- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 15 December 2014 07:30
- Hits: 3909
วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8782 ข่าวสดรายวัน
นายกฯ วอนคนไทยยึดประเทศชาติต้องมาก่อน ขอให้ชาวสวนยางฟังกันบ้าง ชี้ที่ผ่านมาราคาดีเพราะมีการเบี่ยงเบนราคาที่แท้จริง โพลเผยคะแนนนิยมในรอบ 6 เดือน'ยิ่งลักษณ์'เพิ่ม 4.3% อภิสิทธิ์ เพิ่ม 1.1% สปช.นัด 15-17 ธ.ค.นี้พิจารณาข้อเสนอยกร่างรธน.ของกมธ. 18 คณะ'สมบัติ ธำรงธัญวงศ์'ท้าให้ถามประชาชนถึงการเลือกตรง นายกฯ พร้อมถอนถ้าไม่เห็นด้วย'สมคิด-เทียนฉาย'มั่นใจปฏิรูปประเทศสำเร็จถ้าทุกฝ่ายร่วมมือ พร้อมรับฟังกลุ่มเห็นต่าง ป.ป.ช.ยันไม่สอบพยานเพิ่มในคดีจำนำข้าว'ยิ่งลักษณ์'ตามคำขออัยการ อ้างไม่เกี่ยวกับเรื่องจีทูจี'แม่เกด'ค้านออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมารวมตั้งแต่ป'48-57 ชี้กปปส. ทำบ้านเมืองเสียหาย แนะให้รอรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง "ตู่"ลั่นทบทวนบริหารจัดการน้ำ เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 13 ธ.ค. สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย(สทท.) ช่อง 11 นำเทปการสัมภาษณ์พิเศษ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ถึงผลการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 25 ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลี ที่นคร ปูซาน เกาหลีใต้ วันที่ 10-12 ธ.ค.ที่ผ่านมา มาออกอากาศ มีความยาว 30 นาที พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งถึงการพบปะภาคธุรกิจของเกาหลีว่า มีการพูดคุยเชิญชวนให้มาลงทุนในไทยมากขึ้น และยังทบทวนพันธสัญญาต่างๆ ที่เคยทำไว้ ซึ่งในส่วนของการบริหารจัดการน้ำจะกลับไปทบทวนอีกครั้งเพราะรัฐบาลและคสช.ได้จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำใหม่ที่ขยายขอบเขตการบริหารจัดการน้ำมากขึ้นกว่าเดิม คิดว่าต้องคุยกันใหม่ทั้งหมด ตนย้ำเรื่องความจำเป็นของไทยคืองบประมาณที่ยังมีปัญหา หากจะดำเนินการระยะยาวในครั้งเดียวคงทำได้ลำบาก จึงเสนอว่าเราต้องพูดคุยกันต่อเพื่อดูว่าจะทำทั้ง 3 อย่างได้หรือไม่ คือลงทุนร่วม จ้างเขาดำเนินการ และแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งเขารับปากจะไปดู "แต่ผมดูแล้วเขาพยายามจะพูดถึงเรื่องเดิม แต่ผมบอกว่า เดี๋ยวเราขอกลับไปทบทวนก่อน เพื่อไม่ให้มันเกิดปัญหาของประเทศเรา ขออย่ากังวลเราจะทำเรื่องนี้ให้โปร่งใสที่สุด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวและว่า ตนบอกไปว่าตอนนี้ประเทศเรามีความสงบเรียบร้อยมีเสถียรภาพ และไม่ต้องห่วงว่าเราจะไม่ดูแลผลประโยชน์ของเขาในไทย ถ้านับจริงๆ ตนถือว่าเกาหลียังลงทุนในไทยน้อยถ้าเทียบกับประเทศอื่น แต่ต้องมาคิดว่าวันข้างหน้าจะทำอย่างไร ตนได้ย้ำว่าทุกโครงการที่จะทำกับไทยต้องไม่มีการทุจริต และขอให้เขาเชื่อมั่นในการดูแลเขาในไทย วอนคนไทยยึดปท.ต้องมาก่อน "คนเกาหลีให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการทำงาน แม้ภายในประเทศเขาจะมีปัญหาทางการเมือง แต่เมื่อใดเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำงาน เขาไม่ขัดแย้งเพราะเขาเอาประเทศชาติมาก่อน ผมจึงอยากพูดกับคนไทยทุกคนว่านี่เป็นสิ่งสำคัญว่าประเทศชาติต้องมาก่อนเสมอ เรื่องอื่นเป็นเรื่องภายใน เราก็ต้องแก้กันเองให้ได้ อย่าให้เสียชื่อประเทศ ผมอยากบอกว่าถ้ารัฐบาลเราไม่มีเสถียรภาพ ก็จะทำอะไรไม่ได้เลย ความเชื่อมโยง การก่อสร้างถนนไม่ได้เลย ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไข ซึ่งการแก้ไขไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่แค่รัฐบาลแต่ทั้งหมดต้องช่วยกัน หาจุดยืนของตัวเองให้ได้ว่าเราจะเดินยุทธ ศาสตร์ประเทศไปอย่างไร เราต้องมีการพัฒนา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว นายกฯกล่าวว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำประเทศ ครั้งที่ 5 แผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ(จีเอ็มเอส) วันที่ 19-20 ธ.ค.นี้ เป็นการจัดประชุมครั้งแรกในรัฐบาลนี้ ขอให้คนช่วยกันเป็น เจ้าภาพที่ดี ดูแลบ้านเมืองให้สะอาดปลอดภัย เขาจะได้มาลงทุนมาเที่ยวกันบ่อยๆ ถ้าเราไม่อยากให้ประเทศหยุดชะงักการเจริญเติบโต ก็ไม่ควรหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน ตนเป็นห่วงว่าสถานการณ์ต่อไปนี้ในห้วงที่มีการปฏิรูปจะไปกันอย่างไร ซึ่งต้องไปคิดกันเอาเอง ต้องปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่ ให้ว่ากันไป ตนยังไม่เกี่ยวข้อง นายกฯ กล่าวว่า อยากให้คนไทยรวมจิตใจเป็นหนึ่งเดียวทำประเทศชาติให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า เราหยุดรอเขามานานแล้ว วันนี้ถ้าเรายังหยุดอยู่ ยังขัดแย้งกันอยู่ เราจะก้าวไม่ทันประเทศอื่นๆ เราจะแก้ไขอะไรไม่ได้ทั้งระบบ จะย้อนกลับมาที่ประชาชนที่เป็นศูนย์กลาง มีความยากจน ไม่มีรายได้ที่เพียงพอ ความขัดแย้งก็เกิดขึ้น การเรียกร้อง การสนับสนุนก็ทำไม่ได้แล้ว แนะเกษตรกรใช้หลักพอเพียง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มีบางประเทศมาพูดกับตนว่าเคยมีการเรียกร้องให้รัฐบาลซื้อข้าวราคาเดียวกับไทย เขาก็บอกว่าทำไม่ได้เพราะสภาเขาไม่ยอม ก็ยังห่วงว่าเราทำไปได้อย่างไร แต่เมื่อทำมาแล้วก็ทำไป ตนไม่อยากทำให้เสียชื่อเสียงประเทศ ก็ไปแก้กันด้วยกระบวนการอื่นๆ ซึ่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้น ก็ต้องทำให้โลกมีความต้องการมากขึ้น ตัดพ่อค้าคนกลางได้ สร้างความเข้มแข็ง ลดต้นทุนการผลิต กรณียางพารา ตนดูแลตัวเลขการผลิตแล้วพบว่าต้นทุนต่อกิโลกรัม 60 กว่าบาท ถือว่าแพง ต่างประเทศ 25, 35, 40 บาท แล้วเราจะไปขายใครให้ได้กำไร ดังนั้น ต้องดูว่าจะลดต้นทุนได้อย่างไร เรามีทั้งเจ้าของและผู้รับจ้างกรีด ซึ่งก็คือปัญหาของเรา ฉะนั้น ระดับล่างต้องช่วยกันทั้งนายกสมาคมยางและประชาชนต้องฟังกันบ้างว่าเราจะเงินที่ ไหนมาอุดหนุนเยอะๆ รวมทั้งข้าวด้วย ต้องใช้เวลาและทำอย่างไรถึงจะอยู่ได้ "คงต้องใช้ความพอเพียง วันนี้ทุกคนบอกว่ามีหนี้สินเยอะเพราะตอนนั้นราคามันดี แต่ต้องถามว่าราคาดีมันใช่ของจริงหรือไม่ มันเบี่ยงเบนกันมาหรือไม่ นั่นแหละมันคือปัญหา วันนี้ถ้าให้ มันดีแน่นอนแต่วันหน้าก็เป็นอีก กลับมาตกหลุมเดิมคือการอุดหนุนมันเป็นปัญหา รอบบ้านเขาเลิกหมดแล้ว ดังนั้น ไทยต้องเข้าใจสถานการณ์โลกและรู้จักฟังเหตุผล คิดกันว่าจะให้ประเทศเดินหน้าไปทางไหน ถ้าจะตามหลังเขาเป็นประเทศด้อยพัฒนาก็เอา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว ทอ.อยากได้รธน.แบบที่ปชช.ต้องการ เวลา 12.00 น. ที่จ.เชียงใหม่ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผบ.ทอ. และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงข้อเสนอต่างๆ ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญว่า ตนไม่ขอก้าวล่วงเพราะมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) อยู่แล้ว โดยคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังดำเนินการอยู่เช่นกัน ขอให้รอดูข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ ซึ่งตนอยากได้รัฐธรรมนูญแบบที่ประชาชนต้องการ พล.อ.อ.ตรีทศกล่าวถึงสหรัฐเปิดเผยข้อมูลคุกลับในพื้นที่กองบิน 23 กองทัพอากาศว่า ยืนยันไม่มีคุกลับ และไม่ทราบว่ามีคุกลับด้วย อีกทั้งไม่ทราบว่าข่าวมาจากไหน 'ประเวศ'ชงตั้งเครือข่ายปฏิรูป เมื่อเวลา 08.00 น. ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เขตบางกะปิ คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สปช. ร่วมกับพอช. สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (สปพส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพแห่งชาติ (สสส.) และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันจัดการสัมมนาเรื่อง "สานพลัง ปฏิรูปสังคม ให้ชุมชนเข้มแข็ง" นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวปาฐกถาหัวข้อปฏิรูปสังคม ให้ชุมชนเข้มแข็งว่า ประเทศไทยลองผิดลองถูกในเรื่องต่างๆ จนได้เรียนรู้แล้วว่าการปฏิรูปการเมืองอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะวิกฤตของประเทศมีสาเหตุมาก เป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมโยงสลับซับซ้อน จะต้องมีการปฏิรูปประเทศไทยในทุกด้าน ซึ่งการปฏิรูปครั้งนี้ถือเป็นความพยายามครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ที่จะแก้ปัญหาชาติ โดยมี สปช.เป็นเจ้าภาพ เช่น ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น การศึกษา การเมือง นพ.ประเวศ กล่าวว่า จากงานวิจัยพบว่าภูมิภาคของประเทศไทยมีสภาพสังคมไม่เหมือนกัน โดยทางภาคเหนือ เป็นสังคมในแนวราบ มีคนร่วมคิดร่วมทำในเรื่องต่างๆ ส่วนภาคใต้สังคมเป็นทางดิ่ง สังคมอ่อนแอเพราะมีการสั่งการแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนภาพรวมประเทศไทยเป็นสังคมในทางดิ่ง พัฒนาอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ฉะนั้น การปฏิรูปสังคมให้กลายจากแนวดิ่งเป็นแนวราบจึงสำคัญ ตนจึงเสนอให้มีเครือข่ายพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งจะขยายตัวจากการปฏิรูปครั้งนี้ หลังจากสปช.ชุดนี้หมดวาระเนื่องจากสปช.มีวาระแค่ 1 ปี แต่กระบวนการปฏิรูปต้องมีอีก 10-20 ปี เพื่อทำงานต่อเนื่อง ท้ายที่สุดตนเสนอให้ออกกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือปฏิรูปสังคมต่อไป 'สมคิด'ชี้โอกาสเปิดปฏิรูปปท. ต่อมานายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของนายกฯและที่ปรึกษาคสช. กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องสานพลัง ปฏิรูปสังคม ให้ชุมชนเข้มแข็งว่า การเริ่มต้นปฏิรูปวันนี้ถือเป็นจุดสำคัญ ซึ่งแนวคิดการปฏิรูปประเทศ ถือเป็นประเด็นของการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นความหวังของประชาชนทั้งประเทศ "ผมทำงานการเมือง 6 ปี เคยเตือนหลายครั้งว่าประเทศนี้ต้องการปฏิรูป แต่ผ่านมานับสิบปี ผ่านรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย แต่ไม่เคยเห็นเป็นรูปธรรม เห็นแต่รายงานปฏิรูป ข้ออ้างมากที่สุดคือโอกาสมันไม่เปิด พวกเรามักคิดว่าปกติการปฏิรูปหมายถึงการเปลี่ยนเเปลง และในทางการเมืองสิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ชนะเลือกตั้งเพื่อกลับมา บริหารราชการแผ่นดิน ทำให้ความตั้งใจจริงในการปฏิรูปจึงเป็นเรื่องรอง วันนี้โอกาสเปิด จึงเป็นโอกาสปฏิรูป อุปสรรคข้อนี้ตกไปแต่ทำได้หรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง ข้ออ้างที่สอง ผู้นำไม่ได้มุ่งมั่นปฏิรูปแท้จริงเพราะการปฏิรูปต้องเริ่มจากผู้นำ ที่จะบอกปัญหา ชี้ทิศทาง กระตุ้นคนให้เห็นร่วมกันถึงจะทำได้ ที่ผ่านมาในวงการเมือง ความจริงใจมี ส่วนความจริงจังไม่แน่ใจ แต่ขณะนี้ความจริงจัง จริงใจ ตั้งใจที่จะให้มีการปฏิรูป เริ่มเห็นแล้ว" นายสมคิดกล่าว แนะเร่งทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง นายสมคิด กล่าวว่า จะเห็นว่าผู้นำประเทศประกาศแน่วแน่ต้องการปฏิรูป ผ่านสปช. ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในไทย แต่ครั้งนี้เกิดขึ้น โดยคสช.จะเป็นตัวขับเคลื่อนการปฏิรูปคอร์รัปชั่นที่แท้จริง ทั้งนี้ การปฏิรูปไม่ได้อยูที่สปช. แต่อยู่ที่ภาคพลเรือนช่วยกัน ต้องรวมตัวและเข้าร่วมอย่างจริงจังและมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จึงต้องทำให้ประชาชนมีความเข้าใจข้อมูลด้านการปฏิรูปให้ตรงกัน จำเป็นต้องมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ตนไม่อยากให้การปฏิรูปในไทยเป็นแบบฟิลิปปินส์ แม้ภาคประชาชนเข้มเเข็ง โค่นล้มเผด็จการได้ แต่ไม่สามารถปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ และมีคอร์รัปชั่นตามมาอย่างมาก และใช้เวลายาวนานกว่าจะดีขึ้นเพียงเล็กน้อยในปัจจุบัน ตรงข้ามกับเกาหลีใต้ที่พลเมืองตื่นตัวมากในการตรวจสอบนักการเมือง และเน้นต่อต้านการคอร์รัปชั่นจนทำให้ประเทศพัฒนา ขณะที่ประเทศไทยเอง ประชาชนยังมีความสำคัญน้อยกว่านักการเมืองมาก จึงจำเป็นต้องทำให้ภาคประชาชนไทยเข้มเเข็ง และต้องเริ่มจากการต่อต้านการคอร์รัปชั่นก่อน เทียนฉายเชื่อปฏิรูปเกิดได้จากทุกฝ่าย จากนั้นนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องสานพลัง ปฏิรูปสังคม ให้ชุมชนเข้มแข็งว่า กุญแจสำคัญในการปฏิรูปคือการเลือกปฏิรูปในบางเรื่องที่มีนัยยะและผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เพราะเมื่อปฏิรูปแล้ว ต้องบรรลุ เป้าหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ลำพังกมธ.เพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ เพราะบางประเด็นที่ต้องแก้ไขนั้นมีความเชื่อมโยงมากกว่า 1 กมธ. เช่น การต่อต้านการทุจริต มีการเชื่อมโยงทั้ง กมธ.การเมือง กมธ.การศึกษา นายเทียนฉาย กล่าวว่า สปช.และกมธ. ทำหน้าที่แค่มองกรอบปฏิรูป สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องช่วยกัน เริ่มจากการสำนึก ออกแรงคิด ออกแรงทำ และตั้งใจทำ เพื่อส่งข้อเสนอมาให้ สปช. จะได้ช่วยกันทำให้สำเร็จ ซึ่ง วันที่ 15-17 ธ.ค.นี้สปช.จะประชุมวิเคราะห์ข้อเสนอต่างๆ และวันที่ 18 ธ.ค.นี้ จะขัดเกลาข้อเสนอให้เสร็จ เพื่อส่งความเห็นต่อกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ประธานสปช. กล่าวว่า สปช.ได้เตรียมของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนแล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปไม่เกินกลาง ม.ค. 2558 โดยจะจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติโดยภาคประชา ชน เพื่อตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่และองค์กรของรัฐ รวมทั้งมีหน้าที่ตรวจสอบบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ยืนยันว่าองค์กรนี้จะจัดตั้งและทำได้จริงอย่างแน่นอน ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือรายละเอียดเพิ่มและจะเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาแฝงของภาครัฐด้วย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดไม่ได้มาจาก สปช. แต่เป็นข้อเสนอที่ได้มาจากภาคประชาชน พร้อมรับฟัง-ผลักดันความเห็นต่าง ต่อมาเวลา 11.30 น. นายเทียนฉายแถลง ว่า การปฏิรูปจะเป็นรูปธรรมหลังปีใหม่ ส่วนการรับฟังความคิดเห็นจากทั้งกมธ.ของ สปช. และคณะอนุกมธ.ของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคืบหน้าไปมาก เราจะพิจารณาว่าประเด็นใดเป็นเรื่องปฏิรูปก็จะส่งให้ สปช. ดำเนินงาน ส่วนประเด็นใดเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญก็เป็นความรับผิดชอบของกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งข้อเสนอที่ได้ทั้งหมด คาดว่าจะเริ่มนำมาประมวลผลได้ภายในสิ้นเดือนธ.ค.นี้ เมื่อถามว่า จะรับฟังข้อคิดเห็นเวทีประชาชนที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอนุกมธ.และกมธ.ผ่านช่องทางใด และจะปกป้องประชาชนที่ถูกฝ่ายความมั่นคงคุกคามได้อย่างไร นายเทียนฉายกล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ไม่ปกติ อยู่ระหว่างการบังคับใช้กฎอัยการศึกอยู่ แต่จุดยืนของสปช.คือเราพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูป ดังนั้น ภาคประชาชนหรือเวทีใดที่มีข้อเสนอแนะ ขอให้ทำเป็นรายงานเสนอต่อสปช. ยืนยันว่าจะนำมาพิจารณาว่าข้อเสนอนั้นเป็นประเด็นใด หากเกี่ยวกับการปฏิรูป สปช.จะรับไปดำเนินการ แต่หากเป็นข้อเสนอแก้ปัญหาระยะสั้นที่เกี่ยวกับนโยบาย สปช.จะเสนอต่อไปให้รัฐบาล มั่นใจสปช.ยอมรับเนื้อหารธน.ใหม่ นายเทียนฉาย กล่าวว่า หากความเห็นของสปช.ไม่ตรงกับกมธ.ยกร่างฯ ตนเชื่อว่าไม่เป็นปัญหา เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ระบุว่าให้กมธ.ยกร่างฯฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากสปช. ครม. สนช. และคสช. รวมถึงความเห็นของภาคประชาชน เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ จะเห็นว่าประเด็นนี้ไร้ปัญหา สุดท้ายหากกมธ.ยกร่างฯ เขียนออกมาแนวทางใดแนวทางหนึ่ง เชื่อว่าสปช.จะให้การยอมรับ เพราะหากสปช. ไม่ยอมรับสิ่งที่กมธ.ยกร่างฯเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับสปช.เป็นเผด็จการ เสียเอง ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนติดตามการถ่ายทอดสดเนื้อหาสาระแต่ละข้อเสนอที่จะอภิปรายการในประชุมสปช. วันที่ 15-17 ธ.ค.นี้ ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที กมธ.การเมืองชงเลือกนายก-ลดส.ส. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเทียนฉายนัด ประชุมสปช. วันที่ 15-17 ธ.