- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 15 December 2014 07:14
- Hits: 3735
วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8780 ข่าวสดรายวัน
สปช.กลัวแม้ว ยี้เลือกนายกฯ รบ.ยันไร้คุกลับ โต้ข้อมูลมะกัน
ทวิภาคี - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พบหารือทวิภาคีกับ น.ส.ปาร์ก กึนเฮ ประ ธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ณ ห้องออคิด โรงแรมเวสทิน โชซุน ปูซาน เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. |
'อุดม ทุมโฆสิต'ยอมรับ 'สปช.'เมินเลือกนายกฯโดยตรง เหตุกลัว'แม้ว'กลับ ชี้ฐานเสียงยังมีอยู่มาก อธิการบดีม.ขอนแก่นในฐานะสนช. ปัดลิดรอนเสรีภาพวิชาการ 'พ.ร.บ.การยาง'ผ่านฉลุย 174 สนช.เทให้ รองโฆษกรัฐบาลระบุ ชาวสวนยางเริ่มเข้าใจสถานการณ์ยางแล้ว ยันจะเร่งทำให้ราคาโลละ 60 ด้านม็อบยางจี้แทรกแซงราคายางโลละ 80 บาท ไม่งั้นกดดันต่อ 'บิ๊กตู่'ถกสุดยอดภาคธุรกิจอาเซียน-เกาหลี รัฐบาลยันไม่มี 'คุก' ลับในไทย
"บิ๊กตู่"ชวนเกาหลีลงทุนในไทย
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ประเทศเกาหลีใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อยู่ระหว่างการร่วมประชุมสุด ยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ ที่นคร ปูซาน เกาหลี ระหว่างวันที่ 10-12 ธ.ค.
เวลา 07.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ได้พบหารือกับภาคธุรกิจชั้นนำของเกาหลีใต้ ที่โรงแรมลอตเต้โฮเตล ปูซาน โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคธุรกิจเกาหลี เช่น ผู้แทนองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนของเกาหลีใต้ บริษัท เค-วอเตอร์ บริษัท แอลจี อิเล็กโทรลัก บริษัท ซัมซุง และบริษัท ฮุนได มอเตอร์ และบริษัท POSCO ผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่อันดับ 3 ของโลก
พล.อ.ประยุทธ์อธิบายถึงสถานการณ์การเมืองไทย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประเทศ ไทยไม่ได้เบนเข็มออกจากประชาธิปไตย แต่ต้องการเวลาเพื่อพัฒนาสู่เสถียรภาพทางการเมืองที่ยั่งยืน และมุ่งดำเนินการตามโรดแม็ป เร่งสร้างความปรองดองและปฏิรูปประเทศ เพื่อให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว นอกจากนี้ยังเชิญชวนให้ภาคเอกชนเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งเกาหลีมีศักยภาพในด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและขยายโอกาสด้านการตลาดให้แก่ไทยได้ โดยเฉพาะเนื้อไก่ ผลไม้ ข้าว ยางพารา
ร่วมถกสุดยอดภาคธุรกิจ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไทยมีแผนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านคมนาคม และทราบว่าเกาหลีสนใจในโครง การพัฒนาระบบรางของไทย ซึ่งไทยมีแผนหลักใน 3 รูปแบบคือ 1.สร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟเดิม 2.สร้างรถไฟเส้นทางขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ซึ่งมีความเร็วปานกลาง 160 ก.ม.ต่อชั่วโมง และ 3.สร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นแผนระยะต่อไป ส่วนการบริหารจัดการน้ำนั้น ไทยทราบดีว่าบริษัทเค-วอเตอร์ มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งรัฐบาลกำลังทบทวนและปรับแผนงานให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการศึกษาดังกล่าวใกล้จะเสร็จแล้วและเมื่อมีความชัดเจนจะแจ้งให้ฝ่ายเกาหลีทราบ
ต่อมาเวลา 10.20 น. พล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดภาคธุรกิจอาเซียน-เกาหลี และกล่าวสุนทรพจน์ภายใต้หัวข้อ "อนาคตของเศรษฐกิจโลกและบทบาทของเอเชีย" ที่ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนครปูซาน
หารือทวิภาคีผู้นำเกาหลี
จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์เข้าเยี่ยมคารวะหารือข้อราชการทวิภาคีกับนางปาร์ก กึนเฮ ประธานาธิบดีเกาหลี ซึ่งกล่าวต้อนรับและแสดงความชื่นชมการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ พร้อมขอบคุณที่ไทยเคยส่งกำลังทหารจาก 3 เหล่าเข้าร่วมปฏิบัติการในสงครามเกาหลีอย่างกล้าหาญ จนได้รับสมญานามว่า กองพันพยัคฆ์น้อย ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์กล่าวขอบคุณในนามรัฐบาลไทย และระบุเคยรับราชการอยู่ในหน่วยกองพันพยัคฆ์น้อยด้วย ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่มีอนุสรณ์สถานทั้งที่เกาหลีและไทย เพื่อระลึกถึงเหล่าทหารที่เสียสละในการเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนั้น
