แนวทางการตรวจลงตราสำหรับผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ (SMART Visa)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 27 January 2018 22:34
- Hits: 5336
แนวทางการตรวจลงตราสำหรับผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ (SMART Visa)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (สบนร.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบหลักเกณฑ์คุณสมบัติและสิทธิประโยชน์ภายใต้การตรวจลงตรา SMART Visa และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ดำเนินการออกประกาศกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิขอ SMART Visa ตามหลักเกณฑ์ข้างต้น โดยให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติพื้นฐานตามกฎหมายเกี่ยวกับคนเข้าเมืองตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงาน (รง.) เร่งรัดกำหนดช่องทางอำนวยความสะดวก (Fast Track) ในการยื่นขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้แก่บุตรของผู้ถือ SMART Visa ประเภทนักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ต่อไปด้วย
2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่รับรองผู้ประกอบการและกิจการต่าง ๆ ตามเงื่อนไขของ SMART Visa และในอนาคต หากมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่จะต้องดำเนินการให้มีการรับรองเชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ และกิจการต่าง ๆ เพิ่มเติม ให้ สกท. สามารถพิจารณามอบหมายได้ตามความเหมาะสม
3. เห็นชอบ
3.1 (ร่าง) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. 2540 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานมีอำนาจครอบคลุมการดำเนินการเกี่ยวกับ SMART Visa
3.2 (ร่าง) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าว บางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ สำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุนผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ .. พ.ศ. 2561
3.3 (ร่าง) ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 สำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูงและผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (SMART Visa) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ... พ.ศ. 2561 และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน และดำเนินการต่อไปได้
4. เห็นชอบให้เริ่มกระบวนการยื่นคำขอ SMART Visa ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561
5. เห็นชอบกรอบงบประมาณสำหรับการดำเนินการ SMART Visa ของ สกท. ในปี 2561 ในวงเงิน 38
6. เห็นชอบในหลักการการเพิ่มอัตรากำลังคนของ สกท. จำนวน 25 คน เพื่อปฏิบัติงานในศูนย์วีซ่าและใบอนุญาตทำงาน โดยในระยะแรกให้ สกท. พิจารณาจัดจ้างบุคลากรจ้างภาคเอกชน (Outsource) ไปพลางก่อน และขอเพิ่มอัตรากำลังจากสำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงาน ก.พ. ตามขั้นตอนต่อไป
7. รับทราบขั้นตอนการดำเนินการรับรองคุณสมบัติและการตรวจลงตราประเภท SMART Visa และแผนปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์การให้บริการของ SMART Visa
สาระสำคัญของเรื่อง
1. หลักเกณฑ์คุณสมบัติ และสิทธิประโยชน์สำหรับ SMART Visa ผู้มีคุณสมบัติได้รับ SMART Visa ประกอบด้วย บุคลากร 4 ประเภท ที่เข้ามาทำงานในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (10 S-curve) ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง (Talent) นักลงทุน (Invertor) ผู้บริหารระดับสูง (Executive) ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และผู้ติดตาม [คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (Other)] ของผู้ถือ SMART Visa
2. แนวทางการตรวจลงตรา การพิจารณาออก SMART Visa และแนวทางติดตามผู้ถือ SMART Visa สกท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดทำขั้นตอนการยื่นขอรับรองคุณสมบัติการมีสิทธิได้รับ SMART Visa ขั้นตอนการขอประทับตราวีซ่าหลังจากได้รับการรับรองผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ และขั้นตอนการขอต่ออายุ SMART Visa แล้ว โดยในการรับรองคุณสมบัติของผู้ยื่นขอ SMART Visa จะใช้ระยะเวลาดำเนินการรวมทั้งสิ้น 30 วันทำการ (นับตั้งแต่ชาวต่างชาติยื่นขอรับรองการเป็นผู้มีสิทธิได้รับ SMART Visa ณ OSS หรือสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ จนถึงการแจ้งผลการพิจารณา รวมทั้งได้กำหนดหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่รับรองคุณสมบัติการมีสิทธิได้รับ SMART Visa แล้ว
ทั้งนี้ ภายหลังจากได้รับ SMART Visa แล้ว ผู้ถือ SMART Visa ต้องยื่นเอกสารหลักฐานแสดงสถานภาพและข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน หลังจากวันที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวในราชอาณาจักร ณ OSS ทุก 1 ปี รวมทั้ง รง. และ ตม. จะดำเนินการติดตามตรวจสอบความถูกต้องของการพำนักและการทำงานของผู้ถือ SMART Visa ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
3. การแก้ไขกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการดำเนินการ SMART Visa สกท. มท. และ รง. ได้เสนอให้แก้ไขระเบียบและออกประกาศที่เกี่ยวข้อง โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
(ร่าง) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. 2540 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2547 เพื่อขยายขอบข่ายการบริหารของศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของ สกท. ให้รองรับการดำเนินการต่าง ๆ สำหรับผู้ถือ SMART Visa และผู้ติดตาม เช่น ขออนุญาตตรวจลงตราขอเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตราและการขออนุญาตอยู่ต่อในราชอาณาจักรเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายอื่นกำหนด
(ร่าง) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ สำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ .. พ.ศ. 2561 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ผู้ถือ SMART Visa และผู้ติดตามเข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งกำหนดระยะเวลาพำนักในประเทศไทยและสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ทั้งนี้ คุณสบัติของผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้เป็นไปตามที่ สกท. กำหนด (อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522)
(ร่าง) ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรได้รับการยกเว้นไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 สำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (SMART Visa) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ .. พ.ศ. 2561 เป็นการยกเว้นให้ผู้ถือ SMART Visa และผู้ติดตามได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตการทำงานคนต่างด้าว (Work Permit) ตามเงื่อนไขที่ สกท. กำหนด (อาศัยอำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มกราคม 2561