- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 05 December 2014 09:41
- Hits: 4404
วันที่ 05 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8773 ข่าวสดรายวัน
มติสนช.ตีตก ผู้ตรวจฯใหม่ กกต.ชัก'ใบแดง' อดีตสส.หญิงพท.
เปิดงาน - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธานเปิดงานวันสิ่งแวดล้อมไทย ประจำปี 2557 ภายใต้แนวคิด "เมืองสะอาด คนในชาติมีสุข" ที่อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.
สนช.ตีตกไม่รับ'ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล'มีมติไม่รับรองให้นั่งผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่ แฉกลุ่ม40 ส.ว.จับมือกันโหวตคว่ำ อ้างเป็นตุลาการเสียงข้างน้อยที่ไม่ยึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้าน'บิ๊กตู่'พอใจผลพบปะพูดคุย ผู้บริหารสื่อ-บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ รับเป็นนายกฯต้องอดทน ยัน 6 เดือนที่ผ่านมาหยุดวิกฤตประเทศได้หลายเรื่อง ติงอย่าเพิ่งเร่งให้มีเลือกตั้ง กกต.โผล่แจกใบแดงอีก 2 ใบ อดีตส.ส.ปากน้ำ-อดีตส.ว.เพชรบูรณ์
บิ๊กตู่พอใจผลถกสื่อ-บรรณาธิการ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 ธ.ค. ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "เศรษฐกิจดิจิตอล พลิกโฉมประเทศไทย" ตอนหนึ่งว่า หลังจากพูดคุยกับตัวแทนผู้บริหารสื่อเมื่อเย็นวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา เปิดดูในเว็บไซต์ในเช้าวันนี้ก็โอเค ดีบ้างไม่ดีบ้าง ทนได้ บอกเลยว่าทนได้ เพราะเขาบอกว่าเป็นนายกฯ ต้องทนได้ ซึ่งตนก็ปรับตัวอยู่
นายกฯ กล่าวว่า ในการเข้ามาทำงาน ยืนยันว่าทุกอย่างกำลังเดินตามโรดแม็ป คิดว่าเดินไปได้ด้วยดี 6 เดือนที่ผ่านมาทั้งในฐานะคสช.และรัฐบาล เราวางแผนและดำเนินการอย่างเต็มที่ ปัญหาที่เคยสะดุดก็ได้ปลดล็อก ขณะนี้มีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นปัญหาสะสมมานาน บางเรื่องเป็นสิบปี วันนี้รัฐบาลพยายามเร่งแก้ไขทั้งเรื่องส่งออก การสร้างความเจริญเติบโตในภาคอุตสาหกรรมและการแก้ปัญหาให้ผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาในสิ่งที่ประเทศชาติต้องการ เราจะต้องผ่านพ้นกับดักไปให้ได้
ติงอย่าเร่งรัดเลือกตั้งกันมาก
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หลายคนยังเป็นห่วงเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ขอบอกว่าอย่าเร่งรัดกันมาก เราเป็นประเทศเสรีภาพประชาธิปไตย ดังนั้น การจะไปบังคับคงยาก ต้องเป็นความร่วมมือกับทุกฝ่ายและต้องเร่งอธิบายว่าความรู้ควรอยู่คู่กับคุณธรรม เราอย่าไปมัวห่วงหรือมัวมองแต่เรื่องประชาธิปไตยหรือเรื่องเลือกตั้ง
"ผมไม่ปฏิเสธความเป็นประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยของโลก แต่วันนี้เราก็เป็นประชาธิปไตยของคนไทย เชื่อว่าจากนี้เราจะเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ผมอยากให้ทุกคนคิดเหมือนผมแต่คงบังคับไม่ได้ เพราะเราเป็นเสรีประชาธิปไตย แต่อยากให้คิดเหมือนผม ให้ประเทศเดินไปข้างหน้า มองว่าอะไรคือวิกฤต อะไรคือโอกาส อะไรคือปัญหา ต้องคิดทำวิกฤตให้เป็นโอกาสเดินหน้าประเทศ เราต้องตีเส้น อะไรทำได้ก็ทำทันที อะไรทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายใน 1 ปีต้องทำให้ยั่งยืน อะไรเรื่องระยะยาวและยังทำไม่ได้ก็ ส่งต่อให้รัฐบาลหน้าทำงานต่อ ผมพูดได้เพราะผมไม่ใช่นักการเมืองและเห็นใจคนที่มาจากการเลือกตั้ง วันนี้เข้ามาแล้วก็ต้องทำและสิ่งที่ทำจะเป็นประโยชน์กับทุกพรรค คสช.ยืนยันใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางให้ได้ประโยชน์มากที่สุด" นายกฯกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้จะทำอย่างไรที่จะเดินหน้าประเทศอย่างรวดเร็ว เพราะที่ผ่านมาเราช้าไม่ทันประเทศอื่น ก่อนหน้านี้มีการมองว่าไทยเป็นเสือตัวที่หนึ่ง แต่ตอนนี้เราหมอบอยู่ด้วยขาที่แข็งแรงและพร้อมทะยานไปข้างหน้าในปีหน้าและปีต่อไป สิ่งสำคัญเราต้องร่วมมือร่วมใจกัน แล้วเสือตัวนี้จะทะยานไปข้างหน้า ยืนยันว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น รัฐบาลพร้อมสนับสนุนสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในทุกมิติ พร้อมร่วมมือกับภาคเอกชน ทำทุกอย่างให้เป็นรูปธรรม ยุติความรุนแรง เอาคดีเข้าสู่กระบวนการของศาลในทุกคดีเพื่อทำให้สถานการณ์เรียบร้อย และมีการเดินหน้าประเทศไปบ้างแล้วรวมทั้งกระบวนการปฏิรูป ไม่ต้องกลัวว่าการปฏิรูปจะไม่สำเร็จ ขอให้ใจเย็น รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ อย่าเร่งรัดมากนัก