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยภายหลังการประชุมสุดยอดภาคธุรกิจอาเซียน-เกาหลี ว่านายกฯระบุว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจต้องอาศัยภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่กำหนดนโยบายที่เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุน จึงได้ปรับแก้กฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ และเชื่อว่ายังมีศักยภาพอีกมากที่จะร่วมมือกันได้ จึงฝากความหวังไว้กับผู้นำชาติอาเซียนและเกาหลีใต้
ร.อ.นพ.ยงยุทธยังกล่าวถึงการหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีเกาหลีว่า พล.อ. ประยุทธ์กล่าวถึงโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาข้อมูลทั้งหมด หากเสร็จจะแจ้งให้เกาหลีทราบต่อไป ขณะที่ประธานาธิบดีเกาหลีระบุหากไทยศึกษาข้อมูลเสร็จ ขอให้บริษัทเค-วอเตอร์เป็นทางเลือกหนึ่งในการเข้าร่วมโครงการ
สนช.ปัดลิดรอนเสรีภาพวิชาการ
วันเดียวกัน นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และรองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัย 201 คน เรียกร้องให้ทปอ.คุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการ ที่ถูกคุกคามเพิ่มมากขึ้นว่า ยังไม่ได้อ่านหนังสือเปิดผนึกฉบับเต็ม แต่มองว่าทุกวันนี้คณาจารย์มหาวิทยาลัยสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระผ่านสื่อสาธารณะ ผ่านรายการทีวี หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ได้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว ซึ่งทางสถาบันไม่ได้ออกมาห้ามปราม คสช.ก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ถ้าการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นกระทบต่อสิทธิของผู้อื่นก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ จึงคิดว่าเสรีภาพทางวิชาการไม่ได้ถูกลิดรอน
"บิ๊กตู่"ย้ำเร่งแจงน้ำมันราคาตกต่ำ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน สนช. ฝ่ายรัฐบาลหรือวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ว่า บทบัญญัติบางมาตราเป็นผลดี แต่ทั้งหมดนี้การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยว ข้องสำคัญที่สุด ซึ่งหารือกันแล้วว่าจะให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมด้วย แต่ต้องรอการพิจารณาของสนช.ก่อนว่าจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวภายหลังการประชุมสรุปสถานการณ์ประจำวัน(มอร์นิ่งบรีฟ) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ปรารภให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งชี้แจงประชนถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีต่อภาคส่วนต่างๆ ให้ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ทันต่อเหตุการณ์ เช่น ปัจจุบันราคาน้ำมันโลกตกลงแต่เหตุใดราคาน้ำในประเทศลดลงเพียงเล็กน้อย ซึ่งนายกฯ เน้นให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงการนำเงินไปอุดหนุนกองทุนน้ำมัน เพื่อลดปัญหาหากน้ำมันราคาสูง กองทุนจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมันเท่ากับราคาในตลาดโลก
"ไก่อู"ชี้มีผลกระทบต่อยาง
พล.ต.สรรเสริญยังกล่าวถึงกรณีเกษตรกรชาวสวนยางพาราเคลื่อนไหวเรียกร้องแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า ต้องชื่นชมการทำหน้าที่ของนายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ใช้ทุกช่องทางชี้แจงทำความเข้าใจถึงแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาล ขณะนี้ถือว่าทิศทางการพูดคุยดีขึ้น กลุ่มเกษตรกรที่จะมาชุมนุมเริ่มเข้าใจถึงภาวการณ์และข้อเท็จจริงโดยเฉพาะราคายางของตลาดโลก ซึ่งข้อเรียกร้องราคายางกิโลกรัมละ 80 บาทนั้น ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากเพราะราคาในตลาดโลกเป็นเช่นนี้ ซึ่งรัฐบาลพยายามจะทำให้ราคายางไปถึงก.ก.ละ 60 บาทแต่อาจล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำลง ส่งผลกระทบทำให้ราคายางเทียมถูกลง และฉุดให้ราคายางในตลาดโลกต่ำลงไปด้วย
"อยากให้เกษตรกร นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคายางที่เป็นมาตรฐานและชนิดเดียวกันมาพูดคุยซึ่งจะได้ข้อยุติ ทั้งนี้ การช่วยเหลือในปัจจุบันรวดเร็วขึ้นเนื่องจากมีการขึ้นทะเบียนและช่วยเหลือไปแล้วเกือบ 8 แสนราย ยังคงเหลืออีก 6 หมื่นกว่ารายเท่านั้นที่ยังไม่มาลงทะเบียน" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
ม็อบยางขู่ชุมนุมกดดัน
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว ว่า ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่าราคายางพาราทุกประเภทตกต่ำชนิดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นวันที่ 15 ธ.ค. เวลา 14.00 น. จะขอเข้าพบนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ ที่กระทรวง เพื่อขอทราบแนวทางแก้ไขช่วยเหลือชาวสวนยางพาราทั่วประเทศต่อไป
นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ กรรมการเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ชาวสวนยางพาราทางภาคใต้ตอนล่างกำลังรอโครงการที่รัฐบาลจะสนับสนุนช่วยเหลือ รวมถึงการผลักดันให้ราคายางถึง 60 บาทต่อก.ก. แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะทำได้ ดังนั้น จะนัดประชุมกำหนดท่าที แต่ตอนนี้ยังให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อ
ร่วมประชุม - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานประชุม สุดยอดซีอีโอ อาเซียน-เกาหลีใต้ หัวข้อ Global Economic Outlook and the Role of Asia ที่ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. |
ตรังจี้อัพราคาก.ก.ละ 80 บาท
ที่จ.ตรัง ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ว่านายสิงห์สยาม มุกดา แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง พร้อมด้วยเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางจำนวนหนึ่ง ขับรถตระเวนไปตามเส้นทางต่างๆ ในพื้นที่อ.เมือง อ.ห้วยยอด และอ.รัษฎา จ.ตรัง เพื่อแจกใบปลิวและริบบิ้นสีขาว แสดงสัญลักษณ์การเรียกร้อง มีเกษตรกรบางส่วนนำดอกไม้มามอบให้กำลังใจ โดยนายสิงห์สยามจะนำแกนนำชาวสวนยางฯไปหารือถึงทิศทางการเคลื่อน ไหวกับชาวสวนยางที่อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรม ราช
นายสิงห์สยามกล่าวว่า ยอมรับว่าการนัดชุมนุมของชาวสวนยางครั้งนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากมีความพยายามสกัดกั้นจากหลายภาคส่วน อ้างกฎอัยการศึก ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถมาร่วมได้ แต่จะต่อสู้ต่อไปและกำลังร่วมกับชาวสวนยางจังหวัดต่างๆ กำหนดทิศทางการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้รัฐบาลแทรกแซงในราคาก.ก.ละ 80 บาท ทั้งนี้จะเข้าร่วมเวทีเสนอปัญหาที่ทางจังหวัดจัดขึ้นในวันที่ 12 ธ.ค.นี้แน่นอน
นายสมศักดิ์ ปริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าฯตรัง กล่าวว่าในวันที่ 12 ธ.ค. จะจัดเวทีระดมความเห็น ที่โรงแรมวัฒนาพาร์ค อ.เมือง จ.ตรัง เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนทั้งระบบที่เกี่ยวกับยางพารา จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลที่ได้จากทุกภาคส่วน ส่งต่อกระทรวงเกษตรฯให้ถึงรัฐบาล ในการหามาตรการแก้ไข คาดว่าเวทีนี้จะสะท้อนปัญหา นำไปสู่การแก้ไขได้ถูกต้องตรงจุด เพื่อให้เกษตรอยู่ได้
หวั่นปีหน้าราคาตกลงอีก
ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง"อนาคตยางพาราไทย จะไปทางไหน" มีผู้เกี่ยวข้องกับยางพาราหลายภาคส่วนมาร่วมหารือ อาทิ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย รวมทั้งตัวแทนจากภาคประชาชน
นายอุทัยกล่าวว่า สถานการณ์ยางพารา ปี 2557 อยู่ในภาวะที่เลยคำว่าวิกฤตมาแล้ว เพราะราคายางตกต่ำที่สุดในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาต้นทุนตามความเป็นจริงอยู่ที่ก.ก.ละ 65.25 บาท แต่ปัจจุบันราคาขายยางพาราอยู่ที่ก.ก.ละ 30 กว่าบาทเท่านั้น ขณะที่แนวทางแก้ไขปัญหายางพารามีอยู่หลายแนวทาง แต่ที่ทำได้ทันทีคือการพัฒนาไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมยาง เพื่อเพิ่มมูลค่า และเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศให้มากยิ่งขึ้น เช่น รัฐบาลผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำยางพาราไปเป็นส่วนผสม อาทิ การทำถนน หรือพื้นยางสังเคราะห์ต่างๆ
ประธานสภาการยางฯกล่าวว่า หลังจากนี้เตรียมจะเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาล เพื่อเสนอปัญหาแนวทางแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ หลังจากพบว่าหลายมาตรการที่จะเป็นแนวทางแก้ปัญหายังไม่ปฏิบัติอย่างจริงจังจากรัฐบาล และกังวลว่าเวลานี้จนถึงเดือนก.พ. 58 เป็นช่วงที่ยางพาราออกมาสู่ตลาดมากที่สุด จะมีแนวโน้มราคาดิ่งลงมาอีก หากรัฐบาลยังปล่อยปละละเลย เกษตรกรคงจะต้องโค่นต้นยางทิ้ง เลิกปลูกยางไปในที่สุด
สนช.ผ่านฉลุย"พ.ร.บ.การยาง"
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวาระด่วน เรื่องร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศ ไทย พ.ศ... ที่ครม.เป็นผู้เสนอ โดยนายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวรายงานหลักการเหตุผลว่า เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง จำเป็นต้องจัดให้มีองค์กรกลางคือการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อรับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศอย่างครบวงจร มีเอกภาพ เป็นอิสระ คล่องตัวและใช้ยางพาราและผลิตผลจากยางพาราให้เกิดประสิทธิภาพ
