- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 30 November 2014 21:54
- Hits: 6077
วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8768 ข่าวสดรายวัน
วิษณุยันชัด เลือกตั้งกพ.-มีค.59 หนุนนิรโทษไม่สุดซอย 'พรเพชร'ขานรับทันที โวผลงานสนช.เกรดเอ โต้ครหาตรายางคสช.
ลูกเจ้าสัว - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธานพิธีฉลองสมรสนายชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ กับน.ส.ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ บุตรสาวนายธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวซีพี ที่ รร.เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อค่ำวันที่ 29 พ.ย. |
'วิษณุ'ชี้เลือกตั้งก.พ.-มี.ค.59 ยันไม่ ลากยาวถึงกลางปี หนุนกฎหมายนิรโทษ กรรม ถ้าไม่สุดซอยเชื่อคนรับได้ 'พรเพชร-สุรชัย'ขานรับทันที สนช.สัมมนาคึกคัก ประธานฟุ้งผลงาน 4 เดือนเกรดเอ ลั่นไม่ใช่ตรายางให้คสช. อนุกมธ.ชงตั้งสภาตรวจสอบภาคประชาชน 77 จังหวัด เฟซบุ๊กสหภาพยุโรปโชว์รูปน.ศ.ดาวดิน เข้าพบหัวหน้าฝ่ายการเมือง จี้ไทยเคารพสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น 'บิ๊กตู่'นำรมต.-ฝ่ายความมั่นคงเยือนมาเลย์
'พรเพชร'ชี้สนช.ไม่ใช่ตรายาง
เวลา 09.00 น. วันที่ 29 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดโครงการสัมมนาสนช.ประจำปี 2557 ที่โรงแรมเดอะรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท มี สมาชิกสนช.เข้าร่วมคึกคัก นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวถึงบทบาทการพิจารณากฎหมายของสนช.ว่า การบัญญัติกฎหมายให้เป็นกฎหมายที่ดีปริมาณไม่สำคัญเท่าคุณภาพ เราต้องมีกระบวนการที่เข้มแข็ง เริ่มตั้งแต่การส่งตัวแทนไปร่วมเป็นวิปรัฐบาล และสนช.ต้องไม่เกรงใจรัฐบาลถ้ากฎหมายมีปัญหา หรือเป็นการเสนอแบบลักไก่ ต้องเรียนไปตามตรงเพื่อให้กฎหมายที่ออกมาเป็นกฎหมายที่ดีที่สุด ขณะนี้กฎหมายที่เป็นนโยบายของรัฐบาลและคสช.ส่งมายังสนช.แล้วหลายฉบับ แต่ส่วนตัวอยากขอให้รัฐบาลช่วยเร่งส่งกฎหมายที่ดี เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคโลกาภิวัตน์ และกฎหมายที่ส่งเสริมการค้าขาย
นายพรเพชรกล่าวว่า ขอให้สมาชิกเข้าใจที่ต้องเข้มงวด เพราะต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด โดยเฉพาะระเบียบ การลาที่จะส่งผลต่อสมาชิกภาพ ส่วนปัญหาที่สมาชิกถามอยู่ตลอดว่าตนจะรับรองได้หรือไม่ว่าสนช.จะไม่ถูกฟ้อง ตอนนี้คงรับรองไม่ได้แต่สามารถชี้แจงได้ว่าทำอย่างไรจึงไม่ถูกฟ้อง หากมีการฟ้องร้องจะไปที่ 3 ศาล คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมจะเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว โดยเฉพาะมาตรา 157 ก็อย่าทำอะไรที่ให้เขาอ้างได้ว่าเราปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มีมาตราที่ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งแต่มีรัฐบาลและคสช. มีคนพยายามไม่น้อยที่จะใช้ช่องทางผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน
"วิษณุ"ชูดรีมทีมสนช.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บรรยายพิเศษเรื่อง ?บทบาทของสนช.กับการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน? ตอนหนึ่งว่า สมัยตั้งสนช.ใหม่ๆ มีความกังวลว่าการเอาปลา 4 น้ำ ได้แก่ 1.พวกท็อปบู๊ต 2.พวกที่มามือเปล่าคืออดีตสมาชิกรัฐสภา 3.นักกฎหมาย 4.ภาคเอกชน มาอยู่ด้วยกันจะไปได้หรือไม่ หากต้องทำงานภายใต้เวลาที่จำกัด แต่ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาพบว่าอยู่กันได้อย่างน่าอัศจรรย์ด้วยเหตุ 3-4 อย่างคือ 1.การวางกฎกติกาทำให้เกิดความมีวินัย 2.จิตสำนึกของแต่ละบุคคล 3.ระบบวิปสนช.และวิปรัฐบาล ที่ทำงานรวดเร็ว เท่าที่ดูประธานสนช.และรองประธานสภา 2 คน ทำงานคุมเกมได้ดี เป็นดรีมทีมของสภาได้ แต่ที่น่าห่วงคือจะทำอย่างไรให้กฎระเบียบความเคร่งครัดยังคงอยู่ เดินต่อได้อย่างยั่งยืน อยากให้สนช.ประคับประคองระเบียบเหล่านี้ไปให้ได้ 1 ปี ไม่ใช่แค่ 4 เดือน ให้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติ
นายวิษณุกล่าวว่า หัวใจของการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนมี 5 คำ คือ 1.พิมพ์เขียว 2.โรดแม็ป วันนี้อยู่ในโรดแม็ปช่วงสอง ที่เริ่มจากวันที่ 22 ก.ค. หลังมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวคาดว่าสิ้นสุดช่วง ก.พ.2559 ก่อนวันเช็งเม้ง แม้จะมีระยะเวลาทูลเกล้าทูลกระหม่อมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายในวันที่ 4 ก.ย.2558 แต่ไม่ใช่ว่าจะเลือกตั้งได้ทันที ยังต้องมีกระบวนเสนอกฎหมายลูกตามมาอีกกว่าจะเลือกตั้ง คาดว่าอยู่ในช่วงเดือน ก.พ.2559 3.แม่น้ำห้าสาย คือ คสช. ครม. สนช. สปช. และกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้คนไทยเดินตามแม่น้ำห้าสาย 4.ทำทันที ทำต่อไป ทำอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นคำพูดนายกฯ 5.ต้นทาง กลางทางและปลายทาง วันนี้ทุกคนลงเรือลำเดียวกันแล้ว เหมือนคำโบราณที่ว่าลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ ไม่เช่นนั้นจะถูกแป๊ะไล่ลงจากเรือ ก็ต้องตามใจแป๊ะคือเข้าใจในสิ่งที่เขาอยากให้เข้าใจ
จี้เร่งผ่านกม.นโยบายรบ.
นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลมีปฏิทินว่าในเดือน ธ.ค.จะนำกฎหมายสำคัญเข้าสนช.หลายฉบับเช่น กฎหมายภาษีมรดก คาดว่าจะอยู่ในสภา 3 เดือน และคาดจะบังคับใช้ได้เดือน มิ.ย.2558 กฎหมายว่าด้วยการให้ กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ กฎหมายมหาชน หากจะแก้ไขก็ขอให้เตรียมการแปรญัตติไว้ ขณะที่เดือน ม.ค.ปี 2558 จะมีการเสนอร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพื่อใช้ควบคุมฝูงชนในเวลามีเหตุการณ์ชุมนุม นอกจากนี้ยังมีแนวคิดว่าหลังจากนี้เมื่อส่งกฎหมายไปยังสภาแล้ว จะแจ้งว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับใดเป็นร่างพ.ร.บ.ตามนโยบาย แทนการระบุว่าเป็นเรื่องด่วน เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าหากเป็นร่างพ.ร.บ.ตามนโยบายก็ขอให้ช่วยพิจารณาเร่งหน่อย ถ้าไม่เขียนกำกับไว้ให้พิจารณาไปตามปกติ
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนเรื่องการทำประชามติ ภายหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้มีการทำประชามติได้ อาจต้องใส่เพิ่มไป 5-7 มาตรา ภารกิจนี้วันหนึ่งอาจจะมาถึงสนช.