เล็งเปลี่ยน'ไอซีที'เป็น'ก.ดิจิตอล'
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงอยู่ในระบบดิจิตอลมากขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารโทรศัพท์ ต้องดูว่า พื้นที่ใดในประเทศที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ เพราะคนไทยชอบพูด ไม่ชอบทำ จึงอยากขอให้พูดแล้วทำ นอกจากนี้เราจะขจัดอุปสรรคของการสื่อสารไม่ว่าข้อกฎหมาย ช่องทางการติดต่อสื่อสาร ซึ่งตนสั่งการแล้วว่าต้องมีโครงข่ายที่สมบูรณ์ มีศูนย์ข้อมูลโครงข่ายขนาดใหญ่ของประเทศ หรือดาต้า เซ็นเตอร์เพื่อเก็บข้อมูลทั้งหมดที่เป็นประโยชน์ ที่คนไทยและชาวต่างชาติใช้ประโยชน์ ได้ข้อมูลที่ตรงกัน ไม่ผิดพลาดและนำไปพัฒนาด้านอื่น ซึ่งยังมีบางประเทศเข้าใจประเทศไทยผิดเนื่องจากมีข้อมูลไม่เพียงพอ และตนไม่ต้องการให้เยาวชนไทยอาศัยแค่เว็บไซต์กูเกิลหาคำตอบ เราต้องใช้ประโยชน์จากครูตู้หรือการเรียนการสอนผ่านดาวเทียมให้มากขึ้น ไม่ใช่แต่ดูทีวี แต่ต้องเอาสิ่งที่เขาสอนมาเป็นประโยชน์ ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอลขึ้น เพื่อปรับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)ให้มาเป็น กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกระทรวงนี้อาจมีการเปลี่ยนชื่อของตัวเองบ่อย หากทำแล้วไม่ได้ผล
ต่อมาเวลา 11.00 น. ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเปิดงานวันสิ่งแวดล้อมไทย "เมืองสะอาด คนในชาติมีสุข" ตอนหนึ่งว่าตั้งแต่เป็นรัฐบาล ฝันไม่กี่เรื่อง เศรษฐกิจ น้ำ ยาง รถไฟ ข้าว อาวุธสงคราม ฝันอยู่แค่นี้ ตื่นมาไม่มีความสุขเลยพราะมีแต่ปัญหา ไม่เคยฝันว่าจะได้ไปเที่ยวที่ไหนกับใครเลย เวลาจำกัด เร่งทำยังไม่ทันใจอีก และไม่ทันใจด้วย เพราะใจร้อน
สนช.เห็นชอบรถไฟจีนเอกฉันท์
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ตามที่ครม.เป็นผู้เสนอ โดยพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ชี้แจงว่า ดำเนินการตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 กำหนดให้หนังสือสัญญาใดซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจต้องเสนอต่อสนช.พิจารณา โดยรัฐบาลไทยจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่ดินบางส่วน ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างรอลงนามความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงจำเป็นต้องเสนอก่อนมีการลงนาม
ทั้งนี้ เอ็มโอยูดังกล่าว เป็นความร่วมมือก่อสร้างเส้นทางหนองคาย-ขอนแก่น-นครราชสีมา-แก่งคอย-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา-มาบตาพุด ระยะทาง 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-บ้านภาชี-อยุธยา-กรุงเทพฯ ระยะทาง 133 กิโลเมตร เป็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดปกติระยะเร่งด่วนโครงการแรกของไทย โดยอาศัยความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลกับรัฐบาล ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟเส้นทางดังกล่าว ส่วนเงินลงทุนและการชำระเงินลงทุนจะหารือกันต่อไป และจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2559
สมาชิกสนช. ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุน พร้อมเสนอแนะวิธีจัดหาเงินทุน ก่อนที่ประชุมจะมีมติเอกฉันท์ด้วยเสียง 187 ต่อ 0 เห็นชอบเอ็มโอยูดังกล่าว
เลื่อนภาษีมรดก-ตีตกผู้ตรวจฯ
จากนั้นที่ประชุมพิจารณาร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-สหรัฐอเมริกาเพื่อความร่วมมือด้านภาษีอากรระหว่างประเทศและการดำเนินการตาม FATCA ตามที่ครม.เสนอ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างความตกลงดังกล่าว ด้วยคะแนน 158 เสียงต่อ 7 เสียง
ต่อมานายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งที่ประชุมว่าสนช.ขอเลื่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดก และร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ออกไปเป็นวันที่ 18 ธ.ค. เนื่องจากมีเนื้อหาสำคัญที่ต้องพิจารณาละเอียดรอบคอบ อีกทั้งวาระการประชุมวันนี้มีค่อนข้างมาก ซึ่งนายพรเพชรหารือกับนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง และเห็นชอบร่วมกันที่จะเลื่อนพิจารณาออกไปก่อน โดยไม่มีสมาชิกสนช.คนใดแสดงความเห็นคัดค้าน สนช.จึงนำร่างพ.ร.บ.การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามประกาศและคำสั่งของคสช.บางฉบับขึ้นมาพิจารณาแทนทันที