จากนั้นสมาชิก สนช.อภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่เห็นว่าไม่มีมาตรการคุมพื้นที่ปลูกยาง เสนอให้จัดทำโซนนิ่ง พร้อมทั้งรัฐมนตรีต้องกระตุ้นความต้องการใช้สัดส่วนยางพารามาทำถนนมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติรับหลักการ วาระ 1 เห็นชอบด้วยคะแนน 174 ต่อ 1 คะแนน งดออกเสียง 5 คะแนน โดยตั้งกมธ.วิสามัญฯ พิจารณา 25 คน ทั้งนี้ นายพรเพชร ฝากให้กมธ.โดยเฉพาะตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างละเอียดและตรวจดูเรื่องเทคนิคทางกฎหมายด้วย เพราะต้องยกเลิกกฎหมาย เก่ากว่า 8 ฉบับ เกรงว่าอาจทำให้มีปัญหาเกิด ขึ้นได้
นัดถกวาระด่วน 12 ธ.ค.นี้
รายงานจากรัฐสภาแจ้งว่า ประธานสนช.ออกหนังสือนัดประชุมสนช. วันที่ 12 ธ.ค. เวลา 10.00 น. เพื่อพิจารณาวาระเรื่องด่วน เรื่องตั้งกมธ.เพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ และเรื่องรายงานการรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 34 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ทั้งนี้รายงานแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ความเห็นของกมธ.สามัญ สนช. 16 คณะและกมธ.วิสามัญพิจารณาการศึกษาการผังเมืองและการใช้พื้นที่ 2.การเสนอความเห็นของสมาชิกสนช. และ 3.ข้อมูลความเห็นของกมธ.สามัญ 16 คณะ และกมธ.วิสามัญพิจารณาการศึกษาการผังเมืองและการใช้พื้นที่ และข้อเสนอแนะสมาชิกสนช. อย่างไรก็ตาม หากที่ประชุมสนช.พิจารณารายงานของกมธ.และได้ข้อยุติแล้ว จะทำรายงานเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯตามกรอบ 90 วันต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานมีความเห็นของกมธ.ที่น่าสนใจ อาทิ กมธ.การเมือง เสนอให้ 1.ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกฯ รัฐมนตรี รวมตัวตั้งคณะบุคคลแล้วทำบัญชีรายชื่อ มีจำนวนไม่เกิน 2 เท่าของครม. โดยจะสมัครในนามพรรคหรือไม่ก็ได้ 2.กำหนดให้แต่ละคณะบุคคลมีหมายเลขเดียว ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกได้หมายเลขเดียว 3.ถ้าคณะใดได้คะแนนเกินกว่าร้อยละ 35 ของผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ถือว่าได้รับเลือกตั้งเข้าไปบริหารประเทศ หากไม่มีคณะใดได้ถึงร้อยละ 35 ให้นำคณะที่ได้คะแนนสูงสุดและรองลงมาให้ประชาชนเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง คณะใดได้คะแนนสูงสุดชนะเลือกตั้ง และให้จัดตั้งครม.หรือปรับครม.จากบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ กำหนดการดำรงตำแหน่งได้วาระละ 4 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน
กมธ.ชงลดวาระนั่งองค์กรอิสระ
ส่วนของระบบรัฐสภา เสนอให้ยังมี 2 สภาคือ สภาผู้แทนฯ ที่ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง กำหนดให้จำนวนเหมาะสมกับจำนวนประชากร ให้เลือกได้หมายเลขเดียว และให้มีผู้สมัครเลือกตั้งสังกัดพรรคและ ผู้สมัครอิสระ ส่วนวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่ง 6 ปีวาระเดียว มาจากการแต่งตั้งของคณะกรรมการคัดเลือก ประกอบด้วย ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และตัวแทนกลุ่มอาชีพ
สำหรับข้อเสนอด้านองค์กรตามรัฐธรรม นูญ เห็นว่ายังจำเป็นต้องมีกกต. และต้องเพิ่มจาก 5 คน เป็น 7-9 คน อย่างไรก็ตาม วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เวลา 9 ปี นานเกินไป อาจเกิดความเฉื่อยชา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ เสนอเรื่องที่มาของส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แบ่งตาม 5 กลุ่มวิชาชีพคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ และภาคอื่นๆ โดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เพื่อคานอำนาจและป้องกันเผด็จการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเสนอลดอำนาจกกต. โดยในส่วนของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญากับผู้สมัคร หัวคะแนน และผู้เกี่ยวข้อง(ให้ใบเหลืองหรือใบแดง) ควรเป็นอำนาจศาลยุติธรรม ทั้งนี้ เสนอให้โอนภารกิจของศาลรัฐธรรมนูญไปสังกัดเป็นแผนกหนึ่งของศาลยุติธรรม สำหรับวาระดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจากคราวละ 9 ปี ควรเหลือเพียงวาระละ 4 ปี เพื่อให้ทำหน้าที่บริสุทธิ์ ยุติ ธรรม ไม่ยาวนานจนสร้างเครือข่ายและอิทธิพลที่จะกระทบต่อหน้าที่
สปช.นัด 15-17 ธ.ค. ถกรธน.