ค. เพื่อพิจารณารายงานข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญของกมธ.วิสามัญประจำสภา 18 คณะ ซึ่งรายงานดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1.กมธ.ปฏิรูปการเมือง เสนอให้ประชา ชนเลือกตั้งนายกฯ และครม.โดยตรง โดยให้พรรคการเมืองระบุชื่อนายกฯ และครม.ทั้งคณะ หากปรากฏว่าการเลือกครม.รอบแรกไม่มีผู้สมัครคณะใดได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ให้นำคณะที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งและสองมาเลือกตั้งใหม่ ภายในเวลาที่กำหนด ระหว่างการเลือกตั้งให้มีรัฐบาลรักษาการ ให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รักษาการแทนรัฐ มนตรี การเลือกตั้งส.ส. กำหนดให้มีส.ส. 350 คน ใช้ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครจะเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ก็ได้ ส่วนส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และเลือกจากกลุ่มองค์กรวิชาชีพและกลุ่มอาชีพอื่นๆ อีก 77 คน รวม 154 คน นอกจากนี้ เสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจฟ้องคดีได้เอง ไม่ต้องผ่านอัยการ และให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ และควรตั้งศาลว่าด้วยคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ส่วนการยุบพรรค กมธ.การเมืองเห็นว่าควรยุบได้เฉพาะกรณีที่กระทำความผิดร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ เมื่อมีคำพิพากษาของศาลยุติธรรมถึงที่สุด ส่วนการสร้างความปรองดองนั้น พรรคหรือกลุ่มการเมืองห้ามกระทำการใดๆ ที่ทำลายความเป็นเอกภาพของชาติหรือสร้างความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ให้ศาลนักการเมืองอยู่ในศาลอุทธรณ์ 2.กมธ.ปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน เสนอตั้งคณะกรรมการจริยธรรมและธรรมา ภิบาลแห่งชาติ รับผิดชอบพัฒนาระบบและกลไกการใช้หลักธรรมาภิบาลบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดแนวทางจำกัดอำนาจและปรับลดบทบาทภาครัฐลง รวมทั้งลดการแทรกแซงของภาครัฐในกลไกตลาด และการบริหารราชการต้องมีการจัดแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว มุ่งเน้นผลประโยชน์ชาติและประชาชนแท้จริง ไม่ใช่ยึดตามนโยบายพรรคหาเสียงจนขาดความต่อเนื่องและรอบคอบ 3.กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เสนอให้รัฐมีมาตรการที่เด็ดขาดในการป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ห้ามมิให้ข้าราชการที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ข้าราชการอื่น และ เจ้าหน้าที่ของรัฐไปดำรงตำแหน่งในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เว้นแต่หน่วยงานที่ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจนั้นให้เข้าไปดำรงตำแหน่งได้เท่าที่จำเป็น และมีศาลแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลอุทธรณ์ ให้เป็นระบบศาล 2 ชั้น 4.กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น เสนอให้รัฐต้องส่งเสริมความเป็นอิสระทางการคลังของท้องถิ่น จัดให้มีระบบคู่ขนานคือจัดสรรงบประมาณตามพื้นที่ ควบคู่การจัดสรรงบประมาณตามภารกิจ ภายใต้หลักการมุ่งสร้างความยืดหยุ่นคล่องตัวให้ท้องถิ่น ซึ่งรายได้ของรัฐที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นใดให้ขึ้นบัญชีเป็นรายได้ท้องถิ่นนั้น ทั้งนี้รายได้ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นให้จัดสรรแก่ท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 จัดระบบบำเหน็จบำนาญประชาชน 5.กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เสนอให้มีคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์การศึกษาและวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นองค์กรอิสระที่ปราศจากการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ 6.กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง เสนอให้บุคคลพึงแสดงสถานะรายได้ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้มีรายได้ไม่เพียงพอได้รับความช่วยเหลือจากรัฐและให้ ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี โดยผู้เสียภาษีมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย เสียภาษีไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนดอย่างเป็นธรรม ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ให้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีได้ รวมทั้งได้รับความคุ้มครองในสิทธิส่วนบุคคล และรัฐต้องจัดให้มีระบบบำเหน็จบำนาญของประชาชน คำนึงถึงความเพียงพอในการยังชีพหลังเกษียณและไม่เป็นภาระทางการคลัง เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ 7.กมธ.ปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ เสนอให้รัฐต้องกำหนดนโยบายและมาตรการ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์แห่งชาติ คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน อาจกำหนดเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ให้ครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด ร้อยละ 10 ให้มีรายได้เฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อปี และปรับปรุงกฎหมายการค้าเพื่อป้องกันการผูกขาดทางการค้า ตั้งศาลสวล.-คุ้มครองเสรีภาพสื่อ 8.กมธ.