WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8779 ข่าวสดรายวัน


'201 อจ.'จี้ปกป้องเสรีภาพ 
วิษณุชี้กมธ.เมิน เอนกก็ค้านด้วย เลือกตรงนายก ม็อบยางฮืือทั่ว ให้แก้ 3 โล 100

ถกเกาหลี - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงฐานทัพอากาศ กิมแฮ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ 2014 (ASEAN-Republic of Korea Commemorative Summit 2014) เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.

        อาจารย์-นักวิชาการ 201 คนร่อนจ.ม.เปิดผนึกจี้ประธานทปอ.ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ แอมเนสตี้ไทยหนุนนิรโทษกรรม ให้ปล่อยตัวแบบไม่มีเงื่อนไข 'วิษณุ' เผยกมธ.ยกร่างรธน.ไม่เอาด้วยแน่ เลือกตั้งนายกฯ-ครม.โดยตรง แต่ยังกั๊กท่าทีรัฐบาล รอฟังบทสรุปก่อน 'เอนก เหล่าธรรมทัศน์'ก็ค้าน หวั่นได้ผู้บริหารเป็ดง่อย ขณะที่ม็อบยางหลายจังหวัดยังเคลื่อนไหวจี้รัฐบาลเร่งดันราคายาง 80 บาทต่อก.ก. สวนยางประจวบฯตั้งโต๊ะล่าชื่อ-ระดมความเห็นยื่นผู้ว่าฯส่งต่อรัฐบาล แกนนำเกษตรกรเมืองตรังเดินสายปราศรัย แจกริบบิ้นขาวลั่นสู้อย่างสันติ 'อำนวย ปะติเส'ยันแนวร่วมสวนยางฯ รับปากไม่ชุมนุมต่อต้าน ยอมรับเป็นเรื่องยากทำราคายางแตะ 80 บาท 'ประยุทธ์'นำคณะร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลี หารือแผนบริหารจัดการน้ำ 


นายกฯวางพานพุ่ม-วันรัฐธรรมนูญ
       เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 10 ธ.ค. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ วางพานพุ่มดอกไม้ถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี ที่พระบรมราชานุสาวรีย์ หน้าอาคารรัฐสภา 
     ขณะที่นายกฯ เตรียมขึ้นรถ พล.อ.ประวิตรได้เดินเข้าไปพูดคุยกับนายกฯ ประมาณ 5 นาที ก่อนเดินทางกลับ
     สำหรับ บรรยากาศโดยทั่วไปตลอดช่วงเช้า มีแกนนำและตัวแทนพรรคการเมืองมาร่วมวางพานพุ่มถวายสักการะ อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค พรรคเพื่อไทย นำโดยนายสิงห์ทอง บัวชุม คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พรรคชาติไทยพัฒนา นำโดยนายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค
      เวลา 13.30 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อมด้วยสมาชิก สนช.และสปช. ร่วมวางพานพุ่มดอกไม้ถวายบังคม 

กมธ.ยกร่างฯรอฟังข้อเสนอสปช.
      เมื่อเวลา 13.30 น. ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญและสถาบันพระปกเกล้า ร่วมจัดงานเสวนา เรื่อง'การอบรมเสริมทักษะผู้สร้างความปรองดองในกระบวนการประชาเสวนาหาทางออก เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย' โดยมีนายวุฒิสาร ตันไชย โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า หัวใจสำคัญสำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15-17 ธ.ค. ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ ต้องไปรับฟังความเห็นจากที่ประชุมสปช. โดยมี กมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะคอยให้ความเห็นที่ต้องการปฏิรูปประเทศ จากนั้น กมธ.ยกร่างฯ จะนำข้อมูลที่ได้มาคุยกันว่าสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญควรมีอะไรบ้าง แล้วจึงเขียนโครงร่างของรัฐธรรมนูญเบื้องต้นให้เสร็จในวันที่ 17 เม.ย. ก่อนส่งให้สปช. สนช. และครม. พิจารณาทบทวนให้ความเห็นต่อไป จากนั้น กมธ.ยกร่างฯ มีเวลาอีก 30 วันสำหรับการปรับแก้

ย้ำ 10 เวทีทั่วปท.ไม่ใช่แค่พิธีกรรม
       นายวุฒิสารกล่าวว่า ขณะเดียวกัน กมธ. ยกร่างฯ จะรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างต่อเนื่องทั้ง 10 จุดทั่วประเทศ ประกอบด้วย สุพรรณบุรี ร้อยเอ็ด เชียงใหม่ สุราษฎร์ ธานี สงขลา อุดรธานี สุรินทร์ พิษณุโลก ชลบุรี และกรุงเทพมหานาคร เพื่อนำมาประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยหัวใจสำคัญจะอยู่ที่กระบวนการ ซึ่งเราต้องดูว่าเมื่อทำเสร็จแล้วประชาชนเชื่อถือยอมรับได้หรือไม่ ข้อมูลที่ได้มานั้นต้องมีความน่าเชื่อถือ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของสาระที่เสนอและเป็นเจ้าของอำนาจ จะทำให้เกิดกระบวนการติดตามตรวจสอบเอง ดังนั้น ทั้ง 10 เวทีต้องมีกระบวนการที่มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นกลาง มีสาระสำคัญ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวป็นไปตามที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ย้ำมาตลอดว่ากระบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชนนั้นไม่ใช่พิธีกรรมอย่างแน่นอน 