รายงานข่าวแจ้งว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีคำสั่งให้นัดประชุมสปช. ครั้งที่ 9/2557 ในวันที่ 15 ธ.ค. และครั้งที่ 10/2557 ในวันที่ 16 ธ.ค. และครั้งที่ 11/2557 ในวันที่ 17 ธ.ค. เวลา 09.30 น. มีวาระการประชุมเรื่องที่คณะกรรมา ธิการพิจารณาเสร็จแล้ว คือพิจารณารายงานของกมธ.วิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องสรุปความเห็นหรือข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของกมธ.วิสามัญประจำสปช. 18 คณะ
นายบุญเลิศ คชายุทธเดช เลขานุการกมธ.ประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป สปช. แถลงถึงการประชุมสปช.วันที่ 15-17 ธ.ค.นี้ว่า ให้เรียกวันดังกล่าวว่าเป็นวันเสียงประชาชน ที่สปช.จะสะท้อนความเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนที่กมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะ จะเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ ให้กับกมธ.ยกร่างฯ คาดว่าจะมี 3 คณะที่ใช้เวลานาน คือกมธ.ปฏิรูปการเมือง กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน และ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่ประชุมจึงให้อภิปรายในวันที่ 17 ธ.ค.ซึ่งเป็นวันสุดท้าย และถ่ายทอดสดทั้ง 3 วัน ทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และสถานีวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการกิจการสปช.หรือ วิปสปช. จะประชุมเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการประชุมอีกครั้งในวันที่ 12 ธ.ค. เวลา 13.00 น.
เล็งดันกม.ป้องกันประชานิยม
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปช. ในฐานะรองประธานกมธ.วิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้กมธ.ปฏิรูป 18 คณะของสปช. ส่งข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญมาให้กมธ.วิสามัญฯครบหมดแล้ว จากนี้จะรวบรวมข้อเสนอต่างๆ ส่งให้ประธานสปช.ในวันที่ 12 ธ.ค. เพื่อบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมสปช. วันที่ 15-17 ธ.ค.นี้ เปิดให้สมาชิกสปช.แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ ก่อนส่งให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป
นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง แถลงถึงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญว่า ข้อเสนอคือต้องออกมาตรการป้องกันการใช้นโยบายประชานิยม โดยออกพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่สร้างความนิยมทางการเมือง เพื่อป้องกันการออกนโยบายประชานิยมที่คิดแต่ง่ายๆ โดยไม่คิดถึงผลระยะยาว กฎหมายลูกดังกล่าวจะวิเคราะห์ถึงผลกระทบระยะยาวของนโยบายประชานิยม ถ้าออกมาจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นว่าไม่สร้างความเสียหาย เช่น โครงการรับจำนำข้าว ถ้าจะเสนอมาอีกครั้งต้องศึกษาถึงกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้เงินงบประมาณที่ถูกตัดไปนั้นจะนำไปแจกส.ส.เพื่อให้นำงบฯไปตั้งผ่านหน่วยงานรัฐไม่ได้ พร้อมกำหนดบทลงโทษไม่ให้กลับมาเป็นนักการเมืองอีก
วุฒิสารห่วงซื้อเสียงนั่งนายกฯ
นายวุฒิสาร ตันไชย โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอการให้เลือกนายกฯและครม. โดยตรงว่า คงต้องฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนก่อน แต่ไม่ว่าจะเป็นระบบใดก็มีปัญหาทั้งหมด เพราะปัญหาเกิดจากตัวบุคคลว่าจะมาทำงานเพื่อการเมืองหรือบ้านเมือง ส่วนตัวไม่เห็นด้วย หากจะออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่เพื่อป้องกันการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียง เพราะถ้ามองว่าการทุจริตซื้อเสียงคือปัญหา ก็ต้องแก้เรื่องการซื้อเสียง ไม่ใช่แก้ที่ระบบการเลือกตั้ง เพราะไม่ตอบโจทย์เรื่องการป้องกันการซื้อเสียง ซึ่งระบบดังกล่าว หากควบคุมการซื้อเสียงไม่ดีจะทำให้การซื้อเสียงคุ้มกว่าแบบเดิม เพราะได้เป็นนายกฯเลย หากเรื่องใดที่มีข้อถกเถียงกันมากๆ กมธ.ยกร่างฯคงหยิบยกมาพิจารณาเป็นเรื่องท้ายๆ
ด้านพ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สมาชิกสปช. กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งนายกฯและครม.โดยตรง เพราะรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับที่ผ่านมา ไม่เคยมีเรื่องนี้อยู่ จึงยังไม่รู้ว่าจะออกมาดีหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าการเลือก นายกฯในระบบเดิมดีอยู่แล้ว เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่กมธ.ยกร่างฯแล้ว ข้อเสนอดังกล่าวไม่น่าจะผ่านความเห็นชอบ