ปฏิรูปพลังงาน เสนอให้ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงธรรมชาติอื่นๆ เป็นทรัพยากรของชาติมีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น นอกจากนี้ต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงาน จัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการ ราคาพลังงานที่ผู้บริโภคจ่ายต้องไม่อยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการกิจการพลังงานได้กำไรเกินควร แต่ไม่ทำให้ผู้ประกอบการขาดทุน และราคาพลังงานต้องสะท้อนต้นทุนแท้จริง 9.กมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข เสนอให้รัฐสนับสนุนและจัดสรรทรัพยากรสำหรับบริการสาธารณสุขให้เพียงพอและยั่งยืน สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจและสังคม คำนึงถึงมาตรฐานความทั่วถึง ความเป็นธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ 10.กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอให้รัฐจัดให้มีระบบและแผนบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืน ควบคู่การบังคับใช้กฎหมายจริงจัง เปิดให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงการใช้ประโยชน์และทรัพยากรอย่างเท่าเทียม และจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมเพื่ออำนวยความยุติธรรม และเป็นกลไกทำหน้าที่ขจัดปัญหาความขัดแย้งด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 11.กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ เสนอให้รัฐธรรมนูญต้องประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงสิทธิการรับรู้และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐอย่างทั่วถึงและความเสมอภาค ทั้งนี้ สื่อมวลชนย่อมได้รับหลักประกันความเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำและแทรกแซงจากอำนาจรัฐและทุน ต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบการทำงานของสื่อ และกำกับดูแลการสื่อสารที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้ในสังคม ห้ามคนโกงนั่งเก้าอี้การเมือง 12.กมธ.ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส เสนอให้รัฐธรรมนูญต้องรับรองการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ และสภาพแวดล้อมสาธารณะ โดยเฉพาะสภาพแวด ล้อมทางกายภาพ การขนส่ง ข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนการบริการอื่น รวมทั้งการช่วยเหลืออย่างสมเหตุสมผล ปราศจากการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม 13.กมธ.ปฏิรูปแรงงาน เสนอให้รัฐมีระบบประกันสังคมที่คุ้มครองแรงงานที่ขาดรายได้ และส่งเสริมการออมในหมู่ผู้ใช้แรงงานไทย มีระบบความปลอดภัยในการทำงาน ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองแรงงานสตรีที่มีภาระครอบครัว และกลุ่มแรงงานเปราะบางอื่นๆ 14.กมธ.ปฏิรูปป้องกันและปราบปรามการทุจริตมิชอบ เสนอให้ประชาชนมีหน้าที่สอดส่องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ เสนอให้รัฐต้องจัดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบไม่ให้ผู้เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองเด็ดขาด และมีกลไกตรวจสอบความประพฤติ และการปฏิบัติของผู้นำและผู้ดำรงทางการเมือง ตั้งศาลคดีผู้บริโภคในศาลยุติธรรม 15.กมธ.ปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา เสนอให้มีแผนแม่บทระดับชาติ เพื่อพัฒนาและสนับสนุนการสร้างงานศิลปะ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และจัดตั้งองค์กรสมัชชาศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ ดึงทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม 16.กมธ.ปฏิรูปการกีฬา เสนอให้รัฐต้องส่งเสริมพัฒนาการกีฬาเพื่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต จิตใจ รวมทั้งสร้างความสามัคคีและความภาคภูมิใจของคนในชาติ รวมทั้งสนับ สนุนให้เกิดความเป็นเลิศและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 17.กมธ.ปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา เสนอให้รัฐส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อปฏิรูปสังคมไทยให้เกิดฐานความรู้ที่ถูกต้อง รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของแผนการพัฒนาประเทศ 18.กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค เสนอให้มีองค์การคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากรัฐ เพื่อให้สิทธิผู้บริโภคได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง และตั้งศาลคดีผู้บริโภคในศาลยุติธรรม มีผู้พิพากษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้พิพากษาต้องมีบทบาทเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เสียเปรียบในการดำเนินคดี สมบัติชี้เลือกตั้งนายกฯแก้โครงสร้าง เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สถาบันพัฒนบริหาร ศาสตร์ (นิด้า) นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวปาฐกถาพิเศษในการเสวนา "ปฏิรูปอย่างไร ให้ก้าวไกลมั่นคง" ว่า ข้อเสนอการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นระบบที่มีความล้มเหลว เห็นได้จากการเลือกนายกฯ ของประเทศอิสราเอลนั้น อิสราเอลมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งในปี 2535 โดยนายกฯ ต้องเป็นส.ส. มีหน้าที่เลือกส.ส.ในสภามาเป็นรัฐมนตรีครึ่งหนึ่งของครม. แต่ต่อมาอิสราเอลมีปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลและความขัดแย้งของกลุ่มการเมือง ในปี 2544 จึงยกเลิกวิธีนี้ ดังนั้น การบอกว่าการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงไม่ดีเหมือนอิสราเอลเป็นการพูดไม่ครบ นายสมบัติกล่าวว่า ข้อเสนอแบ่งแยกอำนาจให้ที่มาของนายกฯ และ ครม.