แผนงานให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ตามที่รัฐบาลได้วางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว ด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ที่กำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนการพัฒนาอนาคตของประเทศไปสู่การพัฒนาที่คนไทยทุกคนต้องการ คือ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ด้วยนโยบาย “การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
2. ด้านเศรษฐกิจ: การปรับปรุงกรอบวงเงินลงทุนเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบไฟฟ้า มีความมั่นคง เชื่อถือได้ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทางธุรกิจ อุตสาหกรรม ที่กระจายไปสู่ส่วนภูมิภาคซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ลดช่องว่างของรายได้ และลดการอพยพแรงงานเข้าสู่เมืองใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจของจังหวัด เช่น มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในสาขาอื่น ๆ ด้วย เช่น สาขาโรงแรม สาขาที่พักอาศัย สาขาการขายส่ง-ขายปลีก เป็นต้น
3. ด้านผลประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตประชาชน: การปรับปรุงกรอบวงเงินลงทุนเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ครัวเรือน และภาพรวมของประเทศ รวมทั้งเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคและชนบท และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร ช่วยให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าได้รับการดูแลและบริการจากรัฐบาล ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มิถุนายน 2561