WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 06 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8744 ข่าวสดรายวัน


23 พรรค-ค้าน เลือกตั้งนายก 
ฤทธิเทพยังได้ ลุ้นนั่งผู้ตรวจฯ

        กรรมาธิการสปช.สรุปความเห็น 23 พรรคการเมือง ให้นายกฯ มาจากระบบสภา ส.ส.ต้องสังกัดพรรค เลือกตั้งแบบวันแมนวันโหวต ชงหั่นวาระป.ป.ช.จาก 9 ปีเหลือ 5 ปี ด้านกมธ.ปฏิรูปกฎหมาย เสนอสังคายนาศาลรัฐธรรม นูญทั้งระบบ ลดวาระเหลือ 5 ปี 'เอนก'ชี้ผลักดันกฎหมายนิรโทษเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ 'บิ๊กตู่'บินร่วมประชุมอาเซียน-เกาหลี 10-12 ธ.ค. 'ม.ล.ฤทธิเทพ'ยังได้ลุ้น ให้กรรมการสรรหายันมติเดิมนั่งเก้าอี้ผู้ตรวจการฯ อสส.ย้ำคดี'จำนำข้าว'ต้องสอบพยานเพิ่ม 

พรรคการเมืองชู 2 สภา 

      วันที่ 5 ธ.ค. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะอนุกรรมาธิการ(กมธ.) ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และองค์กรอื่นๆ ในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงผลการรับฟังความเห็นจาก 74 พรรคการเมืองและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ผ่านทางจดหมาย ว่าขณะนี้มีพรรคการเมืองที่ตอบรับและส่งความเห็นตามชุดคำถามที่อนุกมธ.ประสานเพื่อรับความคิดเห็นฯ เสนอจำนวน 23 พรรคการเมือง อาทิ พรรคเพื่อไทย ที่มีนาย ชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยนำส่ง พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังชล พรรคมาตุภูมิ พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิป ไตยใหม่ พรรคมหาประชาชน พรรคประชาธิป ไตยก้าวหน้า พรรคพลังคนกีฬา พรรคเพื่อ ฟ้าดิน พรรคเพื่อสหกรณ์ พรรคไทยรักธรรม พรรคปฏิรูปไทย พรรคเพื่อชีวิตใหม่ พรรคประชาสันติ พรรคเมืองไทยของเรา พรรคพลังไทยรักชาติ พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคชาติสามัคคี พรรคเพื่อธรรม และพรรคกิจสังคม

      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า สามารถสรุปผลประเมินตามแบบสอบถามได้ดังนี้ 1.รูปแบบของสภา พรรคการเมืองเห็นด้วยกับรูปแบบของสภา 2 สภา คือวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด รองลงมาเห็นด้วยกับรูปแบบ 3 สภาคือ วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และสภาประชาชน 2.จำนวนของส.ส. เห็นด้วยให้มีส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 125 คนหรือไม่ โดยพรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นด้วยบางส่วน รองลงมาคือเห็นด้วยทั้งหมด 3.การกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของส.ส. เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยให้กำหนดหรือจำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง รองลงมาเห็นว่าควรกำหนดให้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน 

ส.ส.เขตเดียวเบอร์เดียว

      4.รูปแบบของการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขต พรรคการเมืองเห็นว่าควรเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว รองลงมาคือเขตละไม่เกิน 3 คน 5.คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดยยกเหตุผลคือต้องการสร้างพรรคการเมืองให้มีความมั่นคงและเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นหลักของระบอบประชาธิปไตย รองลงมาคือเห็นด้วยกับกรณีส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง คิดเป็นจำนวน 4 พรรคการเมือง ซึ่งมีเหตุผลคือ ที่ผ่านมาพรรคการเมืองไม่มีนโยบายที่ชัดเจน และส.ส.ขาดอิสระในการนำเสนอร่างกฎหมายหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ 6.คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 ม.ค.ของปีที่มีการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นด้วย 

นายกฯมาจากสภา 

        7.การกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของส.ว. พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นว่าต้องกำหนดไม่เกิน 1 วาระ รองลงมาเห็นว่าไม่ควรกำหนด 8.การกำหนดให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งและสรรหาเหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2550 พรรค การเมืองส่วนใหญ่เห็นด้วยบางส่วน โดยมีเหตุผลคือ ควรปรับกระบวนการเลือกตั้งและสรรหาใหม่ โดยยึดในส่วนของสายวิชาชีพ รองลงมาไม่เห็นด้วย 