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีสาเหตุมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ ส.ส.จำนวนมากมาจากการซื้อสิทธิขายเสียง การให้อำนาจส.ส.เลือกนายกฯ ผลที่ตามมาคือนายกฯ ต้องให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับส.ส. รัฐบาลมีอำนาจเหนือสภา ฝ่ายค้านไม่มีคะแนนเสียงเพียงพอตรวจสอบรัฐบาล ข้อเสนอดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาทางโครงสร้าง ฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ทำหน้าที่บริหารอย่างเดียว ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ออกกฎหมายและตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ส่วนระบบที่มาแทนการอภิปรายไม่ไว้วางใจคือการให้ฝ่ายนิติบัญญัติร้องต่อศาลคดีการเมืองได้โดยตรง หากพบว่ามีความผิดให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งได้เลย พร้อมถอนถ้าปชช.ไม่เห็นด้วย นายสมบัติกล่าวว่า การแบ่งแยกอำนาจเลือก ครม.ของ กมธ.สอดคล้องกับข้อเสนอของสนช. อาจแตกต่างกันในวิธีการ และนิด้าโพลสำรวจความคิดเห็น ซึ่งประชาชนร้อยละ 70 เห็นชอบกับการเลือกนายกฯ โดยตรง ทั้งหมดจึงยืนยันได้ว่าแนวคิดนี้ใช่ว่าจะมีแต่คนไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอว่าควรสอบถามความเห็นประชาชนในเรื่องนี้ โดยให้สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจ หากประชาชนส่วนใหญไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ตนก็พร้อมจะถอนข้อเสนอ กสม.ชี้นิรโทษต้องรู้จักให้อภัยก่อน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงข้อเสนอออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า การจะได้มาซึ่งความปรองดองของคนในชาติผ่านการนิรโทษกรรมนั้น สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคนไทยต้องรู้จักการให้อภัยกันก่อน เพื่อสร้างความยุติธรรมของสังคม ทุกภาคส่วนต้องหันมาพูดคุยกันแล้วทำให้ความจริงปรากฏ ยอมรับฟังสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและจะแก้ปัญหาอย่างไร รวมทั้งทำให้เกิดบทเรียน ผู้กระทำความผิดที่สร้างปัญหากระทบหรือละเมิดสิทธิ์คนอื่นจนเกิดความเสียหายต้องได้รับโทษและรับผิดชอบทั้งหมด และกำหนดให้ชัดเจนว่าบุคคลใดควรได้รับการนิรโทษกรรม และบุคคลใดไม่อยู่ในข่าย เช่น บุคคลที่มีคดีทุจริต หรือบุคคลที่มีคดีพิพากษาว่าฆ่าผู้อื่นให้ถึงแก่ความตาย หรืออะไรต่างๆ สังคมต้องถกกันให้ได้ข้อสรุปให้ชัดเจน "หลักสำคัญของการนิรโทษกรรมที่จะสร้างความปรองดองให้คนในชาติได้ ต้องอยู่บนพื้นฐานการพูดคุยกันก่อนว่าจะกำหนดสิ่งใด จนนำมาซึ่งการให้อภัยกันได้ มิเช่นนั้นก็ยากต่อการสร้างบรรยากาศปรองดอง" นพ.นิรันดร์กล่าว แม่เกดแนะรอรัฐบาลเลือกตั้ง ด้านนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาน.ส.กมนเกด 1 ใน 6 ศพ ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่วัดปทุมวนาราม เมื่อปี 2553 กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในชั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ ไม่มีความชอบธรรมเพราะยังขาดการศึกษา การรวบรวมข้อมูลไม่รอบด้าน ไม่เพียงพอ ยิ่งจะมีการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมตั้งแต่เริ่มต้นความขัดแย้งทางการเมือง ปี 2548 จนถึงปัจจุบันด้วยแล้ว จะกลายเป็นการเหมารวม ตัวอย่างง่ายๆ เช่น การชุมนุมของ กปปส.ที่สร้างความเสียหายก็จะอยู่ในข่ายด้วย ทั้งนี้ โดยหลักการต้องมีการพิสูจน์ในชั้นกระบวนการยุติธรรมก่อนว่าผิดหรือไม่ผิด อีกทั้งเป็นการนิรโทษกรรมที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึกอีกก็ยากต่อการทำความจริงให้ปรากฏในสังคม อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ถูกจองจำ แต่จะต้องผลักดันในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถึงจะมีความชอบธรรม เมื่อถามว่านักโทษการเมืองที่ถูกคดีมาตรา 112 ควรได้รับการนิรโทษกรรม นางพะเยาว์กล่าวว่า สมควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะตัวกฎหมายนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งคนแล้วใช้กันมากด้วย แต่กรณีคนที่ละเมิด กล่าวร้ายเกินขอบเขตก็ต้องว่าตามกระบวนการยุติธรรม "บิ๊กต๊อก"ปัดเจ้าภาพ-รอนโยบายรบ. ด้านพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีองค์กรแอมเนสตี้เสนอให้กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียด จึงตอบไม่ได้ แต่คิดว่ารัฐบาลและ คสช.จะรับฟังความเห็นและข้อเสนอดังกล่าว หากจะเสนอให้ตนรับผิดชอบในหน้าที่ดังกล่าวคงต้องรอนโยบายจากรัฐบาลมาอีกที ตอนนี้ยังไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบของตน จึงไม่อยากให้ความเห็น เพราะจะไปก้าวก่ายการทำงานของผู้ที่เข้ารับผิดชอบของฝ่ายความมั่นคง "ปานเทพ"ชี้ฟ้องคดีควรผ่านอสส. เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สนามฟุตบอลสโมสรทีโอที เอสซี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์กรณีข้อเสนอของกมธ.ให้ป.ป.ช.มีอำนาจฟ้องคดีเองโดยไม่ต้องผ่านสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ว่า การปฏิรูปถ้าทำให้ดีขึ้นก็เป็นเรื่องดี แต่ต้องมองถึงความเป็นไปได้ในการปฏิบัติด้วย ส่วนตัวคิดว่าการฟ้องคดีต่างๆ ถ้าผ่านอสส.จะทำให้สำนวนในคดีมีความรอบคอบมากขึ้น ได้รับการกลั่นกรอง ที่สำคัญสำนวนที่ผ่านอสส.