โวทุกคนเป็นเจ้าของรธน.ใหม่ 
      โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวอีกว่า ส่วนการปฏิรูปนั้นไม่ได้หมายความแค่รัฐธรรมนูญอย่างเดียว เพราะไม่สามารถบัญญัติให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนได้ การปฏิรูปประเทศจึงเป็นหน้าที่ของ สปช.ด้วย เนื้อหาที่ได้จากการรับฟังความเห็นบางส่วนอาจบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่บางส่วนต้องส่งให้ สปช.ที่เหลือเวลาทำหน้าที่อีก 1 ปี ร่วมดำเนินการ 
     "ทุกคนต้องช่วยเข็นเรือแห่งโอกาสลงสู่มหาสมุทรที่กว้างใหญ่ เพื่อให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทุกคนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่แค่สมาชิก สปช. 250 คน และกมธ. ยกร่างฯ 36 คน ทั้งนี้ ยังต้องร่วมกันทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มั่นคงถาวรและฉีกได้ยาก" โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าว 

ย้ำยังไม่สรุปเลือกนายกฯโดยตรง
      นายวุฒิสารให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและ ครม.โดยตรงของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานว่า ความเห็นดังกล่าวยังไม่เป็นที่ยุติ การยกร่างรัฐธรรมนูญยังต้องรับฟังความคิดเห็นจากอีกหลายภาคส่วน เพื่อนำข้อมูลมาเป็นหลักในการทำงาน จากนั้น กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คนจะหารือร่วมกัน เพื่อให้หลักการที่ได้มาตกผลึกและจะเริ่มต้นยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา เดือนม.ค. 58 ซึ่งจะเป็นรูปเป็นร่างภายใน 3 เดือน ซึ่งระหว่างนี้ความคิดเห็นทุกอย่างไม่ว่าจะมาจากพรรค การเมือง ประชาชน สามารถนำมาใช้ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ 
    นายวุฒิสาร กล่าวว่า ส่วนข้อท้วงติงจากพรรคการเมืองต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มองว่าสุดโต่งเกินไปนั้น ถือเป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็น แต่เราจะทำงานให้ดีที่สุดและอธิบายต่อสังคมให้ได้ ยืนยันว่าการทำรัฐธรรมนูญไม่มีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า และสามารถรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้ทุกเมื่อ รวมทั้งข้อเสนอของพรรคต่างๆ จะนำมาพิจารณาร่วมกัน โดยวันที่ 12 ธ.ค.จะรับฟังความคิดเห็นจากพรรคเพื่อไทย โดยนายโภคิน พลกุล จะเข้ามาแสดงความคิดเห็นในนามส่วนตัว ส่วนการนิรโทษกรรมและการทำประชามตินั้นยังไม่มีการพูดถึงเพราะเป็นเรื่องอีกไกล 

'เอนก'ค้านด้วย-ชี้ไม่มีประเพณีปฏิบัติ
      นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอการเลือกตั้งนายกฯโดยตรงว่า ตนเคยเสนอแนวคิดนี้เป็นทางเลือก แต่เมื่อมาเป็นกมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบจึงไม่เสนอแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ยังมีคนเสนอ ทั้งนี้ บ้านเราเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเพณีปฏิบัติคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตำแหน่งนายกฯ เพราะนายกฯไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ส.ส. ส.ว. ไม่ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเพราะมาจากฐานอำนาจคนละฐาน 
      นายเอนก กล่าวว่า ดังนั้น ถ้าเขียนไว้ ในรัฐธรรมนูญว่าให้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมนายกฯ มันไม่เคยมีประเพณีนี้จะเขียนได้หรือไม่ น่าจะรบกวนพระองค์ท่านมาก เป็นเรื่องใหญ่ และใหม่มาก หากเขียนโดยไม่มีพระราชวินิจฉัยจากพระองค์ท่าน ในฐานะคนไทยก็เกรงว่าจะก้าวล่วงพระราชอำนาจ ซึ่งฝ่ายที่เสนอก็คงไม่ได้คิดเช่นนั้น เพียงแต่เสนอทางเลือกออกมาให้สังคมร่วมกันพิจารณา

ห่วงได้ผู้บริหารเป็ดง่อย
     นายเอนก กล่าวว่า นอกจากนั้นถ้ากรณีฝ่ายหนึ่งกุมสภาได้ แต่อีกฝ่ายได้เป็นนายกฯก็จะขัดกัน เหมือนสหรัฐอเมริกาทุกวันนี้ที่นายบารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดี ที่มาจากพรรคเดโมแครต แต่รัฐสภาและวุฒิสภาเป็นของพรรครีพับลิกัน การผ่านกฎหมายหรือการดำเนินการใดๆ จะยากมาก กลายเป็นผู้บริหารเป็ดง่อย แต่กรณีที่ทั้งสภาและนายกฯเป็นของพรรคเดียวกันนั้น ก็จะเป็นปัญหาว่าอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การคิดอะไรที่ไม่ตรงกับรัฐบาลและรัฐสภาจะดำเนินการยากมาก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องรอฟังการอภิปรายใน สปช. วันที่ 15-17 ธ.ค.นี้
     "การเลือกตั้งนายกฯทางตรง อิสราเอลเคยทำแต่ทำได้ไม่กี่ปีก็เลิก เราได้ไปพูด คุยกับเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยซึ่งเล่าให้ฟังว่าไม่ค่อยได้ผลและเลิกไปแล้ว เพราะมันทำให้เกิดรัฐบาลที่รัฐสภาขัดแย้งกับครม. ซึ่งพรรคต่างๆ รวมทั้งพรรคเพื่อไทยก็ไม่เห็นด้วย พรรคอื่นๆ ที่เหลือยิ่งไม่ต้องพูดถึง" นายเอนกกล่าว

