การดำเนินการตามมติคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 01 April 2018 12:54
- Hits: 990
การดำเนินการตามมติคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช
คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้เปิดตลาดสินค้ากากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภค และกากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ปี 2561– 2563 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ประธานกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชเสนอ
ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ให้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลและติดตามการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภคและกากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่จะมีการเปิดตลาดภายใต้กรอบการค้าต่าง ๆ ในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ตลอดจน พิจารณาทบทวนมาตรการการนำเข้าและแนวทางการบริหารการนำเข้าภายใต้กรอบการค้าต่าง ๆ ดังกล่าวเป็น ระยะ ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์การนำเข้าและสถานการณ์การตลาดภายในประเทศด้วย
สาระสำคัญของการเปิดตลาดและบริหารนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลือง พิกัดอัตราศุลกากร 2304.00.90 รหัสย่อย 02 เฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภค (รหัสสถิติ 002/KGM) และรหัสย่อย 29 เฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ (รหัสสถิติ 090/KGM) คราวละ 3 ปี (ปี 2561-2563)ดังนี้
1. การเปิดตลาดภายใต้กรอบWTO [ดำเนินการเปิดตลาดเช่นเดียวกับปี 2560]
1.1 ปริมาณตามที่ผูกพัน 230,559 ตัน ภาษีในโควตาร้อยละ 10 ภาษีนอกโควตา ร้อยละ 133
1.2 ให้มีการบริหารการนำเข้า ดังนี้
(1) เป็นนิติบุคคลที่ใช้กากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบในการผลิตในกิจการของตนเอง
(2) ให้นำเฉพาะด่านศุลกากรที่มีด่านพืชและด่านอาหารและยาเท่านั้น
(3) ผู้นำเข้ากากถั่วเหลือง รหัสย่อย 02 เฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภค (รหัสสถิติ002/KGM) จะต้องแสดงใบรับรอง Non-GMO จากประเทศผู้ผลิตต้นทางยื่นประกอบการนำเข้า
(4) สำหรับหลักเกณฑ์การจัดโควตา ให้เป็นไปตามที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนดการเปิดตลาดใต้กรอบการค้าอื่น ให้เป็นไปตามข้อผูกพัน ดังนี้
กรอบการค้า/รายละเอียด
1. เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) / ภาษีร้อยละ 0
2. ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) / ภาษีร้อยละ 0
3. ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) / ภาษีร้อยละ 0
4. ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) / ภาษีในโควตาร้อยละ 0 ภาษีนอกโควตาร้อยละ 133
5. เขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) / ภาษีในโควตาร้อยละ 0 ภาษีนอกโควตาร้อยละ 133
6. ความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลี (TCFTA) / ภาษีในโควตาร้อยละ 0 ภาษีนอกโควตาร้อยละ 133
7. ประเทศนอกความตกลง / ภาษีร้อยละ 6 และค่าธรรมพิเศษตันละ 2,519 บาท
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มีนาคม 2561