เผยสปช.กลัว"แม้ว"กลับมา
นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกมธ.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวว่า เท่าที่พูดคุยกับสปช.ด้วยกัน หลายคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะสุดโต่งเกินไป ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาได้ ส่วนตัวเห็นว่าควรจะแก้ไขระบบการเลือกตั้ง เพราะระบบเดิมไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
ด้านนายอุดม ทุมโฆสิต สมาชิกสปช. กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะเลือกนายกฯ ส่วนเสียงส่วนใหญ่ที่ออกมาคัดค้านข้อเสนอนี้โดยอ้างว่าให้อำนาจฝ่ายบริหารมากเกินไปนั้นไม่จริง แต่เป็นการกลัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะกลับมา เพราะยังมีฐานเสียงจำนวนมากอยู่ อีกประเด็นคือข้อเสนอบางประการในเรื่องนี้ หมิ่นเหม่ต่อการเปลี่ยนระบบเป็นสาธารณรัฐและหมิ่นเหม่ต่อสถาบัน เรื่องนี้ตนจะอภิปรายในการเสวนาที่นิด้าจัดขึ้นวันที่ 12 ธ.ค.ด้วย ทั้งนี้ข้อเสนอการเลือกตั้งนายกฯตรงนี้ ส่วนใหญ่อาจารย์ในนิด้าเห็นด้วย และตกผลึกกันมาตั้งแต่จะมีข้อเสนอนี้แล้ว
หมอประเวศชี้ต้องปฏิรูปทุกด้าน
ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ สถาบันพระปกเกล้าจัดงาน "สานเสวนา สานใจประชา สู่การปฏิรูปประเทศไทย" ซึ่งนำเสนอผลการศึกษาวิชาการนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 5
นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข สถาบันพระปกเกล้า กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ขณะนี้กำลังมีการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งสนช.ขึ้นมาพิจารณากฎหมาย ตั้งสปช.เพื่อทำการปฏิรูปและชักชวนคนไทยมาร่วมปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นความพยายามครั้งใหญ่ของคนไทย การปฏิรูปคือต้องสร้างสังคมสันติสุข อย่าปฏิรูปการเมืองอย่างเดียว มันไม่สำเร็จ ต้องทำหลายเรื่องควบคู่ไปพร้อมกัน แม้สปช.มีอายุทำงานเพียง 1 ปี แต่การปฏิรูปประเทศไทยมีอายุยาวนานถึง 10-20 ปี สปช.จะทำได้เพียงสร้างรัฐธรรรมนูญและกฎหมายที่เป็นเครื่องมือในการปฏิรูปไว้เท่านั้น แต่กระบวนการปฏิรูปต้องขับเคลื่อนไปอีกยาวนาน
จากนั้นเป็นการเสนอปฏิรูปประเทศไทยในประเด็น พลังสังคม ขับเคลื่อนประเทศ จากเครือข่ายต่างๆ
บวรศักดิ์ลั่นต้องลดเหลื่อมล้ำ
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาเรื่องการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญตอนหนึ่งว่า วันนี้โจทย์ใหญ่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำคือ ทำอย่างไรจึงจะเกิดความปรองดองและการปฏิรูป ซึ่งเราต้องคุยกัน 2 เรื่องใหญ่คือ 1.ทำอย่างไรที่จะปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ถ้ารอให้ฝ่ายการเมืองมาแก้ไข เชื่อว่าคงไม่ทำ เพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คนมีอำนาจทางการเมืองคือมีอำนาจเงินอยู่ในมือ แปลว่าพรรคการเมืองคงไม่อยากทำ แต่เมื่อจำเป็น พรรคก็ใช้นโยบายประชานิยม เอาทรัพยากรที่เป็นภาษีหรือนำเงินที่ใช้ในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน ผู้รับต้องตอบแทนผู้ให้ด้วยการเลือกมาบริหารประเทศ
"ดังนั้นถ้าจะเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างคือต้องเลิกประชานิยม จัดสรรทรัพยากรให้ประชาชน ช่วยคนประกอบอาชีพ จะเอาเงินจากไหน ก็ต้องเก็บภาษีเพิ่มจากคนมั่งมีมหาศาลเอาไปช่วยคนที่ไม่มี" นายบวรศักดิ์กล่าว
ชี้รธน.ต้องพูดถึงปรองดอง
นายบวรศักดิ์กล่าวต่อว่า การปฏิรูปครั้งนี้จะพิสูจน์ว่าดอกบัว ซึ่งเป็นดอกไม้บริสุทธิ์เกิดตามโคลนตมฉันใด กระบวนการปฏิรูปประเทศก็เกิดจากกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้ฉันนั้น แปลว่าสปช. สนช. ครม. กมธ.ยกร่างฯ มีหน้าที่ใหญ่ 1 ข้อ คือลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในสังคม เชิงโครงสร้าง ทำในสิ่งที่คนมั่งมีในพรรคไม่ทำ ถ้าพูดกันดีๆ ไม่ได้ก็ต้องบังคับให้มาพูดกัน เราต้องทำจริงจัง จากที่จะทำ 1-100 หาก 100 คือนิรโทษกรรม นิรโทษกรรมถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการปรอง ดอง ถ้ารัฐธรรมนูญไม่วางโครงสร้างที่ดีก็จะไปเริ่มที่ 100 ก็ไม่จบ แต่รัฐธรรมนูญไม่พูดเรื่องการปรองดองก็ไม่ได้
