การรับรองร่างปฏิญญารัฐมนตรีสำหรับการประชุม Asian and Pacific Energy Forum ครั้งที่ 2
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 08 April 2018 17:05
- Hits: 9497
การรับรองร่างปฏิญญารัฐมนตรีสำหรับการประชุม Asian and Pacific Energy Forum ครั้งที่ 2
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญารัฐมนตรี (Minisrerial Declaration) ของการประชุม Asian and Pacific Energy Forum ครั้งที่ 2
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) เป็นผู้ให้การรับรองในร่างปฏิญญารัฐมนตรีนี้ ร่วมกับรัฐมนตรีพลังงานหรือผู้แทนของกลุ่มประเทศสมาชิกดังกล่าวได้
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างปฏิญญารัฐมนตรีดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ให้ พน. สามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วยตามนัยมติคณะรัฐมนตรี (30 มิถุนายน 2558) เรื่อง การจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
สาระสำคัญของร่างปฏิญญารัฐมนตรีของการประชุม Asian and Pacific Energy Forum ครั้งที่ 2 สรุปได้ดังนี้
1. ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) และบรรดาเป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน (2030 Agenda for Sustainable Development and its Sustainable Development Goals : SDGs) เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของเป้าหมายที่ 7 “รับรองการมีพลังงานที่ ทุกคนเข้าถึงได้ เชื่อถือได้ ยั่งยืนทันสมัย”
2. มุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้กลไกความร่วมมือด้านพลังงานระดับภูมิภาค
3. ส่งเสริมกลไกและมาตรการทางการเงินให้แก่ภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เกิดนโยบายในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทางพลังงาน การยกระดับความสามารถของระบบไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน การเพิ่มระดับบริโภคและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด และพลังงานฟอสซิลที่ทันสมัย เพื่อลดการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองและการบริโภคที่สูญเปล่า โดยให้ภาคเอกชนมีบทบาทมากขึ้น
4. ตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงทางพลังงานและศักยภาพของการขยายตัวด้านการค้าข้ามพรมแดน โดยจะส่งเสริมการแสวงหาความร่วมมือระดับภูมิภาคให้มากขึ้น
5. ตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของ UNESCAP ในการสนับสนุนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งรวมถึง SDGs เป้าหมายที่ 7 และเป้าหมายอื่นๆ เกี่ยวกับพลังงานด้วยการส่งเสริมให้มีการปรึกษาเชิงนโยบาย การแบ่งปันองค์ความรู้ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในระดับภูมิภาคย่อยและระดับภูมิภาค ภายใต้แผนงานระดับภูมิภาค (regional roadmap) และการพัฒนาด้านความเชื่อมโยงระบบสายส่งข้ามพรมแดน (cross-border power grig connectivity)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 เมษายน 2561