ไพบูลย์ ก็ยี้-ชงทางเลือกที่สาม
      นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. ในฐานะกมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า ข้อเสนอให้เลือกครม.โดยตรงยังไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาการเมืองไทยที่สั่งสมมานานได้ และการกำหนดให้ไปลงคะแนนเลือกตั้งครม. ในเวลาเดียวกับการเลือกส.ส. จะส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบการทุจริตซื้อเสียงได้ เหมือนการเลือกส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ไม่สามารถตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งได้ แต่จะตรวจสอบได้เพียงการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ขณะเดียวกันการเลือกตั้งแบบนี้ เท่ากับเพิ่มอำนาจให้กับ 2 พรรคขนาดใหญ่ เพราะโครงสร้างของระบบดังกล่าวเป็นการปรับระบบส.ส.บัญชีรายชื่อให้เป็นระบบบัญชีรายชื่อครม. ซึ่งมี 2 พรรคเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากระบบนี้ เมื่อเหลือแค่นี้ทำให้ไปตัดสิทธิ์ประชาชนที่ไม่ต้องการหรือไม่ชอบคนจาก 2 พรรคนี้ เท่ากับเป็นการบังคับกัน ซึ่งไม่ถูกต้อง 

  นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนขอเสนอทางเลือกที่สาม ให้สมาชิกรัฐสภาทั้งส.ส.และส.ว.เป็นผู้เลือก โดยกระบวนการคือให้บุคคลที่จะเข้ามาเป็นนายกฯและครม.เข้ามาแถลงนโยบายในรัฐสภา ตอบข้อซักถามของสมาชิกรัฐสภาอย่างเปิดเผยและถ่ายทอดสดให้ประชาชนรับทราบด้วย เมื่อกระบวนการเสร็จสิ้น ก็ให้สมาชิกรัฐสภาลงมติลับเลือกนายกฯและครม.ที่เหมาะสม เชื่อว่าวิธีดังกล่าวน่าจะแก้ปัญหาได้ เนื่องจากระบบเดิม มีแต่ส.ส.เท่านั้นที่โหวตเลือกนายกฯเพียงฝ่ายอย่างเดียว และดีกว่าวิธีการเลือกแบบโดยตรงด้วย 


วิษณุ เผยกมธ.ยกร่างฯไม่เอาด้วย
      นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกมธ.ปฏิรูปการเมืองของสปช. สรุปให้ประชาชนเลือกตั้งนายกฯและครม.โดยตรงว่า ตอนนี้รัฐบาลยังไม่ขอพูดอะไร และตนยังไม่อยากตอบเรื่องนี้ เราขอรอฟังให้เขาตกผลึกก่อน ที่จริงวันนี้ต้องเข้าใจว่าสปช.มีกมธ. 18 คณะ รวมถึงกมธ.ที่นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน แต่กมธ.ชุดนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะทำหน้าที่เพียงให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งเขาเสนอมาว่าให้เลือกนายกฯโดยตรง และเพื่อสนับสนุนความเห็นของกมธ.ชุดของนายสมบัติ จึงมีผลสำรวจของนิด้าโพลและ ข้อเสนอของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ออกมาเสนอให้ประชาชนเลือกตั้งนายกฯโดยตรง แต่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีอีกจุดยืนหนึ่ง ไม่ได้เอาด้วยตามนั้น ฉะนั้นตอนนี้ใครออกไปพูดอะไร ถ้าไปพูดว่าอยากให้เลือกนายกฯโดยตรง ก็เข้าทางของกมธ.ปฏิรูปการเมือง แต่ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ไปเข้าทางกมธ.ยกร่างฯ ในส่วนของเราก็รอพิจารณาหลังจากให้เขาเสนอมาให้จบก่อน 
      เมื่อถามว่า บางฝ่ายกังวลว่าการให้เลือก นายกฯ และครม.โดยตรงไม่เหมาะสมกับระบบรัฐสภาที่ประเทศไทยใช้อยู่ นายวิษณุปฏิเสธที่จะตอบ โดยกล่าวติดตลกว่า "อย่าเพิ่งพูดเลย ขอให้ไปถามคนอื่นก่อน ถ้าผมพูดเดี๋ยวจะทำให้เรื่องยิ่งยุ่งหนักเข้าไปอีก"

มาร์คย้ำแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
      นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอการเลือก นายกฯ และครม.โดยตรงว่า พรรคประชา ธิปัตย์ยังไม่มีมติในเรื่องนี้เพราะไม่สามารถจัดการประชุมได้ แต่อยากให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดที่มาของอำนาจบริหารให้ชัดเจนก่อน ต้องมองปัญหาการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายบริหารใช้อำนาจเกินขอบเขตจนเกิดวิกฤตในบ้านเมืองหลายครั้ง หากให้เลือกฝ่ายบริหารโดยตรงอาจเกิดปัญหาเพราะจะอ้างคะแนนเสียงจากประชาชนโดยตรง ซึ่งไม่ตรงกับวิธีแก้ปัญหา ยกเว้นจะออกแบบให้มีความรับผิดชอบและใช้อำนาจในทางที่เหมาะสม หวังว่าการประชุมของสปช. จะหาข้อสรุปออกมาในทิศทาง ที่ดี ก่อนส่งต่อให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ หากกติกาออกมาดี เป็นธรรม เป็นประชา ธิปไตย พรรคการเมืองก็ควรเข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง 
      ส่วนประเด็นการนิรโทษกรรม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยว ข้องยังไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องนี้ เพราะสถานการณ์ยังไม่นิ่ง ควรทำเรื่องใหญ่ที่สำคัญกว่านี้จะเกิดประโยนข์ต่อประเทศมากกว่า ส่วนการลดวาระการดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระนั้น ตนเห็นด้วย ถือว่าเหมาะสมโดยเฉพาะองค์คณะตุลาการ ต้องตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจในการตัดสินคดีสำคัญทางการเมือง จะได้ไม่ตกเป็นเป้าล็อบบี้ ถูกแทรกแซง และคดีสำคัญไม่ควรใช้เวลาเกิน 6 เดือนถึง 1 ปี