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบให้ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามที่ได้รับการเสนอ และ กมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ม.ล.ฤทธิเทพพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนน 86 เสียงต่อ 76 เสียง และงดออกเสียง 20 เสียง
เผยเบื้องหลังไม่เห็นชอบ'ฤทธิเทพ'
รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า ในการประชุมลับของสนช.เพื่อพิจารณาเห็นชอบให้ม.ล.ฤทธิเทพเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่นั้น ที่ประชุมได้พิจารณารายงานลับของกมธ.ตรวจสอบประวัติฯ ที่มีนางนิพัทธา อมรรัตนเมธา สมาชิกสนช.เป็นประธาน โดยในรายงานลับมีการระบุถึงการทำงานในอดีตของ ม.ล.ฤทธิเทพ เมื่อครั้งเป็นองค์คณะ ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พบว่าในอดีตเคยเป็น ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่มีความผิดในคดียึดทรัพย์ เพราะให้ความเห็นว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีอาญา ไม่ใช่คดีแพ่ง จึงไม่อาจพิพากษายึดทรัพย์ได้ ขณะเดียวกัน กมธ.ตรวจสอบ ประวัติฯ ยังสัมภาษณ์ม.ล.ฤทธิเทพ ด้วยว่าการกระทำของพ.ต.ท.ทักษิณที่ผ่านมาถือเป็นความผิดทางจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าม.ล.ฤทธิเทพให้คำตอบไม่ชัดเจน
สำหรับ กลุ่มเสียงของสนช.ที่ไม่เห็นชอบม.ล.ฤทธิเทพ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม 40 ส.ว. นักวิชาการ เพราะเห็นว่าคนที่จะมาทำหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมและความประพฤติได้ทั้งหมด เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ในเมื่อไม่สามารถตอบคำถามเรื่องจริยธรรมให้เกิดความชัดเจน ขณะที่สนช.ในกลุ่มที่เห็นชอบให้ม.ล.ฤทธิเทพเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการตำรวจ ทหาร และข้าราชการเกษียณ ซึ่งมองว่าการทำหน้าที่ในชั้นศาลถือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยอิสระ ไม่จำเป็นต้องยึดตามเสียงข้างมาก
ชงอำนาจตรวจสอบนักการเมือง
ที่รัฐสภา นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ เลขานุการคณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปช. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปจะยื่นต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 30 ประเด็น อาทิ จะเสนอให้ประชาชนร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานและติดตามตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นักการเมือง หน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งให้ประชาชนมีสิทธิปกป้องดูแลรักษา ผลประโยชน์ของสาธารณะและของรัฐ มีสิทธิปฏิเสธและต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ หากเรื่องนี้ได้รับความเห็นชอบจะถือเป็นครั้งแรกที่ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ
นายวสันต์ กล่าวว่า ส่วนผู้นำทางการเมือง ที่ดีนั้น ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับจากพรรค การเมืองที่มีคุณธรรม จริยธรรม ติดตาม สอดส่องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ รวมถึงมีสิทธิถอดถอนได้ ทั้งนี้ ให้มีมาตรการกำกับคุณสมบัติให้นักการเมือง ผู้นำทางการเมือง ผู้แทนประชาชน ในพรรคที่มีคุณธรรม จริยธรรม ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ และพรรคต้องร่วมรับผิดชอบต่อพฤติกรรมผลงานที่ไม่ชอบหรือทุจริตของบุคคลที่เป็นตัวแทนพรรค รวมถึงหากคนติดตามของนักการเมืองไปทำอะไรที่เสื่อมเสีย นักการเมืองผู้นั้นต้องร่วมรับผิดชอบด้วย แต่ยังไม่ได้กำหนดบทลงโทษ ขึ้นอยู่กับกมธ.ยกร่างฯจะพิจารณา แต่คงไม่ถึงยุบพรรค รวมถึงให้มีบทลงโทษกรณีมีการซื้อสิทธิขายเสียงทั้งผู้ซื้อสิทธิ ผู้ขายเสียง และผู้เกี่ยวข้องด้วย
ตั้งกก.จริยธรรม-ธรรมาภิบาล
นายวสันต์ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอที่ถือเป็นเรื่องใหม่คือ การให้ผู้สมัครเลือกตั้งทุกระดับต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและแสดงรายการเสียภาษีย้อนหลัง 5 ปี เพื่อแสดงความโปร่งใสให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่าผู้ที่จะเล่นการเมืองมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำให้ประชาชนมีอำนาจตรวจสอบมากขึ้น ข้อเสนอทั้งหมดเป็นเพียงแนวทางที่ส่งให้กมธ.ยกร่างฯ ขึ้นอยู่กับกมธ.ยกร่างฯจะเห็นชอบด้วยหรือไม่
นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน สปช. แถลงข้อเสนอของกมธ.ว่า มีข้อเสนอสำคัญ 5 ประเด็น 1.ให้มีการปฏิรูประบบเสริมสร้างให้มีคนดีคนเก่งในระบบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ชื่อว่าคณะกรรมการจริยธรรมและธรรมาภิบาล แห่งชาติ เพื่อให้ได้เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นคนดีและเก่ง มีระบบการสรรหาที่เข้มแข็ง และวางบทลงโทษที่มีประสิทธิภาพ 2.เสนอให้ปฏิรูประบบงบประมาณ เพิ่มอำนาจให้ประชาชน มีส่วนร่วมพิจารณางบประมาณ 3.เสนอให้มีปฏิรูปด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบราชการ 4.เสนอให้ลดอำนาจส่วนกลาง เพิ่มบทบาทประชาชนและขยายบทบาทท้องถิ่น และ 5.เสนอให้สร้างความชัดเจนในมิติด้านความมั่นคงแห่งรัฐ 2 เรื่อง ทั้งนี้ จะส่งข้อเสนอให้ประธานสปช.เพื่อส่งต่อไปคณะกมธ.ยกร่างฯต่อไป
ตั้งอีกศาลวินัยการเงินการคลัง
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแถลงว่า คณะอนุกมธ.คณะที่ 4 ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 5 การคลังและงบประมาณของรัฐ ที่มีนายจรัส สุวรรณมาลา เป็นประธาน ได้เสนอกรอบการร่างรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ โดยเสนอให้เพิ่มช่องทางการตรวจสอบการใช้งบประมาณของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากเดิมมี 2 ช่องทาง คือการถอดถอนและฟ้องคดีต่อศาลอาญา โดยเสนอตั้งศาลวินัยการเงินการคลังและงบประมาณ พิจารณาคดีที่ส่อใช้งบประมาณที่สร้างความเสียหายและก่อหนี้ผูกพันให้กับประเทศในระยะยาว และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะแตกต่างกับคดีอาญาที่ต้องมีหลักฐานชัดเจน รวมถึงใช้ระยะเวลาในการพิจารณายาวนาน
นายคำนูณ กล่าวว่า ศาลวินัยการเงินการคลังฯจะถูกตั้งขึ้นมาเป็นแผนกหนึ่งในศาลยุติธรรม ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ ไต่สวนข้อเท็จจริง สั่งฟ้องโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด ส่วนศาลวินัยการเงินการคลังฯ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกมธ.ยกร่างฯ เนื่องจากตรงนี้เป็นเพียงข้อเสนอของอนุกมธ.คณะที่ 4 เท่านั้น
นายคำนูณกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเสนอแนวทางป้องกันการแปรญัตติงบประมาณของส.ส. โดยกำหนดให้การนำเงินงบประมาณที่ส.ส.แปรญัตติปรับลดไปแล้ว ไม่สามารถไปจัดสรรหรือใช้จ่ายเพิ่มเติมในลักษณะเอื้อแก่ส.ส.ได้โดยตรง พร้อมกำหนดนิยามคำว่าเงินแผ่นดิน ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการหาผลประโยชน์ทางการเมืองเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และป้องกันไม่ให้ครม.และส่วนราชการจ่ายเงินนอกงบประมาณโดยไม่มีขอบเขต
ปชช.มีส่วนร่วมนโยบายสาธารณะ
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอของคณะอนุกมธ.คณะที่ 5 ที่พิจารณากรอบจัดทำรัฐธรรมนูญในส่วนของหมวด 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน ที่มีนายปรีชา วัชราภัย เป็นประธาน โดยเสนอแนวทางแก้ปัญหาประชาชน ให้ประชาชนเข้าใจการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีส่วนร่วมและการตรวจสอบการจัดทำนโยบายสาธารณะของภาครัฐ ประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องกำหนดนโยบายบริหารของครม.ให้เป็นนโยบายของชาติ ที่ต้องให้ครม.ในทุกรัฐบาลผูกพันตามแผนที่กำหนดไว้ กำจัดอำนาจ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในการแต่งตั้ง โยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐ โดยสร้างจิตสำนึกให้ เจ้าหน้าที่รัฐเป็นกลางทางการเมือง สร้างการบริหารราชการให้เป็นตามหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อป้องกันการแทรกแซง รวมทั้งให้ความคุ้มครองข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต
นักวิชาการวิเคราะห์เลือกนายกฯ
วันเดียวกัน นายไชยวัฒน์ ค้ำชู อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงข้อเสนอนายกฯมาจากการเลือกตั้งทางตรงว่า เป็นระบบประธานาธิบดีที่สหรัฐใช้อยู่ หากเราจะนำวิธีนี้มาใช้จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ การแยกอำนาจ 2 ฝ่ายออกจากการกัน อาจเกิดปัญหาในเรื่องกฎหมาย โดยหาก 2 ฝ่ายเป็นคนละพวก อาจเกิดปัญหาการผ่านกฎหมายซึ่งเป็นหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ แล้วกระทบการบริหารงานรัฐบาล ที่ผ่านมาสหรัฐเคยเกิดวิกฤตการเมือง ประท้วงปิดหน่วยงานรัฐบาลกลาง เพราะฝ่ายบริหารบริหารประเทศไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายต่างๆไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา นอกจากนี้หลายประเทศเคยทดลองระบบนี้ แต่สุดท้ายยกเลิกเพราะไม่ส่งผลดีต่อการปกครอง ทั้งนี้การถ่วงดุลอำนาจต้องอยู่ในขอบเขตพอดี คำว่าเผด็จการรัฐสภา คือรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้งและทำอะไรตามใจชอบมากกว่า
นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ประเทศไทยใช้ระบบรัฐสภาที่การเลือกนายกฯทางอ้อมเป็นหลักการสำคัญว่าจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ขณะที่การเลือกนายกฯทางตรง แม้มีข้อดีที่ประชาชนเห็นหน้าผู้ที่จะเป็นนายกฯ แต่หากพรรคการเมืองดังกล่าวเก่งแต่ประชาสัมพันธ์ตัวเอง ถ้าได้รับเลือกอาจเกิดข้อเสีย ได้บุคคลที่ใช้กระแสการตลาดนำการเมือง ก็จะเกิดการรวมศูนย์อำนาจ การทำหน้าที่ส.ส.จะไม่มีความหมายอีก
ขณะที่นายเอกชัย ไชยนุวัติ นักกฎหมายมหาชน กล่าวว่า แนวทางนี้จะได้รัฐบาล ที่มีอำนาจมากจนไม่สามารถค้านอำนาจได้ เพราะรัฐบาลจะอ้างความชอบธรรมว่ามาจากประชาชนโดยตรงเต็มเสียง ทางออกเดียวคือต้องทำรัฐประหารเท่านั้น การเมืองก็จะกลับสู่วิกฤตอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้นายกฯ ที่มีความสัมพันธ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ตาม เห็นว่ามีแนวโน้มสูงที่จะนำ รูปแบบนี้มาใช้ เพื่อรองรับการก้าวสู่อำนาจของคสช.ในอนาคตมากกว่า
ติงคสช.อย่าตั้งธง-กำหนดรธน.
ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) มีการเปิดเวทีระดมความคิดจากภาคประชาสังคมในจ.สงขลา เพื่อเสนอข้อคิดเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญ มีนายประเสริฐ ชิตพงษ์ สปช.จ.สงขลา เป็นประธาน มีผู้สมัคร สปช. และผู้นำภาคประชาสังคมจากภาคส่วนต่างๆ เช่นภาคเกษตรกร เอ็นจีโอ การเมือง การปกครอง นักวิชาการ เข้าร่วม
นายประเสริฐ กล่าวว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่สามารถจัดเป็นเวทีเปิดได้ เพราะมีการใช้กฎอัยการศึก และเกรงจะไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในกรอบที่ คสช.กำหนด จึงใช้รูปแบบเวทีปิด เชิญตัวแทนของภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วม เสนอแนะ แสดงความคิดเห็น ซึ่งจะมีการจัดเวทีอย่างนี้อีกหลายครั้งเพื่อให้ตัวแทนของภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมในทุกประเด็น โดยรวมพบว่าประชาชนใน จ.สงขลาให้ความสนใจและตื่นตัวกับการเสนอรัฐธรรมนูญในครั้งนี้อย่างมาก
นายบรรจง นะแส เอ็นจีโอภาคใต้ กล่าวว่าตนเห็นด้วยกับการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนต่อการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้มีประชาชนจำนวนหนึ่งยังไม่เชื่อมั่นต่อคสช.และสปช. ดังนั้น ขอให้ คสช.แสดงความบริสุทธิ์ใจว่าในการเขียนรัฐธรรมนูญ ไม่มีการตั้งธงไว้ล่วงหน้าและจะนำข้อเสนอแนะและความต้องการจาก ภาคประชาสังคมจากทั่วประเทศ ไปยกร่างรัฐธรรมนูญ อย่าทำประชาพิจารณ์แต่เพียงพิธีกรรมเท่านั้น
ศปป.เปิด 4 พันเวที-ฟังความเห็น
ที่บก.ทบ. พล.ท.พิสิทธิ์ สิทธิสาร รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะผอ.ศูนย์ปรองดองสนามฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) แถลงว่า ศปป.จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นพร้อมกันทั้ง 4,268 เวทีทั่วประเทศ มีชื่อโครงการว่า "คนไทยหัวใจเดียวกัน" โดยให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล นิสิต นักศึกษา รวมทั้งบุคลากรในสถาบันการศึกษา และสาขาอาชีพต่างๆ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามกรอบการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน พร้อมเสนอความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง ถ้าพื้นที่ใดพร้อมก็เริ่มได้เลย ส่วนการเปิดเวทีตามพื้นที่ภาคต่างๆ นั้น จะมีแม่ทัพภาคแต่ละภาคเป็นผู้ดูแล
พล.ท.พิสิทธิ์ กล่าวว่า ศปป.จะมีเวลาทำงานถึงเดือนก.ย. 2558 โดยการสรุปความคิดเห็นเวทีที่ต่างๆ จะอยู่ในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. 2558 จากนั้นศปป.จะนำเอาข้อคิดเห็นประชาชนทุกเวทีมาสรุปส่งให้ คสช. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเริ่มในเดือนธ.ค.นี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังจัดงานมหกรรมเอกลักษณ์ไทยหัวใจสี่ภาค เพื่อสร้างค่านิยมและจิตสำนึกของประชาชนทุกภาคส่วน โดยจะดำเนินการ 16 จังหวัด ซึ่งวันที่ 29 ธ.ค. 2557 -2 ม.ค. 2558 จะเริ่มกิจกรรม 4 จังหวัดคือ ลพบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช
ยันไม่หนักใจ-คนไทยคุยกันได้