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า 2.ทำอย่างไรจะแก้ระยะสั้นเรื่องความปรองดองให้ได้ แต่การเริ่มต้นที่พรรค เป็นการเริ่มต้นพูดคุยกัน เราจึงต้องสานต่อ สื่อเป็นตัวสร้างความสมานฉันท์ปรองดอง ดังนั้นโจทย์นี้ตนยังไม่มีคำตอบ กระบวนการสปช. กมธ.ยกร่างฯ หรือการยึดอำนาจก็เสียของ เพื่อไม่ให้เสียของ จึงอยากเชิญชวนเสนอความเห็น ช่วยกันขยับและเห็นต่างได้ แต่มองอนาคตไปด้วยกัน แม้จะมีกฎอัยการศึกแต่การเสนอความคิดเห็นก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่จะทำอย่างไรให้คนทั้งสังคมมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด ดังนั้นปัญหาเฉพาะหน้าคือทำให้เกิดความปรองดองในบ้านเมืองนี้ได้อย่างไรโดยใช้ สปช. กมธ.ยกร่างฯ เป็นเครื่องมือ หากมีข้อเสนออะไรยินดีรับฟัง
"สามารถ"ชี้ร่างรธน.ต้องไร้อคติ
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันที่ 12 ธ.ค. เวลา 09.00 น. ตนพร้อมด้วยนายโภคิน พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค และร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีตส.ส.ขอนแก่น จะไปพูดคุยและเสนอแนะการร่างรัฐธรรมนูญร่วมกับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐสภา ไปในนามส่วนตัว ไม่ใช่มติพรรค ตนในฐานะอดีต ส.ส.ร.ปี 40 จะนำเสนอหลักการใหญ่ 5 เรื่อง 1.การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญต้องยึดหลักประชาธิป ไตยที่ประชาชนและนานาอารยประเทศรับได้ ปราศจากอคติ ไม่ให้เกิดการได้เปรียบหรือกีดกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ทุกฝ่ายรับได้ 2.ต้องส่งเสริม สนับสนุนและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน
3.ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ทุกสถาบันและองค์กรทางการเมืองต้องยึดโยงกับประชาชน โดยประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สามารถถอดถอนได้ 4.ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันการเมือง ส.ส. จำเป็นต้องสังกัดพรรค ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายได้ และ 5.ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่น
ปชป.แนะต้องเข้าใจปชต.ก่อน
"หากทำได้ตามนี้ก็ไม่มีปัญหา รัฐธรรม นูญฉบับใหม่จะเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ไม่เป๋ไปเป๋มาเหมือนที่ผ่านมา ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ที่หลายฝ่ายถกเถียงกัน เช่น ที่มาของนายกฯ วาระการดำรงตำแหน่งรวมทั้งที่มาของป.ป.ช. ขอไปลงรายละเอียดพูดคุยทีเดียว" นายสามารถกล่าว
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และกิจกรรมพิเศษภาคอีสาน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการทีมประสานงานมวลชนฯ กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงการโยนความคิดที่สับสนในการร่างรัฐธรรมนูญ 3 ประเด็นคือ 1.วิธีการเลือกตั้งที่มาของนายกฯ ครม. ส.ส.และ ส.ว. อยากให้มองถึงปัญหาหลักคือการปฏิรูปคน ส่วนวิธีได้มาซึ่งตำแหน่งนายกฯหรือครม.นั้น กมธ.ปฏิรูปการเมือง ควรศึกษาแก่นแท้ของวัฒนธรรมของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เข้าใจก่อน 2.วิธีการยุติธรรม อยากให้กำหนดกรอบเวลาในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนและกระชับ และ 3.วิธีการมีส่วนร่วม
รบ.ยันไม่มีคุกลับซีไอเอในไทย
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะกำกับสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานผลการสอบสวนการทารุณทรมานผู้ต้องสงสัย ของสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ(ซีไอเอ) ที่ประเทศไทยตกเป็นหนึ่งในประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของคุกลับว่า ประเทศไทยไม่ใช่คู่กรณีกับใครทั้งสิ้น ทั้งนี้ความร่วมมือของรัฐบาลปัจจุบันอยู่บนพื้นฐานอำนาจอธิปไตยของเรา ไม่มีนโยบายเรื่องการปฏิบัติงานใดๆ ที่จะขัดกับหลักกฎหมาย ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของสหรัฐ ยืนยันได้ว่าไม่มีคุกลับและไม่มีการทรมานที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สำหรับรายงานฉบับดังกล่าวก็ยังไม่เห็นมีบทไหนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ขอยืนยันคำเดิมตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ว่าไม่มีคุกลับในประเทศไทยอย่างแน่นอน ขอยืนยันแทนกองทัพบกด้วยว่าเราไม่รู้ ไม่เห็น และไม่ทราบจริงๆ ว่ามีคุกลับหรือไม่ ตั้งอยู่ที่ไหน เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าที่เคยเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว หากมีจริงทางกรรมาธิการ ต้องระบุได้ว่าคุกดังกล่าวตั้งอยู่ที่ไหน ดังนั้นขอยืนยันแทนกองทัพบกเลยว่าไม่มีแน่นอน
