การกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในคู่มือการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน”
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 01 April 2018 13:15
- Hits: 1610
การกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในคู่มือการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน”
เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในคู่มือการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน”(หมู่บ้าน/ชุมชนละสองแสนบาท)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในคู่มือการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” (หมู่บ้าน/ชุมชนละ สองแสนบาท) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
ทั้งนี้ ให้ มท. กำชับให้หน่วยงานในพื้นที่เร่งรัดหรือกำกับหมู่บ้าน/ชุมชนให้เตรียมความพร้อมเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินโครงการของชุมชน หรือสามารถดำเนินโครงการในช่วงเวลาที่เหมาะสม ตามที่กำหนด โดยเฉพาะโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำหรือกำจัดผักตบชวา/วัชพืชและขยะสิ่งปฏิกูลเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำที่ควรต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเข้าฤดูฝน รวมทั้งให้พิจารณากำหนดมาตรการในการกำกับดูแลและติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การดำเนินโครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
มท. รายงานว่า กรมการปกครอง สงป. และกระทรวงการคลัง (กค.) (กรมบัญชีกลาง) ได้ร่วมกันจัดทำคู่มือการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” (หมู่บ้าน / ชุมชนละ 200,000 บาท) โดยโครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน (เดือนเมษายน-กรกฎาคม 2561) มีเป้าหมาย 82,371 หมู่บ้าน/ชุมชน สนับสนุนงบหมู่บ้าน/ชุมชนละไม่เกิน 200,000 บาท เป็นเงิน 16,474.20 ล้านบาท มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. หลักเกณฑ์/เงื่อนไขของโครงการที่จะเสนอขอรับเงินอุดหนุน มีดังนี้
1.1 ที่มาของโครงการ เป็นโครงการ/กิจกรรมที่คณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชนได้รับข้อมูลปัญหาความต้องการจากเวทีประชาคมไทยนิยม ยั่งยืน หรือจากแผนพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน
1.2 จำนวนโครงการ หมู่บ้าน/ชุมชนแต่ละแห่งสามารถเสนอโครงการได้ไม่เกิน 2 โครงการ โดยให้หมู่บ้าน/ชุมชน ดำเนินการเอง (หมู่บ้าน/ชุมชนละไม่เกิน 200,000 บาท)
1.3 ลักษณะของโครงการ โครงการที่จะเสนอขอรับเงินอุดหนุนจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1.3.1 เป็นโครงการที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน หรือเป็นโครงการที่สามารถทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก
1.3.2 เป็นโครงการที่จะช่วยยกระดับหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนให้ดีขึ้น
1.3.3 เป็นโครงการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปะรรม
1.3.4 เป็นโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนความต้องการของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน
1.4 ความพร้อมและเงื่อนไขในการดำเนินโครงการ
1.4.1 โครงการ/กิจกรรมต้องมีความพร้อมในเรื่องสถานที่ดำเนินการ โดยต้องได้รับการอนุญาตใช้พื้นที่จากผู้มีอำนาจหน้าที่ก่อนที่คณะกรรมการบริหารงานอำเภอ/คณะกรรมการพิจารณาโครงการฯ ที่กรุงเทพมหานครแต่งตั้ง จะพิจารณาอนุมัติโครงการ และเป็นโครงการที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2561
1.4.2 กรณีเป็นโครงการที่จ้างแรงงาน ให้ใช้แรงงานคนไทยในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน หากไม่เพียงพอให้ใช้แรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน ห้ามจ้างแรงงานต่างด้าว โดยต้องจ้างแรงงานภายในวงเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณตามโครงการหมู่บ้าน/ชุมชน
1.4.3 กรณีการดำเนินโครงการร่วมกันระหว่างหมู่บ้าน/ชุมชน ตั้งแต่ 2 แห่ง ขึ้นไป ให้ดำเนินการร่วมกันได้เฉพาะกรณีเป็นโครงการที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันและจะต้องมีพื้นที่ดำเนินการติดต่อกัน โดย ให้ทำเป็น 1 สัญญาจ้าง และต้องใช้งปบระมาณของทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ร่วมกัน ในจำนวนที่เท่ากัน
1.5 โครงการ/กิจกรรมที่ห้ามดำเนินการ
1.5.1 ห้ามนำงบประมาณไปต่อยอดเงินกองทุนหมู่บ้าน/ชุมชน หรือในลักษณะกองทุนหมุนเวียน
1.5.2 ห้ามนำงบประมาณไปดำเนินโครงการ/กิจกรรม โดยวิธีหารเฉลี่ยหรือแบ่งเงิน สิ่งของ ให้กับประชาชนหรือครัวเรือนในหมู่บ้าน/ชุมชน
1.5.3 ห้ามแจกจ่ายเป็นเงินหรือสิ่งของให้กับประชาชนหรือครัวเรือนในหมู่บ้าน/ชุมชน
1.5.4 ห้ามนำไปใช้ในลักษณะให้ประชาชนกู้ยืม
1.5.5 ห้ามดำเนินโครงการฝึกอบรม สัมมนา ศึกษาดูงาน การจัดนิทรรศการ
1.5.6 ไม่เป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนแผนงานโครงการ/กิจกรรมของส่วนราชการ/หน่วยงาน/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้ตั้งงบประมาณไว้เพื่อจะดำเนินการในพื้นที่ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 หรือ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
1.5.7 ห้ามมิให้ดำเนินการที่เป็นสิ่งก่อสร้างในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เว้นแต่ได้รับการอนุญาตตามระเบียบกฎหมายก่อนดำเนินโครงการ