ชงริบอำนาจกกต.แจกใบเหลือง
     ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช. ในฐานะประธาน กมธ.ปฏิรูปด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. มีการหารือเรื่องการปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ข้อสรุปว่า กกต.มี 5 คนเท่าเดิม มีวาระ 6 ปี เป็นได้วาระเดียว แต่จะให้มีอำนาจเฉพาะจัดการเลือกตั้งและรวบรวมหลักฐานความผิดกรณีการทุจริตเลือกตั้งเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจแจกใบเหลืองและใบแดงเหมือนที่ผ่านมา โดยให้เป็นหน้าที่ของศาลยุติธรรมแทน เนื่องจาก เห็นว่าหากให้ กกต.มีอำนาจทั้งจัดเลือกตั้ง การสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน การตัดสินแจกใบเหลือง-ใบแดง จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเกินไป ทำให้ถูกวิจารณ์เรื่องความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอำนาจแจกใบเหลือง-ใบแดง มีส่วนทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมือง เกิดความไม่สงบ วุ่นวาย เพราะไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของกกต. จึงควรให้ศาลยุติธรรมมาทำหน้าที่แทน
     นายเสรี กล่าวว่า กรณีมีผู้มาร้องเรื่องทุจริตเลือกตั้ง ควรให้มีกรอบเวลาพิจารณาคดีตั้งแต่ กกต.รับเรื่องร้องเรียน หาพยานหลักฐาน จนถึงกระบวนการที่ศาลตัดสินให้ใบเหลือง-ใบแดง ต้องใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน ไม่ควรยืดเยื้อพิจารณาคดีเป็นปีๆ เหมือนที่ผ่านมา 

ให้ขรก.ทุกระดับยื่นบัญชีทรัพย์สิน 
      นายเสรี กล่าวว่า ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น กมธ.เห็นว่าควรมี 9 คนเช่นเดิม แต่ลดวาระการดำรงตำแหน่งจาก 9 ปีเหลือ 6 ปี และให้มีหน้าที่พิจารณาคดีเฉพาะโทษทางคดีอาญาที่เกี่ยวกับการทุจริตของข้าราชการ และนักการเมืองเพียงอย่าง เดียว ส่วนการพิจารณาโทษทางวินัย ของข้าราชการให้เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.กพ.) ของแต่ละกระทรวง นอกจากนี้จะเสนอให้ข้าราชการทุกระดับต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่อป.ป.ช. ในตอนเข้ารับราชการครั้งแรก เพื่อแสดงความโปร่งใสว่ามีทรัพย์สินเท่าใด ให้ป.ป.ช.เก็บเป็นข้อมูลไว้เปรียบเทียบ หากมีปัญหาเรื่องความผิดปกติทางบัญชีทรัพย์สินในอนาคตจะได้ติดตามตรวจสอบได้ง่ายขึ้น 

ผุดสมัชชาคุมจริยธรรมนักการเมือง
     นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิก สปช. กล่าวว่า สำหรับของขวัญปีใหม่ที่ สปช.จะมอบให้ประชาชน เท่าที่ทราบมีเรื่องการตั้งสมัชชาคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ให้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาแก้ปัญหาคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสังคม โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยจะออกพ.ร.บ. คุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ มาใช้ควบคุมความประพฤติของนักการเมือง และจะมีบทลงโทษนักการเมืองถ้าทำผิดทางจริยธรรม 
     นพ.พลเดช กล่าวว่า ส่วนของขวัญปีใหม่อีกชิ้นคือจะตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้ภาคเอกชนทำธุรกิจในรูปแบบต่างๆ อาทิ ร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ โดยเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่แสวงหาผลกำไร รายได้ทั้งหมดเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วนำไปทำประโยชน์คืนให้สังคมทั้งหมด เหมือนรูปแบบที่ประเทศอังกฤษทำกันมาก ซึ่งไม่ใช่การทำในนามมูลนิธิที่มีข้อจำกัดห้ามทำการค้า แต่การจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมต้องออกกฎหมายรองรับ เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลและทำการค้าได้ ซึ่งขณะนี้มีภาคธุรกิจจำนวนมากตื่นตัว พร้อมเข้าร่วมเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อตอบแทนประโยชน์คืนสังคม โดยไม่หวังผลกำไร 