นายวิษณุกล่าวว่า หน้าที่หลักๆ ของสนช.ที่ต้องทำมี 11 ประการคือ 1.การแก้กฎหมาย 2.การแก้รัฐธรรมนูญ 3.แต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่ง 4.ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5.การให้ความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้อนี้ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษขอให้เตรียมตัวทำการบ้านให้ดี
6.การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การตั้งกระทู้ถาม ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พร้อมมาตอบกระทู้ต่อสนช. 7.การรับฟัง รับทราบเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณา 8.การปฏิรูปประเทศ 9.การสร้างความปรองดอง วันนี้มีเสียงเข้าหูว่า สนช.ยังไม่ได้ลงไปทำงานกับชาวบ้าน เชื่อว่า เวลา 4 เดือนยังเร็วเกินไป แต่หลังจากนี้ สนช.คงมีโอกาสได้ไปรับฟังความเห็นประชาชน โดยหลายคนมีเครือข่าย สามารถต่อสายกับเครือข่ายตัวเองได้ 10.การทำความเข้าใจกับประชาชน 11.การช่วยสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ
ย้ำเลือกตั้ง ก.พ.59
นายวิษณุให้สัมภาษณ์กรณีนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ระบุอาจมีการเลือกตั้งกลางปี 59 ว่า เป็นการคาดการณ์มากเกินไป สอบถามนายสมหมายแล้ว ซึ่งให้ความเห็นนี้เพราะไม่รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเมื่อไร และคำนวณเรื่องการทำประชามติอีก 3 เดือน ส่วนตัวคาดว่าเลือกตั้งประมาณก.พ.2559 เพราะรัฐธรรมนูญเสร็จประมาณต้น ก.ย.2558 เมื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงจะโปรดเกล้าฯ ก.ย.หรือต.ค. จากนั้นก็ใช้เวลาร่างกฎหมายลูกประมาณ 3 เดือน คือ ธ.ค.2558 และเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ในส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศให้จัดตั้งพรรคการเมืองรวมทั้งให้หาเสียง โดยใช้เวลา 60-90 วัน ก็จะเกิดการเลือกตั้ง
นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อคิดในทางที่เป็นไปได้และเร็วที่สุดคือเดือน ก.พ.หรือมี.ค.2559 ยืนยันว่าการจัดเลือกตั้งไม่ถึงกลางปี 2559 แต่หากถามวันนี้ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร เพราะไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญเสร็จเมื่อไร ไม่รู้ว่าจะมีการทำประชามติหรือไม่ และไม่รู้ว่าจะปล่อยให้หาเสียงเท่าไร
เมื่อถามว่ามีการประเมินว่ารัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยืดเวลาเลือกตั้งออกไป นายวิษณุกล่าวว่า คสช.ไม่เคยประเมินแบบนั้น ไม่ทราบว่าจะยืดโดยวิธีอะไร ทั้งหมดฝากไว้ที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่าจะเขียนอย่างไร รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะเขียนไว้เสมอว่าต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในกี่วันหลังจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้
นิรโทษไม่สุดซอย-คนรับได้
ส่วนกรณีมีการร่างกฎหมายลูกพร้อมกับการร่างรัฐธรรมนูญนั้นเห็นว่าไม่สามารถร่างพร้อมกันได้ เพราะถ้าตราบใดรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ข้อยุติก็ต้องทิ้งไว้เป็นช่วงๆ หลายมาตราทำให้กระโดด เมื่อมีการนำมาเติมจะเกิดการถกเถียงมาก ซึ่งหากกฎหมายแม่ไม่เสร็จเด็ดขาด กฎหมายลูกก็ทำได้ยาก อีกทั้งคนร่างกฎหมายทั้งกฎหมายแม่และกฎหมายลูกเป็นคนละคน จะทำพร้อมกันไม่ได้ ส่วนการเสนอให้ใช้ระบบจัดเลือกตั้งแบบประเทศเยอรมันนั้นประเทศไทยเคยใช้ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันแล้วคือระบบปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งการเลือกตั้งแบบเยอรมันเป็นเรื่องยาก อะไรที่ยุ่งยากมีความซับซ้อนเมื่อเอามาใช้ในไทยก็จะเจ๊ง ส่วนการเลือกตั้งแบบไหนที่คนไทยจะเข้าใจง่ายนั้นก็ยังไม่รู้
นายวิษณุกล่าวถึงกรณีคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 10 ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานเตรียมเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดองว่า ตนไม่ได้สนใจเพราะเป็นเพียงคณะอนุกมธ. และยังมีคณะกมธ.ที่ต้องพิจารณา อยากให้คณะอนุกมธ.และกมธ.เสนอความเห็นที่เป็นรูปธรรมกว่านี้ ที่เสนอออกมายังไม่เป็นรูปธรรม และเรื่องนี้มีเพียงนายเอนก เท่านั้นที่โยนหินถามทาง จึงต้องถามความคิดเห็นของกมธ.และคณะอนุกมธ.ทั้งหมดว่านิรโทษกรรมให้กับใคร