ยังมีความเหมาะสม ในอดีตจนถึงปัจจุบันการฟ้องร้องโดยผ่าน อสส.ก็ไม่มีปัญหา นายปานเทพกล่าวว่า ส่วนที่เสนอให้คดีทุจริตไม่ต้องมีอายุความนั้น ไม่เห็นด้วยเนื่องจากทุกคดีต้องมีอายุความตามหลักสากล ซึ่งป.ป.ช.เสนอว่าคดีความจะหยุดลงหากผู้ถูกกล่าวหาในคดีหลบหนี ไม่สู่กระบวน การยุติธรรม แต่เมื่อผู้ถูกกล่าวหากลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม อายุความก็จะดำเนินต่อไป ส่วนการเสนอยุบองค์กรอิสระบางส่วนและนำไปสังกัดกระทรวงยุติธรรมนั้น ตนไม่มีความเห็น แต่องค์กรอิสระต้องมีอิสระในการทำงาน ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร ส่วนรูปแบบขององค์กรอิสระในปัจจุบันนั้นเหมาะสมอยู่เเล้ว แต่ถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็ทำได้ ต้องทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่บางอย่างต้องดูด้วยว่าเปลี่ยนแปลงแล้วปฏิบัติงานได้ดีหรือไม่ ดังนั้น ถ้าจะปฏิรูปควรหารือกับฝ่ายปฏิบัติด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่มีการพูดคุยในรายละเอียดกัน ประธานกรรมการป.ป.ช.กล่าวว่า ส่วนการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนั้น แล้วแต่ฝ่ายปฏิรูป แต่ต้องพิจารณาเรื่องความต่อเนื่องด้วย ถ้าลดลงไปก็ไม่มีปัญหา ส่วนการตรวจสอบองค์กรอิสระนั้นตรวจสอบได้อยู่แล้ว ทั้งนี้การทำงานขององค์กรอิสระต้องอิสระอย่างแท้จริง ทุกองค์กรต้องมีการตรวจสอบอยู่เเล้ว คาดหลัง 16 ธ.ค.ชัดเจนคดี"ปู" นายปานเทพกล่าวถึงนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ระบุคณะทำงานอสส.ต้องการให้ป.ป.ช.สอบพยานบุคคลและหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติมในคดีอาญาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวว่า ขณะนี้อสส.ยังไม่ได้ติดต่อมาว่าจะประชุมนัดต่อไปเมื่อใด แต่คาดว่าน่าจะหลังวันที่ 16 ธ.ค.นี้ เนื่องจากวันที่ 16 ธ.ค. จะมีการประชุมประจำปีระหว่างป.ป.ช.และอสส. อาจจะคุยกันถึงเรื่องดังกล่าว แต่จะกำหนดวันประชุมร่วมป.ป.ช.กับอสส.หรือไม่นั้น ต้องรอคณะทำงานร่วมพิจารณาอีกครั้งว่าจะเป็นวันใด ซึ่งการเสนอให้สอบพยานเพิ่มเติมนั้น ต้องดูว่าเกี่ยวข้องกับคดีหรือไม่ ทั้งนี้ หากประชุมแล้วตกลงกันไม่ได้ ป.ป.ช.ก็จะฟ้องร้องเอง นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช.ยังยืนยันในหลักการเดิมว่าได้ไต่สวนพยานหลักฐานต่างๆ ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ป.ป.ช.คงไม่สอบเพิ่มให้อีก เพราะประเด็นที่ต้องการให้สอบนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะนำสิ่งที่คณะทำงานฝ่ายอสส.เสนอมาเข้าหารือในที่ประชุมคณะทำงานฝ่ายป.ป.ช.อีกครั้งในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร สวนอสส.-ยันไม่สอบพยานเพิ่ม นายสรรเสริญกล่าวว่า สิ่งที่ฝ่ายอสส.แถลงมาล่าสุดนั้น ยังไม่ทราบว่าจะฟ้องคดีดังกล่าวให้ป.ป.ช.หรือไม่ แต่ถือว่ามีความชัดเจนมากขึ้น เพราะถ้าอสส.ยังยืนยันในหลักการเดิม ขณะที่ป.ป.ช.ก็ยืนยันในจุดยืนของตัวเอง แสดงว่าคงหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ ถ้าอสส.ต้องการให้สอบเพิ่มเติมเกินกว่ากรอบที่ป.ป.ช.วางไว้ ป.ป.ช.ก็ไม่เห็นด้วย แต่คงต้องรอความชัดเจนจากฝ่ายอสส.ในการประชุมคณะทำงานร่วมป.ป.ช.กับอสส.ในนัดสุดท้ายว่า จะฟ้องคดีให้ป.ป.ช.หรือไม่ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าจะประชุมเมื่อใด ผู้สื่อข่าวถามว่า อสส.ต้องการให้ป.ป.ช. สอบเพิ่มเติมเรื่องการซื้อขายข้าวแบบจีทูจีว่ามีการซื้อขายจริงหรือไม่ เนื่องจากพยานบางปากยังให้การขัดกันเอง นายสรรเสริญกล่าวว่า เรื่องจีทูจีไม่เกี่ยวกับประเด็นการชี้มูลความผิดของน.ส.ยิ่งลักษณ์ และไม่มีอยู่ในสำนวนด้วย เพราะกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นเรื่องการไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการจำนำข้าว แต่เรื่องจีทูจีอยู่ในสำนวนคดีทุจริตซื้อขายข้าวจีทูจี ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ เป็นผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นคนละสำนวนกัน จึงสงสัยว่าอสส.ติดใจอยากให้สอบเพิ่มเติมเรื่องการซื้อขายข้าวแบบจีทูจีในประเด็นอะไร ตั้งทีมสอบนำเข้ารถหรู-มีบิ๊กขรก.เอี่ยว นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีการเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าว่า อยู่ระหว่างเรียกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในคดีทำความเห็นเสนออนุกรรมการเพื่อนำเสนอเรื่องให้กับสำนักงานป.ป.ช. เตรียมระดมกำลังจากทุกสำนักจัดตั้งทีมตรวจสอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก หากจับตัวการได้จะหาเงินเข้าประเทศได้อีกจำนวนมาก เพราะกรณีนี้ทำให้มีการตีราคารถต่ำกว่าผิดปกติ รถชนิดเดียวกันที่ราคาสูงกว่าราคาตลาดก็ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งปีหนึ่งมีการนำเข้าเป็นหมื่นๆ คัน ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้มีข้าราชการระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้องเยอะหรือไม่ นายภักดีกล่าวว่า พอมี อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานว่าจะเอาผิดใครได้บ้าง โพลชี้คะแนนนิยม"ปู"เพิ่มขึ้น วันที่ 13 ธ.ค. กรุงเทพโพลโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "คะแนนนิยมพรรคการเมืองไทย หลังผ่าน 6 เดือน คสช." จากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 1,206 คน พบว่า คะแนนนิยมน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย อยู่ที่ร้อยละ 26.6 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อเดือนก.