ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 03 March 2018 21:56
- Hits: 3466
ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พุทธศักราช 2481 พ.ศ. .... ของกระทรวงคมนาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับสำนักงาน ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนและพิจารณาจัดสรรในส่วนของอัตรากำลังให้กับกรมเจ้าท่า ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชกำหนด
1. กำหนดบทนิยามคำว่า 'เรือประมง' และ 'เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ'เพื่อให้สอดคล้องกับความหมายตามกฎหมายว่าด้วยการประมง และสอดคล้องกับระบบการจดทะเบียนเรือไทยที่กรมเจ้าท่าปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน
2. กำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการทางทะเบียนเกี่ยวกับเรือประมงและเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ
3. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจประกาศงดการจดทะเบียนเรือประมงเป็นการชั่วคราวครั้งละไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องควบคุมจำนวนเรือประมงเพื่อประโยชน์ในการป้องกันหรือปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยการประมง
4. กำหนดเหตุในการเพิกถอนทะเบียนเรือไทยและจำหน่ายสมุดทะเบียนเรือไทย
5. กำหนดหน้าที่ของเจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือประมงที่ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือไทยจะต้องแจ้งจุดจอดเรือเพื่อให้เจ้าท่าดำเนินการติดตั้งเครื่องมือควบคุมเรือไม่ให้เคลื่อนย้ายจากจุดจอดเรือ และห้ามมิให้มีการเคลื่อนย้ายเรือออกจากจุดจอดเรือ ปลด รื้อถอน ทำให้เสียหาย หรือทำลายเครื่องมือควบคุมเรือ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าหรือมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
6. กำหนดหน้าที่ให้เจ้าท่าต้องจัดให้มีการดูแลรักษาเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำที่ถูกเพิกถอนทะเบียนเรือไทย
7. กำหนดให้การแยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือประมงจะต้องมีหนังสือรับรองจากกรมประมงและต้องได้รับอนุมัติแผนดำเนินการจากเจ้าท่าก่อนทำการแยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือ และกำหนดให้ในกรณีมีข้อสงสัยว่าจะมีการแยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือจริงหรือไม่ ให้เจ้าท่าและเจ้าหน้าที่กรมประมงร่วมกันตรวจสอบ
8. กำหนดให้เจ้าของเรือแจ้งงดใช้เรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือเปลี่ยนประเภทเรือต่อนายทะเบียนเรือเพื่อประโยชน์ในการคงไว้ซึ่งทะเบียนเรือ
9. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจของเจ้าท่าในการเปรียบเทียบความผิดกรณีที่มีโทษปรับทางปกครองหรือมีโทษทางอาญาที่เป็นโทษปรับสถานเดียว
10. แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ โทษทางปกครอง และโทษทางอาญา และเพิ่มโทษทางปกครองเพื่อกำหนดมาตรการเพื่อรองรับการกระทำความผิดในส่วนที่เกี่ยวกับเรือประมง
11. กำหนดโทษทางอาญา โดยได้แก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษทางอาญาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอัตราโทษปรับเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขอัตราโทษตามประมวลกฎหมายอาญา และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
12. กำหนดให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจในการออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแจ้งกรณีเรือไทยที่ได้จดทะเบียนแล้วสูญหาย ถูกเพลิงไหม้โดยสิ้นเชิง อับปาง ทำลายหรือถูกละทิ้ง และกำหนดให้นายทะเบียนเรือเพิกถอนทะเบียนเรือไทย และจำหน่ายทะเบียนเรือไทยออกจากสมุดทะเบียนเรือไทย เพื่อการปฏิบัติงานของนายทะเบียนเรือมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
13. แก้ไขบทนิยามคำว่า 'เรือประมง' ให้หมายความรวมถึงเรือที่มีหรือติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ทำการประมง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำในทางการค้าด้วย
14. กำหนดเพิ่มเติมกรอบที่กรมประมงจะต้องคำนึงถึงในการออกหนังสือรับรองเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอที่ว่าควรออกอนุบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการในการออกหนังสือรับรอง ให้สอดคล้องกับ Compliance agreement ของ FAO
15. กำหนดให้การเปลี่ยนแปลงตัวเรือหรือส่วนอื่นของเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำจะต้องมีเจ้าหน้าที่กรมประมงเข้าร่วมดำเนินการกับเจ้าพนักงานตรวจเรือ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบความถูกต้องของการดำเนินการดังกล่าวด้วย
16. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจของรัฐมนตรีในการประกาศงดการจดทะเบียนเรือประมงเป็นการชั่วคราวให้เป็นไปตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ที่ว่าในกรณีมีความจำเป็นต้องควบคุมจำนวนเรือสำหรับการประมงเพื่อประโยชน์ในการป้องกันหรือปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยการประมง หรือเมื่อได้รับแจ้งการงดการออกใบอนุญาตทำการประมง หรือเรือที่ใช้ทำการประมงเกินจำนวนที่คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติกำหนด ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศงดการจดทะเบียนเรือประมงเป็นการชั่วคราวได้คราวละไม่เกินสองปี
17. กำหนดเพิ่มเติมอำนาจเจ้าท่าในการเข้าไปดำเนินการติดตั้งเครื่องมือควบคุมเรือหรือเครื่องมืออย่างใด ๆ ที่ไม่ให้เรือเคลื่อนจากจุดที่จอด และทำเครื่องหมายสัญลักษณ์ว่าเรือนั้นถูกเพิกถอนทะเบียนเรือได้ในท่าเรือของเอกชน
18. กำหนดให้อธิบดีกรมเจ้าท่ามีอำนาจออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแจ้งการงดใช้เรือและการเปลี่ยนประเภทเรือ รวมทั้งกำหนดให้การเปลี่ยนประเภทเรือประมงหรือเรือขนถ่ายสัตว์น้ำจะต้องมีการดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องจากเจ้าพนักงานตรวจเรือและเจ้าหน้าที่ของกรมประมงก่อนด้วย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561