สปช.วางกรอบถกข้อเสนอร่างรธน.
      นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการ กมธ.วิสามัญกิจการสปช. (วิปสปช.) เปิดเผยว่า จากการหารือกับนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. และน.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่ 2 ถึงกรอบการอภิปรายของสมาชิกสปช. เพื่อพิจารณาประเด็นความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 15-17 ธ.ค.นี้ ได้ข้อสรุปเบื้องต้น จะให้ประธาน กมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะ นำเสนอรายงานคณะละ 30 นาที จากนั้นให้สมาชิก สปช.อภิปราย โดย 1 คนอภิปรายเนื้อหาสาระใน กมธ.ปฏิรูปได้ไม่เกิน 2 คณะ ส่วนผู้อภิปรายจะได้เวลาอภิปรายคนละกี่นาทีนั้นจะสรุปอีกครั้งภายในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ เพราะต้องพิจารณาจำนวนผู้ที่จะอภิปรายในแต่ละประเด็นและเวลาที่จะจัดสรรให้ กมธ.ปฏิรูปแต่ละคณะด้วย แต่ได้วางกรอบ คือ เริ่มประชุมเวลา 09.30 น. และเลิกประชุมในเวลา 19.30 น. รวมทั้งสิ้น 29 ชั่วโมง
      นายอลงกรณ์ กล่าวว่า คาดว่าจะมี กมธ.ปฏิรูป 5 คณะ ได้แก่ กมธ.ปฏิรูปพลังงาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น และกมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีเนื้อหาและสาระสำคัญมากและอาจมีผู้ขออภิปรายจำนวนมาก ดังนั้น ทั้ง 5 คณะอาจได้รับการจัดสรรเวลามากกว่าคณะอื่น ซึ่งตนจะนำข้อสรุปเข้าที่ประชุมวิป สปช.ในวันที่ 12 ธ.ค. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง 

จี้ออกนิรโทษควบเลิกอัยการศึก
      นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตส.ว.กทม.และ ผอ.โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน กล่าวถึงแนวทางการนิรโทษกรรมของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสปช. ว่า เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแก่ผู้ต้องหาในคดีแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง รวมถึงผู้ต้องหาคดี 112 เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น แต่ต้องไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชน แต่เชื่อว่าที่สุดแล้วการนิรโทษฯ เพื่อปรองดองจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะการแสดงออกหรือการแสดงความเห็นตามสิทธิเสรีภาพที่ควรมี นั้นไม่สามารถทำได้ภายใต้การบังคับใช้ กฎอัยการศึก ไม่ว่าจะชู 3 นิ้ว หรือโปรยใบปลิว หากจะผิดก็แค่เรื่องความสะอาดเรียบร้อย แต่ผู้ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกอย่างสันติเหล่านี้กลับถูกดำเนินคดีตามอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น
      นายจอน กล่าวว่า ดังนั้น หากมีการ นิรโทษฯ เกิดขึ้นในวันนี้แต่กฎอัยการศึกยังคงอยู่ พรุ่งนี้ก็ต้องมีคนถูกจับเพราะการใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอีก การนิรโทษฯ ก็จะไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่ยกเลิกกฎอัยการศึกด้วย

แอมเนสตี้ไทยหนุน'ยธ.'เจ้าภาพ
     ด้านน.ส.ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผอ. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า จุดยืนของแอมเนสตี้ฯ มี 2 ประการ 1.นักโทษทางความคิดที่ถูกจับเพราะใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกต่อแนวคิดทางการเมือง หรือศาสนา หรือชาติพันธุ์ โดยสงบสันติ จะต้องได้รับการปล่อยตัวทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข 2.นักโทษอื่นๆ ที่ถูกจับกุม ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ แต่ต้องได้รับความเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งทางแอมเนสตี้ฯ เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวทางนิรโทษฯ โดยเฉพาะแก่นักโทษทางความคิด แต่ไม่เหมาเข่งตามความเคยชินแบบวัฒนธรรมไทย ที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาเพื่อให้ผู้กระทำผิดลอยนวล 
        น.ส.ปริญญา กล่าวว่า ส่วนเจ้าภาพในการผลักดันควรมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างครม.โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรม ก่อนผลักดันให้ฝ่ายนิติบัญญัติอย่าง สนช.พิจารณาก่อนบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป หากมีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมแอสเนสตี้ฯ จะติดตามศึกษาวิเคราะห์อย่างใกล้ชิดว่าสอดคล้องต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากลหรือไม่ 

แนะให้ปล่อยตัวทันที-ไม่มีเงื่อนไข
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เรื่อง'ไทย : การปราบปรามเสรีภาพในการพูดทำให้เกิดวงจรความเงียบงัน' โดยนายริชาร์ด เบนเน็ต ผอ.ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า รัฐบาลไทยต้องยุติพฤติการณ์ที่ขาดความเคารพต่อเสรีภาพ ในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งยุติการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเรากำลังเห็นวงจรแห่งความเงียบงันเกิดขึ้นในไทย มีการเพิ่มเงื่อนไขอย่างต่อเนื่องเพื่อจำกัดเสรีภาพในการพูดและปิดกั้นการแสดงออกของภาคประชาสังคมที่เคยมีความเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง ซึ่งการปฏิเสธไม่ให้พื้นที่เพื่อการถกเถียงและการคุมขังผู้วิจารณ์อย่างสงบ โดยใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้มงวด จะไม่ช่วยนำไปสู่ความปรองดองแห่งชาติ ตามที่ทางการสัญญาว่าจะทำให้เกิดขึ้น
      แถลงการณ์ระบุว่า ทางการมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อเสียงวิจารณ์ มีการเซ็นเซอร์ที่ครอบคลุมถึงการจัดงานสัมมนาทางวิชาการ และการควบคุมสื่อมวลชนและยังห้ามการชุมนุมเกินกว่า 5 คนขึ้นไป ในช่วงเดือนที่ผ่านมามีการควบคุมตัวผู้ประท้วงอย่างสงบ 19 คน จากการชู 3 นิ้ว และอีก 8 คนถูกควบคุมตัวเพราะแจกใบปลิว
       "วันสิทธิมนุษยชนสากลในวันที่ 10 ธ.ค. ประชาชนทั่วโลกฉลองความก้าวหน้าในการบรรลุสิทธิมนุษยชน น่าเสียดายที่ไทยแทบไม่มีอะไรฉลองในปีนี้เลย ทั้งนี้ควรนำข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญกลับมาใช้และให้มีการปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยสมบูรณ์ รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ นอกจากนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เห็นว่าบุคคลใดที่ถูกคุมขังเพียงเพราะแสดงความเห็นอย่างสงบเป็นนักโทษด้านความคิด พวกเขาควรได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข" นายริชาร์ดกล่าว 