1.5.8 ห้ามก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม เกี่ยวกับศาสนสถาน สถานศึกษา/สถานที่ของทางราชการ ยกเว้น การดำเนินโครงการโดยใช้พื้นที่ภายในบริเวณศาสนสถาน สถานศึกษา/สถานที่ของทางราชการเป็นที่ตั้งโครงการที่เป็นสาธารณประโยชน์และได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่จากผู้มีอำนาจในสถานที่นั้น ๆ ก่อน
1.5.9 ห้ามดำเนินโครงการในที่สาธารณประโยชน์ ยกเว้น ซ่อมแซมสาธารณประโยชน์ที่มีอยู่แล้วในที่สาธารณประโยชน์ หรือโครงการที่เป็นการดูแลป้องกันที่สาธารณประโยชน์
1.5.10 ห้ามจัดทำโครงการซื้อครุภัณฑ์ เว้นแต่ เป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์จำเป็นเพื่อประกอบโครงการและจะต้องจัดทำแผนการใช้งาน บำรุงรักษาและมีคณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน หรือคณะกรรมการกลุ่ม หรือคณะกรรมการบริหารโครงการรับผิดชอบที่ชัดเจนเพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
1.5.11 ห้ามจัดซื้อครุภัณฑ์ยานพาหนะประเภทใช้เครื่องยนต์หรือเครื่องไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์สื่อสาร (เช่น วิทยุสื่อสาร โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น) กล้องวงจรปิด แผงโซล่าร์เซลล์ (พลังงานแสงอาทิตย์) วัสดุครุภัณฑ์ที่ผ่านการใช้แล้วและเครื่องออกกำลังกานที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
2. ขั้นตอนการดำเนินโครงการฯ
2.1 กรมการปกครองแจ้งหลักเกณฑ์ แนวทาง ขั้นตอน คู่มือการจัดทำโครงการฯ ให้จังหวัด/กรุงเทพมหานคร อำเภอ/เขต และคณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน ดำเนินการ
2.2 คณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน เรียกประชุมประชาคมเพื่อนำปัญหาความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชนที่ได้จากการประชุมประชาคมโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” มาพิจารณาคัดเลือกปัญหาความต้องการที่ตรงกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการตามข้อ 1 และจัดทำรายละเอียดโครงการตามแบบที่กำหนด รวมทั้งคัดเลือกคณะผู้รับผิดชอบโครงการ 3 คณะ แต่ละคณะจะต้องประกอบด้วยบุคคลที่ไม่ซ้ำกันเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ประกอบด้วย คณะผู้รับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้าง จำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน คณะผู้รับผิดชอบการตรวจรับพัสดุไม่น้อยกว่า 3 คน และคณะผู้รับผิดชอบการเบิกจ่ายเงินและจัดทำบัญชี ไม่น้อยกว่า 3 คน
2.3 คณะกรรมการบริหารงานอำเภอ หรือคณะกรรมการพิจารณาโครงการฯ ที่กรุงเทพมหานครแต่งตั้ง ประชุมพิจารณาอนุมัติโครงการและค่าใช้จ่ายของหมู่บ้าน/ชุมชน โดยให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในพื้นที่มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการด้วย โดยการพิจารณางบประมาณโครงการต่าง ๆ ที่หมู่บ้าน/ชุมชนเสนอ กรณีที่ทางราชการมีการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายหรือราคามาตรฐานเรื่องใดไว้แล้ว ให้ใช้หลักเกณฑ์ของทางราชการเป็นหลักในการพิจารณา และเมื่อคณะกรรมการฯ พิจารณาโครงการเสร็จสิ้นทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ในอำเภอ/เขต ให้ที่ ทำการปกครองอำเภอ/สำนักงานเขต จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามแบบที่ สงป. กำหนด
2.4 ผู้ว่าราชการจังหวัด/ปลัดกรุงเทพมหานคร พิจารณาแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอให้ สงป. (กองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ 1-18) พิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้ที่ทำการปกครองจังหวัด/กรุงเทพมหานคร โอนเงินตามวงเงินที่ได้รับอนุมัติเข้าบัญชีของหมู่บ้าน/ชุมชน (ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอิสลาม) และแจ้งคณะกรรมการระดับอำเภอ/เขตและคณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชนทราบ
2.5 คณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน ดำเนินโครงการตามที่ได้รับอนุมัติ เมื่อดำเนินโครงการ แล้วเสร็จ ให้จัดประชุมประชาคม เพื่อให้ความเห็นชอบผลการดำเนินโครงการและอนุมัติการเบิกจ่ายงบประมาณจากธนาคาร การดำเนินโครงการให้เบิกจ่ายได้เท่าที่ใช้จ่ายจริง หากมีเงินเหลือจากการดำเนินโครงการให้ส่งคืน ที่ทำการปกครองอำเภอ/สำนักงานเขต เพื่อส่งคืนที่ทำการปกครองจังหวัด/กรุงเทพมหานคร
2.6 ธนาคารแจ้งผลการเบิกจ่ายให้อำเภอ/เขตทราบ
2.7 อำเภอ/เขตรายงานผลการดำเนินโครงการให้จังหวัด/กรุงเทพมหานคร ทราบ เพื่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครรายงานกรมการปกครอง มท. สงป. และ กค. ทราย
2.8 สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยรายงานผลตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ต่อ สงป.
3. สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยจัดทำและเสนอขอความเห็นชอบแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 รวมทั้งเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณโครงการฯ ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อให้ สงป. จัดสรรงบประมาณ โดยให้กรมการปกครองและกรุงเทพมหานครขอทำความตกลงกับกรมบัญชีกลางเพื่อเบิกจ่ายแทนกันให้เป็นไปตามที่ กค. กำหนด
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 มีนาคม 2561