เมื่อถามว่า การเปิดพื้นที่ทั่วประเทศ จะประเมินแรงต้านอย่างไร พล.ท.พิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าถ้ามหาวิทยาลัยใดพร้อม ก็ต้องไปคุยกับนักศึกษาแต่ละกลุ่มว่ามีความคิดเห็นแบบใดเพราะบางเรื่องละเอียดอ่อน ต้องชี้แจงให้แม่ทัพภาครับทราบด้วย ส่วนข้อเสนอให้ผ่อนปรนกฎอัยการศึกนั้น ตนคิดว่าการเปิดเวทีดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนความคิด 11 ด้านของการปฏิรูป ก็ต้องอยู่ในกรอบดังกล่าวเท่านั้น
เมื่อถามว่าการเปิดพื้นที่ดังกล่าวอาจมีบางกลุ่มใช้เป็นการรวมตัวทางการเมือง พล.ท. พิสิทธิ์กล่าวว่า โดยข้อตกลง ถ้าการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอยู่ในกรอบก็ไม่น่ามีปัญหา เมื่อถามว่ารู้สึกหนักใจกับกลุ่มใดหรือไม่ พล.ท.พิสิทธิ์กล่าวว่า "ไม่หนักใจ ผมคิดว่าทุกคนเป็นคนไทยด้วยกัน ไม่มีสีเสื้อใดๆ ทั้งสิ้น เป็นคนไทยด้วยกันต้องพูดคุยกันได้ และรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหา"
เมื่อถามย้ำว่าถ้ามีแสดงสัญลักษณ์ประท้วงในเวที พล.ท.พิสิทธิ์กล่าวว่า ขอร้องว่าอย่าทำให้ส่วนรวมเสียเลย ถือเป็นสิ่งที่ไม่น่าทำ ขอให้มาร่วมกันปรองดองดีกว่า มีอะไรก็มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถ้าเราปรองดองกันได้ การเลือกตั้งก็เป็นไปตามกรอบเวลาแน่นอน
มท.1 ขู่ฟัน-ทุจริตแจกไร่ละ 1 พัน
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการประชุมผ่านระบบทางไกลไปยังผู้ว่าฯทั่วประเทศว่า กำชับใน 2 เรื่อง คือการหาตลาดให้เกษตรกร เนื่องจากนายกฯ เป็นห่วง จึงขอให้ผู้ว่าฯช่วยกันจัดหาตลาดขายผลผลิตการเกษตรให้เกษตรกร อีกเรื่อง คือการดูแลไม่ให้เกิดความสูญเสียจากการเดินทางไปพักผ่อนและกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่ และกำชับให้ผู้ว่าฯ ดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและคสช.
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงสมาพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย จะเคลื่อนไหวคัดค้านข้อเสนอให้ยุบเลิกการปกครองท้องถิ่นของกลุ่ม กปปส.ที่เสนอต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้เป็นการเสนอความเห็น รอให้เขาพูดจากันจนได้ข้อยุติก่อน การปฏิรูปส่วนใดจะเสนออะไรก็ได้ แต่ต้องเสนอด้วยเหตุผลและหลักการ จะใช้กฎหมู่ไปเสนอความเห็นคงไม่ได้
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ลงพื้นที่ตรวจสอบการจ่ายเงินตามมาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท พบทุจริตเฉลี่ยจังหวัดละ 3-4 รายว่า ถ้าตรวจเจอ ต้องรับโทษไม่ว่าใครทั้งสิ้น จะดำเนินคดีตามกฎหมายทันที ถ้าเป็นข้าราชการต้องไล่ออก เราได้ทำกลไกไว้อย่างดี ถ้ามีทุจริตต้องรับโทษ ประชาชนสบายใจได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีรายงานเข้ามา ถ้าตรวจเจอให้แจ้งมาเราจะดำเนินคดีทันที ทราบว่าทั้งป.ป.ท. สตง.และกรรมการของจังหวัดติดตามอยู่ ต้องดูให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะมีความผิด
'มาร์ค'ค้านเลือกตรงนายกฯ
วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายพรเพชร ระบุสนช.ไม่ขอเป็นเจ้าภาพเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องริเริ่มจากรัฐบาลว่า ตนชอบใจที่นายพรเพชรบอกว่าไม่เอากฎหมายที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ถือเป็นหลักการที่ดี ฉะนั้นถ้ายึดหลักนี้น่าจะสบายใจกันมากขึ้น และขณะนี้ยังไม่ชัดเจนเรื่องปรองดอง คงให้คำตอบเรื่องเจ้าภาพไม่ได้ ส่วนรูปแบบการเลือกตั้งแบบเยอรมันนั้น มองว่าหากเอามาใช้กับไทยก็คงเป็นไทย เพราะส่วนใหญ่เอามาใช้แล้วไม่ค่อยเหมือนเท่าไร โดยแนวคิดเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ตราบใดที่กติกาเป็นธรรม โปร่งใสก็ไม่มีปัญหา
เมื่อถามว่า มองอย่างไรกรณีที่ประชุมคณะอธิการบดีแห่งประเทศไทยเสนอให้เลือกคณะรัฐมนตรีโดยตรง ส.ส.ไม่สังกัดพรรค และห้ามส.ส.ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากให้รัฐธรรมนูญมีความยั่งยืน มีการทำประชามติและก้าวหน้ากว่าฉบับเก่า ฉะนั้นอะไรที่เป็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพประชาชน สิทธิชุมชนหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ควรลดน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่นด้วย ส่วนเลือกตั้งจะเป็นแบบไหนนั้น อยากให้วิเคราะห์ให้ชัดว่าปัญหาที่ผ่านมาคืออะไร และต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด
"ถ้าถามผมว่าแก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ ก็บอกว่ามันไม่ตรงและอาจจะซ้ำเติมปัญหา เพราะเมื่อเราได้ผู้บริหารมาจากประชาชนโดยตรงอาจดูมีความชอบธรรม แต่ที่ผ่านมาพวกเราไม่ได้มีปัญหาในแง่นี้ เพราะประชาชนที่ไปเลือกตั้งแสดงเจตนารมณ์ผ่านการเลือกพรรค จึงส่งหัวหน้าพรรคนั้นเป็นผู้บริหาร แต่ถ้าผู้บริหารเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน หลักคือสภาไปเอาเขาออกไม่ได้ อย่าลืมว่าในระบบแยกอำนาจแบบนี้ คือฝ่ายค้านแทบจะไม่มี ถ้ามีก็อยู่ในสภา แต่ในปัจจุบัน เราเห็นมีปัญหาอยู่แล้วว่าตรวจสอบไม่ค่อยได้ จะยิ่งลำบาก ผมยังรู้สึกว่ามันแก้ไม่ตรงจุด" นายอภิสิทธิ์กล่าว
"ตู่"ลุยตั้งรง.กำจัดขยะ-วอนอย่าต้าน
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 ธ.ค. ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดงานวัน สิ่งแวดล้อมไทย "เมืองสะอาด คนในชาติมีสุข" โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วม
นายกฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า วันสิ่งแวดล้อมไทย อยากเชิญชวนให้ประชาชนดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันนี้เรามีปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายด้าน ปัญหาที่สำคัญคือปริมาณขยะ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ส่วนความขัดแย้งในการก่อสร้างโรงงานขยะนั้น ตนสังเกตว่ามีคนมาต่อต้านแล้วบอกว่าไม่จำเป็นต้องทำ ให้แก้ปัญหาโดยไม่ต้องมีขยะ ซึ่งแบบนั้นพูดง่ายดี ไม่มีขยะก็ไม่ต้องมีโรงงานขยะ ไม่ต้องมีพนักงานเก็บขยะ แต่มันไม่มีได้อย่างไร ในเมื่อต้องใช้สิ่งของต่างๆ ทุกคนสร้างขยะหมด ต้องอธิบายให้คนเข้าใจ ดังนั้น ทุกจังหวัดต้องมีโรงงานขยะ จะตรงไหนให้ไปหามา และทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับชุมชนบริเวณนั้น ตนเคยคุยกับผู้ประกอบการขยะ เขาบอกว่าการกำจัดมลภาวะนั้น โรงงานทำได้ ไม่ใช่จะมาค้านทุกเรื่อง ต้องศึกษาดู ถ้าฝังกลบ วันหน้าก็เป็นพิษ เน่าเสีย ถ้ามีโรงงานกำจัดขยะก็ทำความร้อนให้เป็นพลังงานออกไปได้ ตอนนี้เราต้องสร้างโรงงานขยะเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้า จึงอยากฝากคนในทุกพื้นที่ควบคู่กับการลดสัดส่วนการใช้พลังงานจากน้ำมัน ก๊าซเพื่อลดค่าใช้จ่ายประเทศ และนำเงินไปพัฒนาลงทุน ถ้าต้านกันหมดก็ไปไม่ได้
จากนั้นนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะว่า ในปี 2558 จะเริ่มดำเนินการ 2-3 แห่ง เป็นโรงงานกำจัดขยะเพื่อใช้แปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะมีโครงการนำร่องในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยาเป็นที่แรก
กกต.ชักใบแดง-ส.ส.พท.ปากน้ำ
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายดุษฎี พรสุขสวัสดิ์ รองเลขาธิการกกต. ด้านสืบสวน สอบสวน และวินิจฉัย แถลงภายหลังการประชุมกกต.ว่า ที่ประชุมกกต.มีมติสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญานางอรุณลักษณ์ กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.เขต 1 สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ฐานหลอกหลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคอื่น เนื่องจากใช้วุฒิการศึกษาปริญญาตรีในการสมัครอันเป็นเท็จ นอกจากนี้ยังมีมติเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญานายพิพัฒน์ชัย ภัครัชตานนท์ ส.ว.เพชรบูรณ์ กรณีจัดเลี้ยงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเลือกตั้ง
นายดุษฎีกล่าวว่า ขณะนี้คงเหลือสำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งที่อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของกกต.รวม 133 สำนวน แบ่งเป็น สำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ส. 4 สำนวน สำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ว. 5 สำนวน และสำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นอีก 124 สำนวน
นายดุษฎีกล่าวต่อว่า สำหรับสำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ส.ที่เหลืออีก 4 สำนวนนั้น เป็นคำร้องคัดค้านเกี่ยวข้องกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ 3 สำนวน คือกรณีการใช้ทรัพยากรของรัฐ ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ไปหาเสียงภาคเหนือ-อีสาน กรณีมอบเงินให้กับครอบครัวตำรวจที่เสียชีวิตจากการสลายชุมนุม และกรณีใช้สื่อของรัฐหาเสียงการเลือกตั้ง ส่วนที่เหลืออีก 1 สำนวน คือคำร้องคัดค้านพรรคประชาธิปัตย์กรณีที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์มีการแถลงข่าวจงใจใส่ร้ายป้ายสีพรรคอื่น อย่างไรก็ตาม สำนวนดังกล่าวอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของคณะอนุกรรมการ คาดว่าจะพิจารณาเสร็จภายในเดือนม.ค.2558
ชาวสวนยางฮึ่มเคลื่อนม็อบบี้รบ.