'วรชัย'เชื่อปฏิวัติซ้อนเป็นไปได้สูง
       นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช. กล่าวถึงกรณีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ เตือนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ให้ระวังการปฏิวัติซ้อนว่า สิ่งที่พล.อ.ชวลิตพูดมีความเป็นไปได้สูง เพราะมีเงื่อนไขหลายประการนำไปสู่จุดนั้น ประการแรกคือเครือข่ายอำนาจในตอนนี้เห็นชัดเจนว่าไม่เป็นเอกภาพ อาจมีการหักเหลี่ยมกันภายใน ประการที่สอง จะเกิดจากปัจจัยการบริหาร ที่เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ วันนี้ชาวสวนยางเตรียมบุกยึดทำเนียบรัฐบาลแล้ว ถ้าไม่ได้ราคาตามที่เขาต้องการ และมีแนวโน้มว่าจะเกิดการประท้วงลักษณะเดียวกันจากชาวไร่และชาวสวนอื่นๆ เช่น ชาวนาผู้ปลูกข้าว
       นายวรชัย กล่าวว่า ประการที่สามจะเกิดแรงกดดันจากภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจ อุตสาห กรรม ที่วันนี้เจ๊งกันเป็นแถบ จากการคงอยู่ของกฎอัยการศึก และประการที่สี่ แนวทางปฏิรูปที่กำลังทำกันผิดทิศผิดทาง สัญญาณบอกเหตุคือเมื่อกระแสเลือกตั้งนายกฯ และ ครม.โดยตรงออกมา ปรากฏว่าหุ้นตกติดกันมา 3-4 วันแล้ว

ม็อบยางประจวบตั้งโต๊ะร้องผวจ.
      สำหรับ บรรยากาศการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ เวลา 14.00 น. เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นัดรวมตัวชุมนุมที่ริมถนนเพชรเกษม หลักก.ม.ที่ 413 บ้านธรรมรัตน์ หมู่ที่ 5 ต.ทองมงคล อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากนั้นติดตั้งป้ายเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหายางพาราที่มีราคาตกต่ำ โดยให้รัฐบาลอุดหนุนราคายางพาราแผ่นดิบ ก.ก.ละ 80 บาท เร่งแก้ปัญหาสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้เกษตรกร ให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิไร่ละ 1,000 บาท นอกจากนี้ตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่มาเข้าร่วมเพื่อขอความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหา และยื่นต่อนายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าฯประจวบคีรีขันธ์ เพื่อส่งให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหายางพาราอย่างเร่งด่วนต่อไป 
       นายจำลอง ดีทองอ่อน ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรฯ เผยว่า ปัญหาที่พบขณะนี้มี 5 ข้อ 1.ราคายางพาราตกต่ำเหลือเพียงก.ก.ละ 40.50 บาท ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาให้ราคายางปรับสูงขึ้นโดยเร็วที่สุด 2.ให้รัฐบาลปรับราคายางให้ถึงก.ก.ละ 80 บาท ซึ่งส่วนต่างสามารถจ่ายเป็นพันธบัตรให้กับเกษตรกรได้ 3.ให้เวลารัฐบาลดำเนินการตั้งแต่ธ.ค.2557-มี.ค.2558 หรือถึงฤดูปิดกรีดยาง 4.มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ต่อครัวเรือน เกษตรกรยังได้รับความช่วยเหลือไม่ทั่วถึง ได้เฉพาะที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิด้วย และ 5.ปัญหาสำคัญคือในพื้นที่ อ.บางสะพานและอ.บางสะพานน้อย ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ อยากให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาให้ด้วย

สวนยางตรังจี้รัฐบาลแก้ราคาตก
      ที่อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ เขตเทศบาลนครตรัง นายสิงห์สยาม มุกดา แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง พร้อมด้วย จ.ส.ต.ชัยวัฒน์ เส้งนุ้ย สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง และเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางจำนวนหนึ่ง นำรถติดเครื่องขยายเสียงมาปราศรัย เพื่อขอความเห็นใจจากรัฐบาลให้ช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำโดยเร็ว ท่ามกลาง เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ หน่วยข่าวกรอง ทหาร และฝ่ายปกครอง เฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิด
      นายสิงห์สยาม กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรเดือดร้อนอย่างมากและมีแนวโน้มราคายางจะร่วงลงไปมากกว่านี้ ปัจจุบันเหลือเพียงก.ก.ละ 30 กว่าบาท หรือ 3 ก.ก. 100 บาทแล้ว ส่วนแนวทางเคลื่อนไหวของชาวสวนยางในครั้งนี้ ยืนยันจะไม่ดำเนินการใดๆ ที่ขัดต่อกฎอัยการศึก แต่จะเป็นไปด้วยความสงบ สันติ และพร้อมจะต่อสู้จนกว่าจะสำเร็จ เบื้องต้นแกนนำได้รับการประสานจากนายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าฯตรัง ว่าจะจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ วันที่ 12 ธ.ค.นี้ ที่โรงแรมวัฒนาปาร์ค อ.เมืองตรัง