วันเดียวกัน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซีถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า ต้องตรวจสอบ แต่คิดว่า ถ้าเป็นการดำเนินงานของซีไอเอ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทยหรือเจ้าหน้าที่ของไทย เพราะฉะนั้นไม่อาจล่วงรู้ได้ ตรงนี้เราไม่มีส่วนรับผิดชอบในประเด็นดังกล่าว
ปปช.ชี้ปี58ปิดคดี 5รมต.จำนำข้าว
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน 5 รัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ประสานให้หลายหน่วยงานส่งเอกสารหลักฐานเข้ามาแล้ว ไม่ว่าสถาบันการเงิน หรืออื่นๆ กำลังเร่งดำเนินการให้เสร็จ คาดว่าต้นปี 2558 ถึงกลางปี อาจได้เห็นข้อสรุปหรือความชัดเจน
เมื่อถามว่าได้เชิญผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 รายมาชี้แจงข้อกล่าวหาแล้วหรือไม่ นายณรงค์กล่าวว่ายังไม่ได้เชิญมาให้ถ้อยคำ แต่ให้ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือบ้างแล้ว เนื่องจากอนุกรรมการเห็นว่ามีข้อสงสัยบางประการของทรัพย์สิน เช่น ทรัพย์สินส่วนนี้ได้มาอย่างไร เมื่อไร
สำหรับกรณีนี้คณะกรรมการป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนฯเพื่อตรวจสอบทรัพย์สินเชิงลึกรัฐมนตรี 5 ราย ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรมว.พาณิชย์, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์, นายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลโครงการรับจำนำข้าว
อปท.ยื่นสปช.-ชงเลือกตั้งผู้ว่าฯ
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่รัฐสภา นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทยและคณะ ยื่นข้อเสนอในการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนการปฏิรูปองค์กรท้องถิ่นต่อสปช. ผ่านพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานอนุกมธ.ประสานเพื่อรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสปช. และนายวุฒิสาร ตันไชย กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
นายพิพัฒน์กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมจัดรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่น มีข้อเสนอ 1.ให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 2 ชั้นคือ อบจ. และเทศบาล โดยให้ปรับปรุงอปท. คือยังคงรูปแบบของอบจ.แต่ปรับให้มีบทบาทความรับผิดชอบเฉพาะงานระดับจังหวัด ยกฐานะอบจ.ที่มีความพร้อมขึ้นเป็นจังหวัดจัดการตนเอง มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรงจากประชาชน ยกฐานะอบต. ขึ้นเป็นเทศบาลทั่วประเทศ และควบรวมเทศบาลหรืออบต.ที่อยู่ในเขตเดียวกันเป็นเทศบาลเมือง เทศบาลนคร โดยใช้สัดส่วนสมาชิกสภาท้องถิ่น 1 คนต่อประชาชน 15,000-20,000 คน
นายพิพัฒน์กล่าวว่า 2.ให้ตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น 3.เพิ่มอำนาจหน้าที่ของอปท.เช่น การจัดการจราจร ที่ยังเป็นภารกิจของตำรวจ ควรให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นดำเนินการแทน 4.จัดตั้ง "สภาพัฒนาท้องถิ่นแห่งชาติ" ขึ้นมาดูแลการบริหารงานของอปท. โดยสภาดังกล่าวขึ้นตรงต่อนายกฯ พร้อมโอนทรัพย์สินหน้าที่ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) มาเป็นของสำนักงานเลขาธิการสภาพัฒนาท้องถิ่นแห่งชาติ ที่มีสถานะเทียบเท่ากระทรวง
5.ให้มีศาลอปท. ซึ่งอาจเป็นแผนกหนึ่งในศาลปกครอง ซึ่งการมีหน่วยงานตรวจสอบต้องมีความเข้าใจสภาพความเป็นไปของท้องถิ่นเป็นหลัก และกำหนดบทลงโทษผู้บริหารท้องถิ่นสถานหนัก ต้องรับผิดชอบทางการเมืองและอาญาตามฐานความผิด เช่น ให้ผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งและมิให้สมัครรับเลือกตั้งในครั้งต่อๆ ไป
ด้านพล.อ.เลิศรัตน์กล่าวภายหลังการรับหนังสือโดยสอบถามว่า ที่มาของนายกและสมาชิกสภาท้องถิ่น สมาคมมีความเห็นอย่างไรหากจะเสนอให้มาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้งอย่างละครึ่งว่า จากการสัมมนาทั่วประเทศเห็นร่วมกันว่า การให้ผู้บริหาร และสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเหมาะสมอยู่แล้ว แต่สมาชิกสภาท้องถิ่น เช่น สมาชิกสภาเทศบาล ที่ใช้วิธีการเลือกตั้งเขตละ 6 คนนั้นไม่ค่อยเหมาะสม เพราะบางครั้งไม่มีสมาชิกสภาท้องถิ่นที่เป็นตัวแทนของหมู่บ้านที่อยู่ในภายเขตเทศบาลนั้นเลย จึงเห็นควรเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว