มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 03 February 2018 20:18
- Hits: 1587
มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยให้ อก. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน โดยประสานกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นหน่วยงานร่วมดำเนินการ
2. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วงเงิน 500 ล้านบาท ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณจากแหล่งเงินที่เหมาะสม
สาระสำคัญของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและการบริหารธุรกิจ SMEs เพื่อลดผลกระทบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีดังนี้
1. วัตถุประสงค์โครงการ
1) เพื่อให้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยเพิ่มผลิตภาพเพิ่มขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายของกิจการไปชดเชยภาระค่างแรงที่เพิ่มขึ้น
2) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ การลดความสูญเปล่า การลดต้นทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจ
3) เพื่อเพิ่มสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการและบุคลากรในสถานประกอบการ SMEs ให้มีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ
2. คุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และบุคลากรในภาคธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
3. การดำเนินโครงการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs เพื่อลดผลกระทบการขึ้นค่าแรง ขั้นต่ำ ในปีงบประมาณ 2561 มีการดำเนินกิจกรรมหลักที่สำคัญคือ
1) จัดตั้งคณะทำงานกำกับโครงการเพื่อร่วมกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ
2) จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการและประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสื่อต่าง ๆ
3) รับสมัคร และคัดเลือกสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ พร้อมทั้ง จัดสัมมนาชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการ
4) จัดทำฐานข้อมูลโครงการ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งเพื่อบันทึกผลการดำเนินงานของที่ปรึกษา ตลอดจนใช้ในการติดตามความคืบหน้าและผลการดำเนินโครงการ
5) สำรวจสถานประกอบการ ประเมิน วิเคราะห์ วินิจฉัย การดำเนินการของวิสาหกิจ (Assessment) และจัดทำข้อเสนอโครงการ (Proposal) รายกิจการ
6) จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) หรือ On the Job Training และให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการ โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 2 กลุ่ม ที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2561
7) ติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ พร้อมทั้งวัดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมเห็นผลชัดเจน
8) สรุปผลการดำเนินโครงการ โดยจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จ (Success Case) ของผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงรณรงค์เผยแพร่ในเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs จากโครงการดังกล่าว
4. กลุ่มเป้าหมายและระยะเวลาดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs เพื่อลดผลกระทบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มุ่งเน้นฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) หรือ On the Job Training และให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการ โดยกำหนดเป้าหมายผลการดำเนินการออกเป็น 3 ปี
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มกราคม 2561
การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง (ชุดที่ 19) ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น) ดำเนินการตามมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ได้ดำเนินการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561 โดยได้มีการศึกษาข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และได้มีการกำหนดสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยเทียบเคียงกับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส มาเลเซีย บราซิล และคอสตาริกา ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ยอมรับว่าเป็นสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สามารถดูแลคุณภาพชีวิตของลูกจ้างได้
การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561 มีดังนี้
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ(บาท/วัน) / จำนวน (จังหวัด) / จังหวัด
308 / 3 / นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
310 / 22 / กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราข พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุทัยธานี
315 / 21 / กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์
318 / 7 / กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสาคร
320 / 14 / กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราขสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี
325 / 7 / กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
330 / 3 / ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง
โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มกราคม 2561