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. นายสาย อิ่นคำ กรรมการสมาคมยางพารา สถาบันเกษตรกรยางพาราไทยเปิดเผยว่า จากการที่คณะทำงานติดตามการแก้ปัญหายางพาราทั่วประเทศ นำโดยนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย เข้าพบนายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. เพื่อสรุปปัญหาและแนวทางแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ โดยคณะทำงานมีมติยื่น 8 ข้อเสนอให้รัฐบาลแก้ไขคือ 1.เสนอให้แต่งตั้งคณะอนุกมธ.แสดงข้อคิดเห็นในพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยที่ผ่านครม.แล้ว และยังอยู่ที่สนช. 2.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสินค้าเกษตรยางพารา และกำชับให้ติดตามรายงานผลทุกระยะ 3.ควรสนับสนุนการจัดตั้งตลาดกลางยางของภาคเอกชน
4.ให้กระทรวงเกษตรฯเป็นเจ้าภาพเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมแก้ปัญหายางในทิศทางเดียวกัน 5.พัฒนาตลาดซื้อขายยางจริง ระหว่างเกษตรกรและผู้ใช้ยาง เพื่อแก้ปัญหาการซื้อขายตลาดล่วงหน้าที่เป็นตลาดซื้อขายยางเทียม 6.พัฒนาอุตสาหกรรมยาง(ระดับเกษตรกร) เพื่อเพิ่มมูลค่าและการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น 7.สนับสนุนและเป็นเจ้าภาพให้มีการจัดตั้งสภาการยางอาเซียน เพื่อผลักดันรัฐบาลแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ และ 8.คณะอนุกมธ.ปฏิรูปการเกษตรของสปช. นำเสนอกรอบแนวทางการปฏิรูปการเกษตร ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป และการตลาดมาเพื่อให้พิจารณา
"ขณะนี้คณะทำงานกำลังรอคำตอบจากรัฐบาล ถ้าไม่มีคำตอบภายในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ คาดว่าจะมีการเคลื่อนไหวในบางจังหวัด เพื่อเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลใน ขั้นตอนต่อไป" นายสายกล่าว
ยึดทรัพย์68ล.ลูกคนสนิท"บิ๊กจิ๋ว"
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา พร้อมผู้พิพากษาองค์คณะรวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขแดง อม.30/2557 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินของน.ส.นฤมล หรือณัฐกมล หรือณฐกมล หรืออินทร์ริตา นนทะโชติหรือ นนทะวัชรศิริโชติ ตกเป็นของแผ่นดิน
โดยคดีนี้คำร้อง บรรยายพฤติการณ์ ระบุว่า น.ส.นฤมล ข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหา มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ 3 กรณี คือ 1.กรณีรับเงินจากพล.อ.สัมฤทธิ์ นนทะโชติ บิดา ซึ่งเป็นเงินที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มอบให้แก่ พล.อ.สัมฤทธิ ไว้ใช้จ่าย 40 ล้านบาท 2. กรณีขายบ้านเลขที่ 35/150 -151 พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 20470, 20471 ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 16 ล้านบาท และ 3.กรณีรับเงิน 12,140,000 บาท รวมทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติทั้งหมด 68,104,000 บาท จึงขอให้ศาลพิพากษา ให้ทรัพย์ดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหา ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติว่า มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ พร้อมดอกเบี้ยของทรัพย์สิน ตกเป็นของแผ่นดิน
ทั้งนี้องค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ พิจารณาพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนแล้ว จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 เสียง เห็นว่า ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาตามคำร้องนั้น เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ จึงมีพิพากษาให้ทรัพย์สินของผู้กล่าวหาทั้งหมด 68,104,000 บาท รวมถึงทรัพย์สินที่ ป.ป.ช. มีคำสั่งอายัดไว้ชั่วคราวพร้อมดอกและผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน และหากไม่ส่งมอบทรัพย์สินหรือชำระเงิน ให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินจากผู้ถูกกล่าวหาแต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาส่งมอบเอกสารสิทธิและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินแก่กระทรวงการคลัง ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกคำร้อง