      9.การกำหนดให้จำนวนส.ว.ในแต่ละจังหวัดขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร พรรคการ เมืองส่วนใหญ่เห็นด้วยทั้งหมด รองลงมาไม่เห็นด้วย 10.กระบวนการสรรหาส.ว. ที่ยึดตามรัฐธรรมนูญ 2550 พรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากต้องปรับกระบวนการสรรหา โดยเฉพาะกรรมการสรรหาที่ต้อง เปิดกว้างและหลากหลาย พร้อมยึดโยงกับประชาชน รองลงมาคือเห็นด้วยทั้งหมด 

      11.ข้อเสนอต่อการเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเป็นคำถามปลายเปิด แต่สรุปภาพรวมคือต้องการให้นายกฯ มาจากสภา

ลดวาระป.ป.ช.เหลือ 5 ปี 

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า คำถามลำดับที่ 12-21 เป็นประเด็นว่าด้วยกระบวนการสรรหา และวาระดำรงตำแหน่งของกรรมการในองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นว่าต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการสรรหา โดยมีข้อเสนอให้เปิดกว้าง และคณะกรรมการสรรหาต้องมีความหลากหลาย ขณะที่วาระดำรงตำแหน่งเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรลดวาระดำรงตำแหน่งลง เช่น กรรมการป.ป.ช. เห็นว่าควรปรับลดจากวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี เป็น 5 ปี

ลดวาระ-กำหนดอำนาจศาลรธน.

      นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. ในฐานะกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เผยว่า กมธ.ได้ข้อสรุปให้แก้ไขเรื่องอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้ลดเวลาการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรม นูญจาก 9 ปี เหลือ 5 ปี เนื่องจากเห็นว่าเวลา 9 ปีนานเกินไป ไม่อยากให้มีการฝังรากลึกจนคิดว่าจะทำอย่างไรก็ได้ เพราะไม่มีใครกล้าปลด ส่วนเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ นั้นต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า จะให้มีอำนาจพิจารณาในเรื่องใดบ้าง ไม่ให้มาถกเถียงกันว่ามีการวินิจฉัยเกินอำนาจหน้าที่อีก รวมถึงเรื่องที่มาของศาลรัฐธรรมนูญควรมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน โดยให้มีตัวแทนจากนักกฎหมายมหาชนมาร่วมเป็นด้วย

      นายวันชัย กล่าวว่า กมธ.เห็นตรงกันว่าหลักการสำคัญในการปรับปรุงการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ คือ 1.ไม่ให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องสองมาตรฐาน 2.ต้องปลอดจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง 3.ไม่ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในตำแหน่งฝังรากลึกนานจนเกินไป และ 4.การลงมติขององค์กรอิสระ จะใช้วิธีงดออกเสียงไม่ได้ เพราะองค์กรอิสระถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้แสดงความเห็น และชี้ขาดในการลงมติ เพื่อตัดสินลงโทษ ดังนั้น จะมาใช้วิธีงดออกเสียง ลอยตัวเหนือปัญหาไม่ได้ การลงมติงดออกเสียงในองค์กรอิสระหลังจากนี้ต้องไม่มี โดยวันที่ 8 ธ.ค.นี้ กมธ.จะประชุมให้ได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว และจะส่งข้อเสนอทั้งหมดให้นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เพื่อส่งต่อให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป

"เอนก"ชี้นิรโทษเรื่องของผู้มีอำนาจ 

      นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะอนุกมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 10 ว่าด้วยการสร้างความปรองดองในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงการออกกฎหมายนิรโทษกรรม 4 รูปแบบ ว่า สามารถทำได้ทั้ง 4 แนวทาง แนวทางไหน ผู้มีอำนาจเห็นว่าเหมาะสมก็ทำได้ การที่รองนายกฯพูดแบบนี้แล้วก็ต้องทำได้ทั้งหมด แต่จะทำแบบไหนก็ได้ที่ไม่นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง บาดหมางกันและก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและเรื่องการสร้างความปรองดองทุกคนต้องช่วยกัน เพราะเป็นเรื่องของคนในสังคมที่ต้องช่วยกัน

      "ผมยืนยันอีกครั้งว่าเรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของผม แนวทางจะทำกันแบบไหนก็เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ คุณลองไปถามคนที่ติดคุก คนที่ลำบากดูว่าอยากให้นิรโทษกรรมหรือไม่ ไม่ต้องมาถามผม" นายเอนกกล่าว

      ส่วนกรณี กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปช.เสนอให้ผู้สมัครเลือกตั้งทุกระดับต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและแสดงรายการเสียภาษีย้อนหลัง 5 ปีนั้น นายเอนกกล่าวว่า เรื่องนี้ยังอีกนาน ยังต้องผ่านกระบวนการอีกเยอะ

บิ๊กตู่บินเกาหลี 10-12 ธ.ค.

       พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค ทีมงานโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ด้านต่างประเทศ เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเดินทางเยือนสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมประชุมอาเซียน-เกาหลี ระหว่างวันที่ 10-12 ธ.ค.นี้ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นในด้านการค้าการลงทุน เนื่องจากเกาหลีกังวลว่าปัจจุบันประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย มีเพียงประเทศญี่ปุ่นและจีนเป็นหลัก จึงอยากให้มีช่องทางเพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นหัวหอกทางธุรกิจของเกาหลีใต้ได้เข้ามาร่วมลงทุน 

     พล.ต.วีรชน กล่าวว่า เกาหลีใต้สนใจการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารการจัดการน้ำ จึงคาดว่าจะมีการหารือในเรื่องนี้เป็นพิเศษ นายกฯจะชี้แจงถึงการทบทวนมาตรการการลงทุนของไทยที่จะเกื้อกูลต่อการลงทุนของต่างประเทศมากขึ้น และมีกำหนดการร่วมหารือทวิภาคีกับน.ส.ปัก กึน-ฮเย ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี และพบหารือกับบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ของเกาหลี อาทิ บริษัทซัมซุง และบริษัทฮุนได อีกด้วย

เล็งเปิดงานรำลึก"สึนามิ" 27 ธ.ค.

พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ส่วนการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่น ตามกำหนดการเดิมที่จะเดินทางไปภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจเยือนเกาหลีใต้นั้น เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งจะประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรไป จึงต้องรอให้สถานการณ์การเมืองภายในญี่ปุ่นเรียบร้อยก่อนถึงจะเดินทางไปได้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นภายในต้นปีหน้า ทั้งนี้ สำหรับการเดินทางลงพื้นที่ภายในประเทศของนายกฯนั้น คาดว่าช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้นายกฯมีภารกิจลงพื้นที่ภาคใต้ แต่จะเป็นจังหวัดใดยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ แต่จะเปิดเผยให้รับทราบอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการยืนยันรายละเอียดที่ชัดเจน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการจัดงานสึนามิ และทาง ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาเตรียมการจัดงาน "รำลึกสึนามิ" ขึ้น และได้เชิญพล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 27 ธ.ค.ด้วย แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานนายกฯและพิจารณาช่วงเวลาด้วยว่ามีภารกิจอื่นหรือไม่ หากไม่มีภารกิจใดสำคัญนายกรัฐมนตรีก็จะเดินทางไปในวันที่ 27 ธ.ค.นี้

"ฤทธิเทพ"ยังมีลุ้นมติกก.สรรหา

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวกรณีที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบให้ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ ว่าหลังจากนี้สนช.ต้องส่งเรื่องดังกล่าวกลับมายังคณะกรรมการสรรหา เพื่อให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาว่าม.ล.ฤทธิเทพยังเหมาะสมจะดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ หากคณะกรรมการสรรหามีเสียงเป็นเอกฉันท์ว่าม.ล.ฤทธิเทพยังเป็นผู้มีความเหมาะสม ก็จะส่งเรื่องให้ประธานสนช.เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป แต่หากคณะกรรมการสรรหาเสียงแตก ไม่เป็นเอกฉันท์ว่าม.ล.ฤทธิเทพยังเป็นผู้เหมาะสม ก็ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ ตั้งแต่การรับสมัคร และเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการสรรหาก็ส่งเรื่องไปยังสนช.พิจารณาต่อไป โดยที่ยังใช้คณะกรรมการสรรหาชุดเดิมอยู่

