WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....)

GOV 5 ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....)

 

     เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร)

 

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้

       1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

     2. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

 

กค. เสนอว่า

      1. โดยที่ประเทศไทยมีอัตราการเกิดของประชากรลดลง อันเป็นผลจากประชากรมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น ทำให้มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง และจากข้อมูลการประมาณการประชากรไทย ปี 2553-2583 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าประเทศไทยอาจจะต้องเผชิญกับภาวะที่จำนวนประชากรทั้งประเทศลดลงหลังจากปี 2569 เป็นต้นไป และจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดที่มีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุถึงร้อยละ 30 ในปี 2579

      2. กค. จึงได้ดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตรตามมติคณะรัฐมนตรี (23 พฤษภาคม 2560) โดยยกร่างพระราชบัญญัติและร่างกฎกระทรวงเพื่อสนับสนุนการมีบุตรและเป็นการจูงใจให้คนไทยมีบุตรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีรายได้และอยู่ในระบบภาษี และยังเป็นการสนับสนุนให้บุตรได้รับการเลี้ยงดูและเติบโตอย่างมีคุณภาพอันจะทำให้ประเทศไทยมีกำลังแรงงานที่มีคุณภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในระยะยาว รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่ปรับเปลี่ยนเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดย กค. คาดว่าจะส่งผลทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณปีละสองพันห้าร้อยล้านบาท

      3. กค. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายนั้นต่อประชาชน พร้อมกับนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาจัดทำร่างกฎหมาย รวมถึงจัดทำคำชี้แจงตามหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) ตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

 

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

     1. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ปรับเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไปของผู้มีเงินได้ หรือของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ไม่ว่าบุตรคนก่อนหน้าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ ให้หักลดหย่อนได้เพิ่มอีก 30,000 บาท ต่อคนต่อปีภาษี และให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2561 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

     2. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสสามารถนำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราว แต่ไม่เกิน 60,000 บาท หากการจ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรเกิน 1 ปีภาษีสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราว ให้หักลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท ทั้งนี้ สำหรับค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

     และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยสิทธิในการหักลดหย่อนสำหรับค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรข้างต้น ให้เฉพาะผู้ที่ไม่ได้มีการเบิกค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และคลอดบุตรจากแหล่งอื่น ๆ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ เป็นต้น ซึ่งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวจะเป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

        ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มกราคม 2561

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!