นายวิษณุกล่าวว่า เท่าที่ได้ฟังมาเป็นการนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุมที่ก่อความไม่เรียบร้อย ไม่เกี่ยวข้องกับพวกที่ทุจริต หากเหลือแค่นั้นจริงสังคมก็อาจจะรับได้เพราะไม่ใช่สุดซอย และอยู่ในหมวดของคำว่าปรองดองอย่างหนึ่งที่จะสร้างความปรองดองในสังคม แต่หากเมื่อไรไปถึงสุดซอยก็เห็นแล้วว่าเคยมีการรับไม่ได้
เมื่อถามว่าหากออกนิรโทษกรรมลักษณะนี้จะปรองดองได้จริงหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คงจะปรองดองได้บ้างแต่ไม่ได้ทั้งหมด เพราะพวกที่ไม่ได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้คงรู้สึกว่าตัวเองถูกตัดออกไปจากเรื่องปรองดอง คงต้องรอฟังคณะอนุกมธ.เสนอความเห็นให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้
สนช.โอ่เกรดเอ-ไม่ใช่ตรายาง
เวลา 13.30 น. นายพรเพชร พร้อมนาย สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 และนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ร่วมกันแถลงถึงการทำงานของสนช.ที่ผ่านมา
นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนตัวประเมินว่าการทำงานของสนช.ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาได้เกรดเอ เนื่องจากมีการพิจารณาและผ่านกฎหมายเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่ค้างมาจากสภาชุดก่อน และสนช.สนับสนุนให้ดำเนินการต่อ นอกจากนี้ การทำงานของสนช.ยังได้รับการยอมรับจากรัฐสภาโลก อีกทั้งยังมีการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศในกลุ่มอาเซียน จนต่างประเทศให้การยอมรับ
เมื่อถามว่า 4 เดือนที่ผ่านมาสนช.ผ่านกฎหมายมาแล้ว 30 ฉบับถือกว่ารวดเร็วมากจนถูกมองว่าสนช.เป็นตรายางของคสช.ในการออกกฎหมายหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ขณะนี้สนช.ผ่านกฎหมายวาระ 3 ไปแล้วประมาณ 30 ฉบับ แต่เป็นกฎหมายที่มีรายละเอียดสั้นๆ และยังไม่ใช่กฎหมายที่เป็นนโยบายของคสช. จึงไม่ใช่ตรายาง เป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สนช.เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำ 5 สายที่ต้องร่วมมือกันทำงานกับคสช. แต่ความร่วมมือกันไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นตรายาง ซึ่งกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบมีการแก้ไข ไม่เหมือนร่างเดิม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน
เตรียมศึกษา"นิรโทษ"ล่วงหน้า
นายพรเพชรกล่าวถึงแนวทางการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดอง ว่า การออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต้องเริ่มต้นจากรัฐบาลเป็นคนเสนอกฎหมาย ส่งมาให้สนช.พิจารณา ตนเชื่อว่าสนช.คงต้องเตรียมศึกษาเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้า
นายสุรชัยกล่าวว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นกฎหมายเชิงนโยบายขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร หากตัดสินใจให้มีกฎหมายฉบับนี้จะต้องพิจารณาใน 2 ประเด็นคือ 1.จะนิรโทษกรรมในห้วงเวลาใด และ 2.จะนิรโทษกรรมจากฐานความผิดใด แต่ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องการนิรโทษกรรมมีประโยชน์ เพราะเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างความปรองดอง แต่ต้องพิจารณาใน 2 แนวทางดังกล่าวให้ดี เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
รับศพพ่อ - คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นำศพนายสมพล เกยุราพันธุ์ บิดาที่ เสียชีวิตด้วยภาวะเส้นโลหิตในสมองแตก ขณะพักผ่อนร่วมกับครอบครัวที่โอซากา ประเทศญี่ปุ่น เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พ.ย. |
นายสุรชัยกล่าวด้วยว่า ตนได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นกมธ.สามัญรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในการเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นของสมาชิกสนช.และกมธ.สามัญ 16 คณะ จะรวบรวมความเห็นให้เสร็จภายในวันที่ 15 ธ.ค. เพื่อส่งให้ประธานสนช.ส่งรายงานต่อไปยังสปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้ทันวันที่ 19 ธ.ค. ส่วนตัวอยากให้กมธ.ทุกคณะส่งความเห็นมาให้ไม่เกินวันที่ 4 ธ.ค.เพื่อให้ประธานบรรจุวาระเข้าการประชุมไม่เกินวันที่ 15 ธ.ค.