ติดริบบิ้นขาวที่บ้าน'ชวน'
       จากนั้นนายสิงห์สยาม นำริบบิ้นสีขาวแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มาท่องเที่ยวภายในอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ เพื่อแสดงสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้โดยสันติวิธี พร้อมเดินทางไปผูกริบบิ้นสีขาวที่บ้านพักบุคคลสำคัญๆ ในจ.ตรัง อาทิ บ้านพักผู้ว่าฯตรัง บ้านพักพล.ต.ต.จีรวัฒน์ อุดมสุด ผบก.ภ.จว.ตรัง โดยเฉพาะที่บ้านพักนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ นายสิงห์สยาม ได้นำริบบิ้นสีขาวไปผูกที่ขาตั้งภาพถ่าย ของนางถ้วน หลีกภัย เพื่อขอพรให้การเคลื่อนไหวต่อสู้ปัญหาราคายางให้กับเกษตรกรในครั้งนี้สำเร็จโดยเร็วที่สุด ก่อนนำขบวนไปตามเส้นทางต่างๆ ในตัวเมืองตรัง เพื่อรณรงค์และหาแนวร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

'อำนวย'ย้ำยากดันยางแตะ 80 บาท
       ที่รัฐสภา นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการพูดคุยกับกลุ่มแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ตัวแทนชาวสวนยางอยากได้ราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม เราก็อยากให้แต่เป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ เราพยายามแก้ปัญหาอยู่ โดยใช้มาตรการต่างๆ เพื่อดึงให้ราคาขึ้น คือการให้อำนาจซื้อ ปัจจุบันให้กองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางเข้าไปซื้อยาง แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันดิ่งลง จึงทำให้ราคาขึ้นช้า ตนคิดว่านอกจากผลักดันราคายางพาราให้ถึง 60 บาทต่อก.ก.แล้ว จะมีส่วนไหนเติมเข้าไปได้อีก
      เมื่อถามถึงกระแสข่าวกักตุนยางส่งผลให้ส่งออกยางได้น้อย นายอำนวยกล่าวว่า ตนประเมินตลาดอยู่ ข้อเท็จจริงคือปัจจุบันยางสังเคราะห์กำลังไล่ทุบยางของจริงอยู่ เป็นกลไกตลาดปกติ ส่วนจะมีการเก็บหรือซ่อนเร้นที่ไหนอย่างไร ยังไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏ แต่สั่งคนไปตรวจและประเมินดูอยู่

เผยแนวร่วมรับปากไม่ชุมนุมต่อต้าน
       นายอำนวย กล่าวว่า จากการพูดคุย แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางยืนยันจะไม่มีชุมนุมต่อต้าน แต่อาจเคลื่อนไหวยื่นหนังสือซึ่งไม่เป็นไร ส่วนที่ขีดเส้นรัฐบาลภายในสิ้นปีนี้ราคาต้องถึง 80 บาทนั้น ทุกคนต้องเข้าใจว่าขณะนี้ตลาดเป็นอย่างไร ยางสังเคราะห์มีราคาถูกและยังใช้แทนยางธรรมชาติได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ หากยางธรรมชาติแพง เขาจะซื้อยางสังเคราะห์แทนแล้วตลาดจะอยู่ได้อย่างไร
      นายอำนวย กล่าวว่า นอกจากนี้ยังหารือกันถึงร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ที่อยู่ในวาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ก็ให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปและให้โอกาสแก้ไขเต็มที่ ซึ่งการออกกฎหมายถ้าไม่ดีก็ไม่มีใครอยากออก ถ้าผู้ใช้หรือเจ้าของไม่อยากได้ ก็ไม่รู้จะออกไปทำไม ดังนั้นเขาเห็นด้วยที่จะมาร่วมกันเป็นกรรมาธิการ ซึ่งสามารถแปรญัตติได้

สนช.เร่งพิจารณาพ.ร.บ.ยาง
      พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะ คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสนช. กล่าวถึง การพิจารณา ร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.... ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ว่า การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว จะมีความสัมพันธ์ต่อการแก้ปัญหาราคายางในระยะยาว เชื่อว่าจะมีสมาชิกสนช.ร่วมอภิปรายอย่างกว้างขวาง เพราะทุกคนต่างต้องการแก้ปัญหาราคายางอยู่แล้ว ซึ่งส่วนตัวมองว่า การแก้ไขปัญหาราคาอย่างตกต่ำต้องไปเริ่มตั้งแต่ต้นตอของปัญหา และเมื่อลงมติรับหลักการวาระแรก สนช.ที่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากเกษตรกรชาวสวนยางก็พร้อมให้เกษตรกรชาวสวนยางได้มีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการ
      พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนระยะเวลาการพิจารณาในชั้นกมธ.นี้คาดว่าจะใช้เวลา 30 วัน ก่อนเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2-3 ต่อไป จึงคาดว่าพ.ร.บ.การยางฯ น่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2558 ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาราคายางในระยะสั้นนั้นคงต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารว่า จะมีการกำหนดแนวทางหรือมาตรการการเยียวยาพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป 

ครม.ขอถอนร่างกม.ภาษีมรดก
        พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการผลักดันร่างพ.ร.บ.การรับภาษีมรดก ล่าสุด ครม.ในฐานะผู้เสนอได้ขอถอนร่างฉบับดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากยังไม่สามารถชี้แจงข้อซักถามของกมธ.ได้ครบถ้วน จึงขอนำร่างดังกล่าวกลับปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ก่อนผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสนช.อีกครั้ง