ย. 2557 ร้อยละ 4.3 (จากเดิมร้อยละ 22.3) ขณะที่นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชา ธิปัตย์ มีคะแนนนิยมอยู่ที่ ร้อยละ 25.1 เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนร้อยละ 1.1 (จากเดิมร้อยละ 24.0) เมื่อถามว่าหากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งจะเลือกพรรคการเมืองใด ร้อยละ 27.4 บอกว่าจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่เปลี่ยน แปลงจากผลสำรวจครั้งก่อน ร้อยละ 26.9 บอกว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 และร้อยละ 2.0 บอกว่าจะเลือกพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งลดลงร้อยละ 0.8 ขณะที่ร้อยละ 35.7 ยังไม่ตัดสินใจ สำหรับประเด็นการทำประชามติในการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ร้อยละ 71.2 บอกว่าอยากให้มี ร้อยละ 12.4 บอกว่าไม่อยากให้มี และร้อยละ 16.4 ไม่แน่ใจ ส่วนระยะเวลาใดเหมาะสมกับการเลือกตั้งของประเทศไทย ร้อยละ 54.4 เห็นว่าควรรอจนกว่าการปฏิรูปจะแล้วเสร็จในทุกด้าน ร้อยละ 26.3 เห็นว่าควรอยู่ในช่วงปลายปี 2558 และร้อยละ 7.0 เห็นว่าควรอยู่ในช่วงต้นปี 2559 ทบ.โต้"วีระ"-กองทัพป้องอธิปไตย วันที่ 13 ธ.ค. พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีมีการโพสต์ข้อความทางสังคมออนไลน์โดยเฉพาะนายวีระ สมความคิด ที่อ้างอิงบทความของพ.อ.ดร.สุชาติ จันทรวงศ์ หัวหน้าส่วนประสานการปฏิบัติและประเมินผลของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติว่าทหารกัมพูชาเชิญทหารไทยออกจากพื้นที่ขณะเข้าปฏิบัติงานเก็บกู้วัตถุระเบิด บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา จ.สระแก้วว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ทั้งนี้ คณะตรวจสอบประกันคุณภาพจากศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบประกันคุณภาพการปฏิบัติงานเก็บกู้ระเบิดของหน่วยปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่ 1 บริเวณบ.หนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว เป็นการปฏิบัติร่วมกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา ทั้ง 2 ฝ่ายประสานงานกันอยู่ตลอด ไม่มีเหตุการณ์ใดผิดปกติจากที่เคยปฏิบัติ เมื่อคณะทำงานพ.อ.ดร.สุชาติ มาตรวจสอบประกันคุณภาพ ทหารกัมพูชาจึงประสานขอให้ทำหลักฐานแจ้งให้หน่วยเหนือตามสายการบังคับบัญชารับทราบ และดําเนินการตามช่องทางส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พ.อ.วินธัยกล่าวว่า กรณีนายวีระอ้างว่าพื้นที่ตรวจเยี่ยมของศูนย์ฯเป็นพื้นที่เดียวกับที่ตนเองถูกจับตัวนั้น ยืนยันว่าเป็นคนละพื้นที่กัน เพราะพื้นที่ที่ศูนย์ฯไปตรวจสอบอยู่หลักเขตที่ 48 บ.หนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง ส่วนพื้นที่ที่นายวีระถูกจับตัวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2553 อยู่บริเวณซุ้มประตูทางเข้าวัดโจ๊กเจีย กัมพูชา ซึ่งอยู่บริเวณหลักเขต 47 ทั้งนี้ การปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนนั้นมีการประสานงานกับหน่วยทหารของประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ยืนยันกองกำลังชายแดนของกองทัพบกเข้มแข็งและพร้อมดูแลอธิปไตยรักษาผลประโยชน์ของชาติควบคู่กับการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างเต็มที่ บนพื้นฐานของการให้เกียรติและความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ทอ.ทุ่ม3.7พันล.ซื้อเครื่องบินฝึก วันที่ 13 ธ.ค. ที่พระมหาธาตุนภเมทนีดล นภพลภูมิสิริ จ.เชียงใหม่ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผบ.ทอ. เปิดเผยว่า กองทัพอากาศอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกแบบเครื่องบินฝึกและเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ แทนเครื่องบินฝึก แอล-39 ที่ใกล้ปลดประจำการ โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบงบประมาณปี 2558 วงเงิน 3.7 พันล้าน ในโครงการแรกรวม 4 ลำ มีหลายประเทศที่ยื่นแบบเข้ามา เช่น จีน รัสเซีย อิตาลี เกาหลี สหรัฐ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาศึกษารายละเอียดเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทัพอากาศได้เห็นชอบจัดหาเครื่องบินฝึกรุ่นใหม่แทน แอล-39 ของสาธารณรัฐเช็กที่มีปัญหาเรื่องอะไหล่และการซ่อมบำรุง เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตได้ปิดไลน์การผลิตแล้ว ที่ผ่านมาเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเคยประสบอุบัติเหตุหลายครั้งจนถูกเรียกว่า "โลงศพติดไอพ่น" ซึ่งกองทัพอากาศพยายามบำรุงดูแลการรักษาตามวงรอบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด ปัจจุบันเครื่องบินรุ่น แอล-39 ประจำการอยู่ที่กองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ 1 ฝูง กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ 1 ฝูง และกองบิน 23 จ.อุดรธานี 1 ฝูง โดยระบบทำการบินยังใช้เทคโนโลยีของเครื่องบินรุ่นเก่า ดังนั้น การจัดหาเครื่องรุ่นใหม่จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อฝึกนักบินให้สอดคล้องกับเครื่องบินขับไล่ที่ ทอ.มีประจำการอยู่ เช่น กริพเพน และเอฟ-16 เอ็มแอลยู และขณะนี้มี 3 ประเทศที่กองทัพอากาศให้ความสนใจ คือ ที-50 ของเกาหลี เอ็ม-346 ของอิตาลี และสหรัฐ |