WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง พ.ศ. ....

GOV11ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง พ.ศ. ....

 

    เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการวางหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ

     คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการวางหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

 

สคบ. เสนอว่า

    1. โดยที่พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 ได้บัญญัตินิยามคำว่า ‘ตลาดแบบตรง’ หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น ส่วนการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับมาตรา 38/5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียนเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

      2. ดังนั้น จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงดังกล่าวรวม 2 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและสอดคล้องกับการบังคับใช้กฎหมาย จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 และกำหนดจำนวนเงินหลักประกันที่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียนเพื่อมิให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและเป็นบุคคลธรรมดา และเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 อันจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคที่อาจได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการชดใช้ค่าเสียหายอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอกระบวนการทางศาล

       ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงขนาดหรือประเภทของการประกอบธุรกิจ ซึ่งร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 แล้ว

 

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

     1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้การขายสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากการขายสินค้า หรือให้บริการ ต่ำกว่า 1,800,000 บาทต่อปี และการขายสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เป็นการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง

      2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการวางหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้

     2.1 กำหนดให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจการขายตรงและตลาดแบบตรงวางหลักประกันต่อนายทะเบียน ณ สคบ. ตามแบบที่คณะกรรมการประกาศกำหนดสำหรับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักประกันให้ผู้วางหลักประกันขอรับคืนหลักประกันเดิม และวางหลักประกันใหม่ตามวงเงินหลักประกันเดิม ถ้าเอกสารและหลักฐานครบถ้วนถูกต้องและวางหลักประกันครบถ้วนแล้ว ให้นายทะเบียนมีคำสั่งรับทราบการแก้ไขเปลี่ยนแปลง และให้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาบังคับใช้ในกรณีที่มีการโอนกิจการด้วย

      2.2 กำหนดให้การพิจารณาวงเงินหลักประกันเป็นไปตามขนาดการประกอบธุรกิจ ดังนี้

 

การประกอบธุรกิจ

การยื่นคำขอการประกอบธุรกิจขายตรง

ขนาด / หลักประกัน (บาท)

               - เมื่อมีรายได้ก่อนหักรายจ่ายไม่เกิน 25 ล้านบาทต่อปี / 25,000

               - เมื่อมีรายได้ก่อนหักรายจ่ายตั้งแต่ 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี / 50,000

               - เมื่อมีรายได้ก่อนหักรายจ่ายเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี / 100,000

               - เมื่อมีรายได้ก่อนหักรายจ่ายเกิน 100 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป / 200,000

 

การประกอบธุรกิจ

การยื่นคำขอการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง

ขนาด / หลักประกัน (บาท)

               - กรณีบุคคลธรรมดา / 5,000

               - กรณีห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท / 25,000

               - กรณีบุคคลธรรมดา เมื่อมีรายได้ก่อนหักรายจ่ายไม่เกิน 25 ล้านบาทต่อปี / 5,000

               - กรณีห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เมื่อมีรายได้ก่อนหักรายจ่ายไม่เกิน 25 ล้านบาทต่อปี / 25,000

               - เมื่อมีรายได้ก่อนหักรายจ่ายตั้งแต่ 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี / 50,000

               - เมื่อมีรายได้ก่อนหักรายจ่ายเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี / 100,000

               - เมื่อมีรายได้ก่อนหักรายจ่ายเกิน 100 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป / 200,000

                              ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!