กมธ.เปิดปฏิทินร่างรธน.
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ว่า สัปดาห์หน้ากมธ.ยกร่างฯ จะนัดประชุมพิจารณาผลการดำเนินงานของคณะอนุกมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 คณะ โดยวันที่ 1 ธ.ค. คณะอนุกมธ.ทุกคณะจะส่งกรอบแนวทางเบื้องต้นมายังกมธ.ชุดใหญ่ จากนั้นระหว่างวันที่ 2-14 ธ.ค. กมธ.จะทยอยประชุมเพื่อพิจารณาเนื้อหาของแต่ละคณะอนุกมธ. และวันที่ 15-17 ธ.ค. กมธ.ยกร่างฯ จะเข้ารับฟังความเห็นของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขณะที่สมาชิกจะต้องส่งความเห็นภายในวันที่ 19 ธ.ค. จากนั้น วันที่ 26-28 ธ.ค. กมธ.ยกร่างฯ จะกำหนดทิศทางเพื่อเริ่มต้นยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยวันที่ 5 ม.ค. 2558 จะเริ่มต้นยกร่างเป็นรายมาตรา ซึ่งจะต้องยกร่างให้เสร็จภายใน 120 วันคือวันที่ 17 เม.ย. 2558
อนุชงตั้งสภาตรวจสอบภาคปชช.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. ในฐานะประธานกมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เผยว่า ประเด็นการตรวจสอบการใช้อำนาจ คณะอนุกมธ.มีแนวคิดจะเสนอให้มีการตั้ง ?สภาตรวจสอบภาคประชาชน? ทั้ง 77 จังหวัด เพื่อให้อำนาจประชาชนโดยตรงในการตรวจสอบเรื่องทุจริต การคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจรัฐโดย มิชอบ การใช้เงินไม่เป็นธรรมทั้งงบประมาณในระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น การตรวจสอบของสภาภาคประชาชนจะไม่ไปซ้ำซ้อน กับป.ป.ท. เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐ ส่วนป.ป.ช.ก็ทำหน้าที่ในส่วนกลาง และที่ผ่านมาการพิจารณาคดีล่าช้า เพราะต้องส่งเรื่องมาให้ส่วนกลางพิจารณา
นายไพบูลย์กล่าวว่า โครงสร้างของสภาตรวจสอบภาคประชาชนในแต่ละจังหวัดนั้น จะมีกกต.จังหวัดทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการ มีหน้าที่ทำงานตามมติสภาตรวจสอบภาคประชาชน ในสภาตรวจสอบฯ จะมี 50 คนขึ้นไปถึง 100 คน โดยเฉพาะในกทม.อาจมี 100 คน เพราะเป็นจังหวัดใหญ่ ส่วนที่มาของสมาชิกสภาตรวจสอบฯ จะมาจาก 2 ส่วนคือ 1.ประชาชนคัดเลือก 2.องค์กรภาคประชาชนเสนอชื่อ แล้วมาคัดเลือกโดยวิธีการสุ่ม 1 ใน 3 มีกกต.จังหวัดคอยดูวิธีการคัดเลือกที่คล้ายกับการจับสลาก ผลัดเปลี่ยนการทำหน้าที่ทุก 1 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้มีการบล็อกตัวบุคคล ขณะที่เงินเดือนจะไม่มีมีเพียงเบี้ยประชุม
นายไพบูลย์กล่าวว่า เชื่อว่าถ้ามีสภาตรวจสอบภาคประชาชน ทั้ง 77 จังหวัดแล้ว จะทำให้การตรวจสอบดีขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น และถือเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญของไทยที่มีรูปแบบอย่างนี้ จะคล้ายๆ กับต่างประเทศที่ทำแบบระบบลูกขุน โดยอนุกมธ.จะนำแนวคิดนี้เสนอต่อกมธ.ยกร่างฯ ชุดใหญ่ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน วันที่ 1 ธ.ค.นี้
สหภาพยุโรปโชว์พบ"ดาวดิน"
วันเดียวกัน เฟซบุ๊กของสหภาพยุโรป European Union in Thailand เผยแพร่ภาพ น.ส.แซนดรา เดอ วาล (Sandra De Waele) หัวหน้าฝ่ายการเมืองของสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ระหว่างเปิดให้นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และนายวิชชากร อนุชน นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาชิกกลุ่มดาวดิน ที่ร่วมกิจกรรมชูสามนิ้วและโชว์เสื้อยืดข้อความไม่เอารัฐประหารต่อหน้าพล.อ. ประยุทธ์ ระหว่างลงพื้นที่จ.ขอนแก่น เข้าพบเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา
เฟซบุ๊กยังระบุข้อความ หัวหน้าฝ่ายการเมืองฯ ได้พบกับนายจตุภัทร์และนายวิชชากร สมาชิกกลุ่มดาวดินที่ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมาจากการที่ได้แสดงออกทางความคิดอย่างสันติในการที่ไม่เห็นด้วยกับทางรัฐบาล ทั้งนี้ สหภาพยุโรปมีความมุ่งมั่นอย่างหนักแน่นในหลักการของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและขอเรียกร้องให้ทางการไทยเคารพในสิทธิและเสรีภาพนี้
นายกฯแจงผลถกลาว-เวียดนาม
เวลา 08.05 น. สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ช่อง 11 โมเดิร์นไนน์ ทีวี ออกอากาศเทปคำสัมภาษณ์พล.อ.ประยุทธ์ ในโอกาสเยือนลาวและเวียดนามเมื่อวันที่ 26-28 พ.ย.ที่ผ่านมา นายกฯ สรุปผลการเยือนลาวอย่างเป็นทางการ ว่า ได้หารือกับนายกฯลาวหลายประเด็นที่สำคัญ ส่วนใหญ่เป็นความเชื่อมโยงเรื่องเส้นทางคมนาคม การสร้างสะพาน การค้าการลงทุน ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และผลักดันเรื่องที่พูดคุยในการประชุมเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) การประชุมเอเปก โดยเฉพาะความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ด่านศุลกากร การสร้างถนนที่เราได้สนับสนุนเงินให้เปล่ากับลาวและการสร้างสะพานไทย-ลาวแห่งที่ 5 ที่เราออกแบบไว้ และวางแผนไว้จะสร้างถึงแห่งที่ 6 รวมถึงการสร้างถนนตามแนวชายแดนในลาวตอนเหนือ สิ่งเหล่านี้จะนำไปคุยในประเทศกลุ่มแม่น้ำโขง (จีเอ็มเอส) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในเดือนธ.ค.นี้อีกครั้ง ไทยเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่จ.มุกดาหาร และเตรียมเปิดเพิ่มที่จ.หนองคาย รองรับปริมาณการค้าขาย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ ไทยดำเนินการจากกรุงเทพฯไป จ.หนองคาย ขณะที่ลาวเตรียมสร้างภายใต้การสนับสนุนของจีนมาเชื่อมต่อกันโดยจะเริ่มในปี 2558 และจะร่วมมือเรื่องวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวให้จัดเป็นแพ็กเกจในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ไทย-ลาว 40 ปี
เร่งพัฒนาระบบไอที
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ความร่วมมือกับเวียดนามได้พูดถึงการเดินทางโดยรถบัสเชื่อมโยงจากไทยไปฮานอยได้ และเชื่อมเส้นทางถนนระหว่างไทย ลาวและเวียดนามให้ได้ ตนให้ความสำคัญกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งจะมีบทบาทที่สำคัญในอนาคต ที่ต้องสอดคล้องกับเรื่องดิจิตอลอีโคโนมีที่เรากำลังจะทำ เพราะต้องใช้ระบบไอทีเข้ามาในการเรียนรู้ การศึกษา การค้าขาย ดังนั้นไม่เฉพาะการพัฒนาฮาร์ดแวร์เท่านั้นแต่ต้องพัฒนาเรื่องซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ด้วยเพื่อใช้ประโยชน์ในการค้าขาย การลงทุน ต้องเร็ว โดยใช้เทคโนโลยี (ไอที)มาช่วยขึ้นทะเบียน ตรวจสอบการผ่านแดน การเฝ้าระวัง ทุกอย่างต้องใช้ไอที เพื่อลดขั้นตอน เรื่องใดที่ทำได้ทันทีจะเร่งดำเนินการ ขณะที่กระทรวงต่างประเทศต้องเร่งเรื่องวีซ่า สมาร์ทการ์ด เพื่อรองรับการเดินทางติดต่อธุรกิจ เหล่านี้มีเวลาเตรียมการเพียงปีเดียว เนื่องจากในปี 2558 เราจะเปิดประเทศหากระบบไอทีและการตรวจสอบคนเดินทางเข้าออก ระบบเฝ้าระวังเรายังไม่พร้อมจะเกิดปัญหาได้
"ปู"โพสต์อาลัยพ่อ"เจ๊หน่อย"
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความเสียใจถึงการ เสียชีวิตของนายสมพล เกยุราพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย บิดาของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองตีบ ระบุ ได้รับทราบข่าวการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของท่านสมพล นายสมพลเป็นอดีตส.ส.พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย อยู่แวดวงการเมืองมาตั้งแต่ปี 2512 ด้วยการได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.ของนครราชสีมา สมัยเดียวกับพ่อของตน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้รับรู้ว่าเป็นผู้ใหญ่ที่ใจดีมีความเมตตาสูง เป็นคุณพ่อที่รักดูแลและห่วงใยลูก ขยันทำงานมีความรับผิดชอบในหน้าที่ เดินทางมาร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประชุมกรรมาธิการและประชุมพรรคอย่างต่อเนื่อง แทบไม่เคยขาด ในโอกาสนี้ขอร่วมไว้อาลัยและแสดงความเสียใจกับคุณหญิงสุดารัตน์และครอบครัวเกยุราพันธุ์ และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์โปรดนำดวงวิญญาณของนายสมพล ไปสู่สุคติ