'ตู่'ร่วมถกสุดยอดอาเซียน-เกาหลี
      เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 10 ธ.ค. ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา และพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ และพล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค คณะทำงานด้านการต่างประเทศ เดินทางด้วยเครื่องบินแอร์บัส เอ-310 กองทัพอากาศ ไปยังฐานทัพอากาศ กิมแฮ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดภาคธุรกิจอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (2014 ASEAN-ROK CEO Summit) และร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 10-12 ธ.ค.
      ทั้งนี้ นายกฯ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใดและเดินเข้าห้องพักรับรองทันที ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด โดยนายกฯ และคณะเดินทางถึงนครปูซานในเวลา 18.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น (เร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง) จากนั้นเดินทางไปยังโรงแรมลอตเต้โฮเตล ปูซาล ซึ่งเป็นโรงแรมที่พัก และในช่วงค่ำเอกอัครราชทูตเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกฯ และภริยา
       สำหรับ การประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะกล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ "อนาคตของเศรษฐกิจโลกและบทบาทของเอเชีย" พร้อมชี้แจงนโยบายมาตรการทางเศรษฐกิจของไทยว่าด้วยการลดอุปสรรคทางการค้า ส่งเสริมความเชื่อมโยงรวมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดน เศรษฐกิจดิจิตอลและเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีในโอกาสครบรอบ 25 ปีของความสัมพันธ์ 
       นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการหารือทวิภาคีกับผู้นำที่สำคัญ ได้แก่ ประธานาธิบดีเกาหลี และเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน และพบปะกับภาคธุรกิจชั้นนำของเกาหลีใต้ อาทิ ซัมซุง, แอลจี, ฮุนได, เค-วอเตอร์ ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือเรื่องการบริหารจัดการ น้ำด้วย

201 อาจารย์จี้ทปอ.ป้องเสรีภาพ
      วันที่ 10 ธ.ค. กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัย 201 คน ร่วมลงชื่อในหนังสือเปิดผนึกถึงประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) เพื่อเรียกร้องให้คุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการที่ถูกคุกคามในรั้วมหาวิทยาลัย มีเนื้อหาระบุว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้คนที่ห่วงใยอนาคตบ้านเมืองจะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้อย่างเปิดเผย ไม่ต้องหวาดกลัว ซึ่งตั้งแต่มีการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ผู้บริหารประเทศใช้อำนาจคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ สั่งมหาวิทยาลัยห้ามจัดกิจกรรมทางวิชาการอย่างต่อเนื่องและเพิ่มระดับมากขึ้นเรื่อยๆ 
       พวกเราในฐานะกลุ่มคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา มีความห่วงใยที่ไม่สามารถรักษาความเป็นอิสระของพื้นที่แห่งปัญญาเอาไว้ได้ และรู้สึกถึงหน้าที่ที่ต้องยืนยันในหลักการสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องยึดมั่น คือ 1.เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ 2.เสรีภาพทางวิชาการเพื่อประโยชน์ส่วนรวม 3.รัฐมีหน้าที่คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนรวมถึงเสรีภาพทางวิชาการ 4.ผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่คุ้มครองและปกป้องเสรีภาพจากการถูกคุกคามและแทรกแซงใดๆ 5.การที่นักศึกษาและนักวิชาการบางกลุ่มริเริ่มกิจกรรมทางสังคม ให้ความช่วยเหลือชุมชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถือเป็นการทำหน้าที่รับผิดชอบทางสังคม มิได้มีนัยของการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิรูปประเทศ
        ขอเรียกร้องให้ ทปอ.และผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งดำเนินการดังนี้ 1.แสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม โดยการยืนยันในหลักการเสรีภาพทางวิชาการทั้งของสถาบันและของบุคลากร 2.ปกป้องไม่ให้มีการแทรกแซงและคุกคามโดยไร้เหตุผลจากผู้ถืออำนาจรัฐในขณะนี้
       3.เรียกร้องให้ คสช.ยอมรับความเป็นอิสระในการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยในกิจกรรมทางวิชาการของบุคลากรและนักศึกษา โดยไม่จำเป็นต้องยอมรับการออกคำสั่งของ คสช. ที่ทำให้นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว 4.ส่งเสริมให้นักศึกษาและคณาจารย์ รวมถึงบุคลากรในสถาบันการศึกษาได้ใช้เสรีภาพทางวิชาการอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม ไม่ใช่กลุ่มอำนาจใดๆโดยเฉพาะ
      5.การแสดงจุดยืนทางการเมืองของ ทปอ. และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ไม่ควรส่งผลถึงการใช้มาตรการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการที่แตกต่างหลากหลายของนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย
      สำหรับ รายชื่อผู้ลงนามในจดหมายเปิดผนึก 201 คน มีทั้งนักวิชาการ คณาจารย์ในมหาวิทยาลัย อดีตข้าราชการ อาทิ นายเกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.), นายชยันต์ วรรธนะภูติ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ มธ., นายชินฮาโร ทารา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, นายไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, นายธนาวิ โชติประดิษ Birkbeck College, University of London, น.ส.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, นายบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, นายประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มธ., นายประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
       นางผาสุก พงษ์ไพจิตร จุฬาฯ, นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, นายยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ., นายวศิน โกมุท คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, นายวิโรจน์ อาลี คณะรัฐศาสตร์ มธ., นายศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, นายอรรถจักร สัตยานุรักษ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!