เมื่อถามว่าการที่สนช.มีมติไม่ให้ความเห็นชอบให้ม.ล.ฤทธิเทพดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของ ผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ นายรักษเกชากล่าวว่าเรื่องดังกล่าวไม่กระทบกับการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะตำแหน่งดังกล่าวจะมาแทนนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ซึ่งตามกฎหมายแล้วนางผาณิตต้องทำหน้าที่จนกว่าจะมีผู้ตรวจการคนใหม่ 

อสส.ยันคดีข้าว-ต้องสอบพยานเพิ่ม

นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด (อสส.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายอสส. พิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เผยความคืบหน้าในกรณีดังกล่าวว่า ยังไม่ได้รับหนังสือจากคณะทำงานฝ่ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อให้นัดประชุมครั้งต่อไป อย่างไรก็ตามขณะนี้อสส.กำลังพิจารณารายงานการประชุมคราวที่แล้วอยู่ ซึ่งไม่ทราบว่าพิจารณาไปถึงไหนแล้ว ทีมงานคงกำลังดำเนินการ คาดว่าน่าจะนัดหมายกันได้ภายในเดือนธ.ค.นี้ หากอสส.พิจารณารายงานการประชุมแล้วเสร็จก็สามารถนัดประชุมได้ทันที

"ต้องรอความเห็นของอสส.นิดหนึ่งก่อน ว่าได้ความอย่างนี้จะเอาอย่างไรต่อ เราก็ต่างคนต่างรายงาน เขาก็คงรายงานว่าทางผมบอกให้สอบ ทางป.ป.ช.จะอย่างไร ของผมก็รายงานว่าคณะทำงานมีความเห็นอย่างนี้ เขาไม่ยอมสอบให้ ท่านจะเอาอย่างไร แต่ตัวผมก็เห็นว่ายังต้องสอบพยานเพิ่มเติมเพราะประเด็นบางอย่างยังไม่กระจ่างชัด" นายวุฒิพงศ์กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวที่อสส.ยื่นหนังสือให้ป.ป.ช.ยืนยันเรื่องการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีเรื่องทุจริตจึงจะฟ้องคดีให้นั้น นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า เรื่องทุจริตคือประเด็น เขาบอกว่าไม่เอาเรื่องทุจริต เราก็บอกไม่ให้ทำได้อย่างไร ในเมื่อตั้งเรื่องทุจริตไว้ทุกขั้นตอนก็เลยต้องการจะให้ป.ป.ช.ตรวจสอบดูว่ามีเรื่องทุจริตตรงไหนบ้าง

เมื่อถามว่าถ้าป.ป.ช.ยืนยันว่าคดีนี้ไม่มีทุจริต อสส.อาจจะฟ้องคดีได้เลย นายวุฒิพงศ์กล่าวว่ามันก็มีประเด็นอื่น ไม่ใช่เรื่องทุจริตอย่างเดียว คือทางคณะทำงานยังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอยู่ ดังนั้นต้องรออสส.ว่าจะตัดสินใจอย่างไร

สนช.ประชุม11-12ธค.-ถกพรบ.ยาง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่านายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. มีคำสั่งให้นัดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ครั้งที่ 30/2557 ในวันที่ 11 ธ.ค. เวลา 10.00 น. และครั้งที่ 31/2557 ในวันที่ 12 ธ.ค. เวลา 10.00 น. โดยมีเรื่องเร่งด่วนที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ คือพิจารณาร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศ พ.ศ... ร่างพ.ร.บ.หอพัก พ.ศ... และพิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว คือร่างพ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ... ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.... (กำหนดนิยามคำว่า "เจ้าพนักงาน" ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.... (แก้ไขความผิดเกี่ยวกับเพศ) ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่..) พ.ศ... ร่างพ.ร.บ.ประกันวินาศภัย (ฉบับที่..) พ.ศ... ร่างพ.ร.บ.ประกันชีวิต (ฉบับที่..) พ.ศ... ร่างพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน(ฉบับที่..) พ.ศ...

นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาเรื่องที่เสนอใหม่คือ รายงานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประจำปีงบประมาณ 2556 ตามมาตรา 18 (12) แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ.2545 และรายงานประจำปี 2556 ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามมาตรา 27 (3) แห่งพ.ร.บ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพ.ศ.2543

ฟรีดอมเฮาส์ชี้เน็ตไทยไร้เสรี

วันที่ 5 ธ.ค. องค์กรฟรีดอมเฮาส์ องค์กรที่รายงานเรื่องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพอินเตอร์เน็ต เปิดเผยรายงานสถานการณ์อินเตอร์เน็ตโลกปี 2014 และการจัดอันดับเสรีภาพออนไลน์ ไทยตกอันดับจากกลุ่มประเทศ "เสรีบางส่วน" ไปอยู่ใน "ไม่เสรี" 

รายงานระบุ หลังการประกาศยึดอำนาจ 22 พ.ค. ภายใต้การปกครองของคณะทหาร มีการออกประกาศและคำสั่งห้ามการเผยแพร่สื่อ ระงับการเข้าถึงสื่อ จับกุมตัวบุคคล ด้วยเหตุผลจำเป็นต้องควบคุมเสรีภาพการแสดงออกเพราะบ้านเมืองปัจจุบันอยู่ในภาวะไม่ปกติ โดยการปฏิบัติดังกล่าวอยู่ภายใต้นโยบายคืนความสุขให้คนไทย

รายงานของฟรีดอมเฮาส์ครอบคลุมช่วงปี 2556 ถึงพ.ค. 2557 ระบุ ดูผิวเผินแล้วเหมือนการปิดกั้นสื่อจะลดน้อยลง ปี 2556 พบหมายศาลให้บล็อกเว็บไซต์ 5,369 ยูอาร์แอล ลดลงจากปีก่อนหน้าซึ่งมีราวสองหมื่นยูอาร์แอล แต่การปฏิบัติงานของนักข่าว นักเคลื่อนไหว และผู้ใช้โซเชี่ยลมีเดีย อยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทผ่านการสื่อสารออนไลน์

รายงานสถานการณ์เสรีภาพออนไลน์ประจำปี 2556-2557 โดยฟรีดอม เฮาส์ เผยแพร่ ต่อสาธารณะในการประชุมประจำปีของกูเกิลเมื่อ 4 ธ.ค. ณ กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา ระบุสถานการณ์เด่นรอบปี 2556-2557 อาทิ ศาลไทยลงโทษผู้ใช้อินเตอร์เน็ตนาม "เคนจิ" ในการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้น ด้วยความผิดฐาน "พยายาม"หมิ่นประมาทเบื้องสูง, นักวิจัย อานดี้ ฮอลล์ เผยแพร่งานวิจัยการละเมิดสิทธิแรงงาน ส่งผลให้ถูกโรงงานผลไม้กระป๋องฟ้องคดีหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หลายคดี, กองทัพเรือฟ้องผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน ที่รายงานข่าวการค้ามนุษย์กรณีโรฮิงยา

พบการข่มขู่คุกคามนอกกฎหมาย อาทิ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่แสดงความเห็นวิจารณ์การเมืองอย่างต่อเนื่อง ถูกกลุ่มมือปืนยิงถล่มเข้าไปในบ้านพัก, หลังรัฐประหาร คนไทยแสดงออกทางสัญลักษณ์ทั้งชูสามนิ้ว ฮังเกอร์เกม ชวนกินแซนด์วิช ร่วมกันยืนอ่านหนังสือในที่สาธารณะ โดยใช้สื่อออนไลน์และโซเชี่ยลมีเดียเป็นช่องทางสำคัญ, หลังรัฐประหาร นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้บริหารไทยพีบีเอส ฝืนคำสั่งคณะรัฐประหารที่ให้สถานีโทรทัศน์ยุติการออกอากาศโดยนำรายการเผยแพร่ทางยูทูบ ส่งผลให้ถูกทหารคุมตัวหลายชั่วโมง

หลังรัฐประหาร นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ ปฏิเสธรายงานตัวต่อคณะรัฐประหาร ส่งผลให้ถูกจับในการแถลงข่าว และถูกตั้งข้อหาละเมิด คสช.และกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพราะโพสต์ข้อความต้านรัฐประหารบนเฟซบุ๊ก, หลังรัฐประหาร เฟซบุ๊ก เข้าไม่ได้ราว 40 นาที ปลัดกระทรวงไอซีทีให้สัมภาษณ์ว่าคสช.สั่งปิด ก่อนแก้ข่าวภายหลังว่านักข่าวเข้าใจผิด ก่อนโดนเด้งจากตำแหน่ง, หลังรัฐประหาร คสช.เข้าจับกุม สอดส่อง การสื่อสารของประชาชน และกำหนดให้การวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหาร หรือการกระทำใดๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศต้องขึ้นศาลทหาร

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!