บิ๊กตู่นำรมต.-ฝ่ายมั่นคงบินมาเลย์
วันที่ 29 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในการเยือนมาเลเซียว่า วันที่ 1 ธ.ค. เวลา 07.00 น. จะนำรัฐมนตรีและผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัด กลาโหม พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานที่ปรึกษากองทัพบก นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เลขาธิการ กอ.รมน และพล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางจาก บน.6 โดยเครื่องบินพิเศษของกองทัพอากาศ ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์
การเดินทางเยือนครั้งนี้เพื่อแนะนำตัวตามธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำอาเซียน พร้อมติดตามความก้าวหน้าและกระชับความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับมาเลเซียในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาความเชื่อมโยง การพัฒนาพื้นที่ชายแดน รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกรอบทวิภาคีและภูมิภาค
เมื่อเดินทางถึงนายกฯ ร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ณ ลานบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลมาเลเซีย เวลา 11.15 น.หารือกลุ่มเล็กกับดาโต๊ะ ซรี นาจิบ ราซัก นายกฯ มาเลเซีย ที่ห้อง Prime Minister"s Office และหารือเต็มคณะที่ห้อง Perdana Meeting Room ชั้น 3 ช่วงบ่ายนายกฯ และคณะร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่ Seri Perdana (Prime Minister"s Official Residence) และมีกำหนดการพบและหารือกับทีมไทยแลนด์ ผู้แทนภาคธุรกิจและชุมชนชาวไทยในมาเลเซีย ที่โรงแรมแมริออท ปุตราจายา ก่อนออกจากสนามบินกรุงกัวลาลัมเปอร์ ถึง บน.6 เวลา 18.30 น. วันเดียวกัน
นายกฯปธ.แต่งลูกสาวเจ้าสัวธนินท์
เวลา 19.00 น. วันที่ 29 พ.ย. ที่ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พร้อมนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา เป็นประธานในพิธีฉลองมงคลสมรส ระหว่าง น.ส.ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทดีที บุตรสาวคนเล็กของนายธนินท์-คุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ และ ดร.ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด
โดยมีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีพร้อมภริยา บุคคลสำคัญในแวดวงต่างๆ คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ เข้าร่วมคับคั่ง อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การ ท่องเที่ยวและกีฬา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ.
ร่วมด้วยอดีตนายกฯ อาทิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายชวน หลีกภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภา ยังมีนาย มีชัย ฤชุพันธุ์ กรรมการคสช. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. รวมทั้งเอกอัครราชทูตอังกฤษ
ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกระจายดูความเรียบร้อยรอบบริเวณงาน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด(อีโอดี) กระจายกำลังรอบสถานที่จัดงาน เนื่องจากมีบุคคลสำคัญและแขกผู้มีเกียรติทั้งไทยและ ต่างประเทศมาร่วมงานหลายพันคน ทั้งนี้ มีการจัดมุมพิเศษไว้ให้สื่อมวลชนบันทึกภาพบริเวณด้านหน้างานโดยเฉพาะ